สบพ.เตรียมปรับโครงสร้างองค์กร เล็งเปลี่ยนเป็นบริษัท จำกัด เพื่อความคล่องตัวในการพัฒนาศูนย์ฝึกบินรองรับความต้องการในอนาคต พร้อมเร่งประมูลสร้างอาคารใหม่ 18 ชั้นกว่า 1.8 พันล้าน อัปเกรดอุปกรณ์การเรียน เพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 2 เท่า และจ่อชงของบปี 61 อีก 900 ล้านยกเครื่องศูนย์ฝึกบินหัวหิน
พลเรือตรี ปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สบพ.อยู่ระหว่างเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารใหม่ 18 ชั้น ในโครงการก่อสร้างอาคารเรียน ศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน อาคารฝ่ายอำนวยการ โดย สบพ.ได้รับอนุมัติงบประมาณก่อสร้างจำนวน 1,255 ล้านบาท และส่วนหนึ่ง สบพ.จะลงทุนเอง จะเริ่มก่อสร้างช่วงปลายปี 2560 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี โดยในระหว่างนี้ สบพ.จะมีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัว และเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานให้มีความเป็นเอกชนมากขึ้น เช่น การกำหนดอัตราจ้างครูที่สูงขึ้นได้ เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการศึกษารายละเอียด ซึ่งอาจจะปรับจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไปเป็น บริษัท จำกัด เป็นต้น
สำหรับการก่อสร้างอาคารใหม่นั้นจะมีความทันสมัย มีเครื่องมือการเรียนการสอนที่ทันสมัย ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตนักเรียนการบินในทุกสาขาขึ้นอีก 2 เท่าตัว จากปัจจุบันผลิตได้ประมาณ 3,000 คน/ปี โดยประกอบด้วย 1. การก่อสร้างและพัฒนาระบบสาธารณูปโภค อาคารใหม่ 18 ชั้น 2. ปรับปรุงอาคารและงานรื้อย้ายเพื่อสร้างอาคารใหม่ 3. การดำเนินการโครงการออกแบบและควบคุมงาน การลงทุนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เทคโนโลยีการสอน รวมประมาณทั้งสิ้น 1,815 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ระยะที่ 1 ในปี 2559-2563 เป็นการก่อสร้างอาคาร โดยใช้งบประมาณ 1,255.48 ล้านบาท และระยะที่ 2 ในปี 2564- 2566 เป็นการจัดหาเรื่องอุปกรณ์การเรียน โดยใช้งบประมาณ 560 ล้านบาท
พลเรือตรี ปิยะกล่าวว่า หลังไทยสามารถปลดธงแดง องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้แล้วคาดว่าความต้องการนักบินจะเพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งการผลิตนักบินนั้นไม่สามารถผลิตออกมารอความต้องการได้ หรือจบแล้วมารองานคงไม่ได้ ต้องมีความต้องการที่ชัดเจนก่อนที่จะผลิตออกมา ซึ่ง สบพ.ได้มีการวางแผนขยายกำลังการผลิตนักบินเพิ่มจาก 80 คน/ปี เป็น 150 คน/ปี โดยประเมินจากความต้องการของสายการบินด้วย ปัจจุบันยังขาดแคลนนักบินที่มีประสบการณ์ ขณะที่นักบินจบใหม่นั้นยังมีจำนวนเพียงพอ
นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอแผนการปรับปรุงศูนย์ฝึกการบินที่หัวหิน วงเงินลงทุนประมาณ 900 ล้านบาท จะเป็นการก่อสร้างอาคารพักให้ศิษย์การบิน ขยายศูนย์ซ่อมอากาศยาน ขยายศูนย์ฝึกการบินให้รองรับนักเรียนได้ในปริมาณ ICAO กำหนด โดยจะเสนอขอรับงบประมาณในปี 2561 และจะขยายศูนย์ฝึกการบินแห่งที่ 2 ซึ่งเดิมจะขยายที่จังหวัดขอนแก่น แต่เนื่องจากสนามบินขอนแก่นจะพัฒนาเป็นสนามบินนานาชาติ ภายใน 5 ปีเพื่อเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ซึ่งไม่เหมาะสมหากจะมีโรงเรียนการบินอยู่รวม เนื่องจากจะกระทบการจราจรทางอากาศของเที่ยวบินพาณิชย์ ดังนั้นจะพิจารณาสนามบินร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ หรือตาก ทดแทน โดยกระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาแล้ว