“การบินไทย” สรุปแผน PPP ตั้งโฮลดิ้งร่วมทุนแอร์บัส พัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO) อู่ตะเภาปลายปีนี้ ตั้งเป้าเปิดให้บริการปี 64 ดันขึ้นอันดับ 1 ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน Generation ของโลก โกยรายได้ 1,200 ล้าน/ปี และคาดจะเติบโตต่อเนื่อง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือสำหรับการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางด้านการบินและอวกาศระหว่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) และพิธีประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถในการบินและมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนักบินของ สบพ.จำนวน 6 รุ่น 169 คน ว่า สบพ.อบรมนักบิน ทั้งในส่วนที่สายการบินต่างๆ, หน่วยราชการ, ผู้ใช้ทุนเรียนส่วนตัว โดย สบพ.ได้รับรองมาตรฐานจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ส่วนเอ็มโอยูระหว่างการบินไทย และ สบพ.นั้นเป็นการดำเนินการเพื่อผลิตบุคลากรด้านการบินออกมารองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของไทย
นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย กล่าวว่า โครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO Complex Development) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งการบินไทยจะร่วมลงทุนกับ บริษัท แอร์บัส นั้น จะศึกษารายละเอียดแผนงานการลงทุนแล้วเสร็จภายในปลายปี 2560 พร้อมกันนี้จะเปิดกว้างให้หลายๆ บริษัทสามารถเข้ามาร่วมได้ โดยอยู่ระหว่างพิจารณาสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม โดยจะเสนอเข้าสู่ขั้นตอนการร่วมลงทุน (PPP) ปลายปีนี้ โดยประเมินว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2564 ซึ่งแผนธุรกิจจะสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนเครื่องบินที่ทุกสายการบินจะมีการจัดหาเพิ่ม โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่ต้องการศูนย์ซ่อมที่มีศักยภาพสูงขึ้น
สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรนั้น การบินไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ ครอบคลุมฝ่ายช่าง นักบินทั้งหมด
ส่วนบริษัท โบอิ้ง นั้น การบินไทยมีโครงการที่จะทำ MOU ในเรื่องการฝึกอบรมด้านทรัพยากรบุคคล เพื่อรองรับการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกด้านอีกด้วย
เรืออากาศโท รณชัย วงศ์ชะอุ่ม ผู้อำนวยการฝ่ายซ่อมใหญ่ เครื่องยนต์อากาศยาน THAI กล่าวว่า ปัจจุบันการบินไทยมีรายได้จากการซ่อมบำรุงลูกค้าภายนอกประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท/ปี โดยคาดว่าเมื่อจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO) จะสามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจนี้ประมาณ 1,200 ล้านบาท/ปี และในปีต่อๆ ไปรายได้จะโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาในเฟสแรกจะใช้พื้นที่ประมาณ 250 ไร่ วงเงินลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะมุ่งเน้นการซ่อมบำรุงเครื่องบิน Generation เช่น แอร์บัส A380 เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันศักยภาพในการซ่อมบำรุงใหญ่เครื่องบินรุ่นใหม่ๆ เช่น 380 จะอยู่ที่บริษัทแอร์บัสแห่งเดียวในโลก ดังนั้น เป้าหมายของ TG MRO อู่ตะเภาจะเป็นศูนย์ซ่อมที่เป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านการทำรายได้ โดยจะนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาให้บริการซ่อมบำรุงเพื่อเพิ่มศักยภาพ ขีดความสามารถ และความรวดเร็วในการซ่อม ประเมินว่าจะรองรับการซ่อมบำรุงได้ 50-60 ลำ/ปี ซึ่งเครื่องบิน Generation จะเข้าสู่วงรอบการซ่อมบำรุงใหญ่ในอีก 5-6 ปีข้างหน้าพอดี ซึ่งการบินไทยคาดว่าจะได้ส่วนแบ่งการตลาดการซ่อมเครื่องบินขนาดใหญ่ลำตัวกว้างที่เป็น Generation ทั้งหมด เพราะประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยังไม่มีศูนย์ MRO รองรับ
สำหรับแผนการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภานั้น การบินไทยจะร่วมทุนกับแอร์บัสจัดตั้งโฮลดิ้ง โดยจะเสนอขอเปิด PPP แบบเฉพาะเจาะจง เนื่องจากในโลกนี้มี แอร์บัสกับโบอิ้ง 2 ราย แต่ที่ผ่านมาโบอิ้งได้ตอบปฏิเสธที่จะร่วมทุน โดยบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะต้องไม่มีความเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการบินไทยจะถือหุ้นไม่เกิน 51% ซึ่งกำลังศึกษารายละเอียดสัดส่วนที่เหมาะสมและดำเนินการได้ตามระเบียบ โดยประเมินค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แฮงก้า เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัยไว้กว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งเฟสแรกแฮงก้าจะมี 3 ช่องจอด รองรับเครื่องบินแอร์บัส 380 ได้พร้อมกัน 3 ลำ