xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง ย้ำห้ามขายข้าวเสื่อม ทำรัฐเสียหายกว่า 1.1 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางที่สั่งระงับขายข้าวเสื่อมแล้ว ยันการประมูลทำถูกต้องตามขั้นตอน ส่วนการตัดสิทธิ “ที พี เค เอทานอล” ก็เป็นไปตามเงื่อนไขการประมูล พร้อมย้ำการให้ข้อมูลว่าได้รับความเสียหายร้ายแรงไม่เป็นความจริง เหตุแค่การคาดเดา แต่การสั่งระงับทำให้รัฐเสียหายมากกว่า เหตุต้องจ่ายค่าโกดังเดือนละ 136 ล้าน และไม่ได้เงินขายข้าว 1.1 หมื่นล้าน ระบุยังทำให้เป้าระบายข้าว คสช.คลาดเคลื่อน และกระทบตลาดข้าว

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้ากรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับการประกวดราคาและการทำสัญญากับผู้ชนะการประมูลข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่คนบริโภค หลังจากที่บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ได้ยื่นฟ้องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมากรมฯ ได้ทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองแล้ว โดยได้ยืนยันว่าการออกคำสั่งให้บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้เสนอซื้อเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะการประมูลมีการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขไว้ชัดเจน และการประมูลก็ทำถูกต้องตามกฎระเบียบ โดยเปิดประมูลมาแล้ว 27 ครั้ง รวมครั้งที่ 26 ที่บริษัทนี้ได้เข้าร่วมเสนอซื้อด้วย ก็ไม่เคยมีปัญหาข้อร้องเรียนหรือโต้แย้งใดๆ ส่วนกรณีที่บริษัทยื่นฟ้องต่อศาลก่อนที่กระบวนการอุทธรณ์ทางปกครองจะเสร็จสิ้น ยังถือเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายด้วย

สำหรับกรณีที่บริษัทระบุว่าการไม่ได้ซื้อข้าวรัฐทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงยากแก่การเยียวยานั้น เป็นเพียงการคาดการณ์ของบริษัทที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะบริษัทสามารถหาวัตถุดิบอื่นมาผลิตเอทานอลได้ และหากเกิดความเสียหายก็เป็นเพียงการคาดการณ์ของบริษัท ซึ่งอาจจะมาก น้อย หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ถ้ามีความเสียหาย ก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายต่อรัฐเพื่อขอรับการเยียวยาได้

ทั้งนี้ ในทางกลับกัน การที่ศาลปกครองกลางระงับการทำสัญญาซื้อขายข้าวกลุ่ม 2 กับผู้ชนะประมูล 16 ราย ปริมาณกว่า 2.07 ล้านตัน และระงับการประมูลขายข้าวกลุ่ม 3 รอบ 2 กว่า 5.3 แสนตัน จะทำให้เกิดผลกระทบมากกว่า โดยรัฐต้องเสียค่าเก็บรักษาเดือนละ 163 ล้านบาท และเสียรายได้ที่ได้จากการขาย 11,376 ล้านบาท และกระทบต่อเป้าหมายการระบายข้าวให้เสร็จภายใน 3 ปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยังกระทบต่อสิทธิของผู้ชนะประมูล กระทบต่อตลาดข้าว ที่ไม่สามารถคำนวณความเสียหายเป็นตัวเงินได้

ส่วนในประเด็นที่ศาลปกครองเห็นว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องระบายข้าวเสื่อมสภาพเหมือนข้าวคุณภาพดี กรมฯ ได้ยืนยันว่าข้าวเสื่อมก็เป็นข้าวส่วนเกินที่กดทับตลาด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ มีภาระค่าใช้จ่าย และกระทบต่อตลาดข้าว เพราะทำให้เกิดความกังวลต่อตลาดว่ารัฐมีข้าวเสื่อม และไม่รู้ว่าจะระบายออกมาเมื่อใด ทั้งๆ ที่ความกังวลนี้ได้หมดไปก่อนหน้านี้แล้ว ตอนนี้ได้กลับมามีความกังวลเกิดขึ้นอีก

“กรมฯ หวังว่าการยื่นอุทธรณ์จะทำให้ศาลเห็นถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และถ้ามีคำสั่งเปลี่ยนแปลงก็จะหยุดความเสียหายได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีผลกระทบยาวตามที่ได้บอกไว้ ทั้งผลกระทบต่อรัฐที่ต้องรับภาระค่าเก็บรักษาและรายได้ที่จะเข้ามา ผลกระทบต่อนโยบายของ คสช. และรัฐบาลที่การระบายข้าวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และกระทบต่อตลาดข้าวที่จะมีความกังวลขึ้นมาทันที และกระทบต่อข้าวฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาด” นางดวงพรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น