xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.ฟุ้งปลดล็อกค่าเช่าที่ราชพัสดุปี 61 ลุยเปิด PPP ที่ดินแปลงใหญ่สุวรรณภูมิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกด (มหาชน) หรือทอท.
“ทอท.” นัดธนารักษ์เคาะตัวเลขค่าเช่าที่ราชพัสดุสัปดาห์หน้า ก่อนลุยพัฒนาที่ดินสุวรรณภูมิเชิงพาณิชย์ แปลง 37 และที่ดิน 723 ไร่ คาดเปิด PPP เพิ่มสัดส่วนรายได้ Non-Aero จาก 47% เป็น 50% ในปี 63 ส่วนปีนี้คาดผู้โดยสารโต 7-8% ตามเป้า พร้อมเร่งปรับทีโออาร์ เปิดประมูลระบบ APM รอบที่ 3 เร็วๆ นี้ด้วยวิธีพิเศษ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะประชุมร่วมกับกรมธนารักษ์เพื่อสรุปตัวเลขอัตราค่าเช่าใช้พื้นที่ราชพัสดุในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งหลักการจะปรับจากการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ 5% เปลี่ยนมาใช้รูปแบบผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ที่อัตรา 3% โดยจะเก็บเฉพาะการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์เท่านั้น โดย ทอท.จะเสนอตัวเลขหากธนารักษ์เห็นด้วยจะนำไปสู่การแก้ไขข้อตกลงการใช้ที่ราชพัสดุต่อไป ซึ่งจะเริ่มแผนการพัฒนาได้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561

ปัจจุบัน ทอท.อยู่ระหว่างศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าสนามบินสุวรรณภูมิ ที่แปลง 37 ขนาด 990 ไร่ เป็นที่ราชพัสดุ มีเงื่อนไขในการพัฒนาที่จำกัดเพราะเหลือระยะเวลาอีก 15 ปี หรือครบกำหนดเช่าในปี 2575 ดังนั้น รูปแบบจะพัฒนาโดยแบ่งเป็นโครงการขนาดเล็กเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการประมูล ส่วนที่ดินจำนวน 723 ไร่ โดย ทอท.ซื้อมาจากประชาชนในช่วงก่อสร้างสุวรรณภูมิ มีระยะเวลาพัฒนาไม่จำกัด อาจจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ใช้รูปแบบร่วมทุน PPP 

“ในปี 61 ทอท.จะพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่หลายแห่งซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยจะทยอยประมูลรวมถึงการหาผู้ประกอบการร้านค้าดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ หลังสัญญาคิงเพาเวอร์สิ้นสุดในปี 2563 โดยจะเริ่มประมูลให้ได้ตัวรายใหม่ในปี 2561 เพื่อให้มีเวลาในการหาลูกค้าและปรับปรุงพื้นที่ นอกจากนี้ ที่ดอนเมืองจะพัฒนาให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น โครงการ Airport City ประกอบด้วย โรงแรม ศูนย์การค้า การจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อให้บริการลานจอดและอุปกรณ์บริการภาคพื้น การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ Zoning จากการขยายขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานภูมิภาค สร้างโอกาสทางธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการบิน คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน (Aeronautical Revenues) 53% และรายได้ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non-Aeronautical Revenues) ที่ 47% ในปัจจุบันเป็น 50:50 ภายในปี 2563” นายนิตินัยกล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 8 เดือน ปีงบประมาณ 2560 (เดือน ต.ค. 2559-พ.ค. 2560) สนามบิน 6 แห่งมีผู้โดยสารรวม 86.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.17% โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 48.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.56% และผู้โดยสารภายในประเทศ 38.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.61% โดยผู้โดยสารที่มาใช้บริการมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย และอินเดีย คาดว่าทั้งปีผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7-8% 

ส่วนเที่ยวบินจำนวน 551,405 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 6.21% โดยแบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 274,796 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 2.07% และเที่ยวบินภายในประเทศ 276,609 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 10.68% และการขนถ่ายสินค้า และไปรษณียภัณฑ์จำนวน 1,040,881 ตัน เพิ่มขึ้น 12.19% ซึ่งปริมาณการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ของสนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และกลุ่มประเทศอาเซียนในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CLMV) และการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก รวมถึงการนำเข้าที่ขยายตัวได้เร็วขึ้น

ส่วนสนามบินสุวรรณภูมิมีเที่ยวบินทั้งสิ้น 229,722 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 2.87% มีผู้โดยสาร 39,674,846 คน เพิ่มขึ้น 4.89% และการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์จำนวน 936,877 ตัน เพิ่มขึ้น 12.75% สนามบินดอนเมืองมีเที่ยวบินทั้งสิ้น 169,943 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 6.29% มีผู้โดยสาร 24,820,694 คน เพิ่มขึ้น 7.36% และการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ จำนวน 47,032 ตัน เพิ่มขึ้น 13.08%

สนามบินภูเก็ต มีเที่ยวบินทั้งสิ้น 70,484 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 10.16% มีผู้โดยสาร 11,047,235 คน เพิ่มขึ้น 9.95% และการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์จำนวน 32,723 ตัน เพิ่มขึ้น 8.97% สนามบินเชียงใหม่ มีเที่ยวบินทั้งสิ้น 49,283 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.82% มีผู้โดยสาร 6,806,969 คน เพิ่มขึ้น 9.53% และการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์จำนวน 12,693 ตัน ลดลง 2.21%

สนามบินหาดใหญ่ มีเที่ยวบินทั้งสิ้น 20,402 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 18.08% ผู้โดยสาร 2,941,947 คน เพิ่มขึ้น 15.05% และการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์จำนวน 8,031 ตัน ลดลง 2.94% สนามบินเชียงรายมีเที่ยวบินทั้งสิ้น 11,571 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 18.10% มีผู้โดยสาร 1,650,440 คน เพิ่มขึ้น 21.19% และการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์จำนวน 3,525 ตัน ลดลง 11.16%

ทั้งนี้ ปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นของสนามบินเชียงราย เนื่องจากการเริ่มทำการบินของสายการบิน Hong Kong Express Airways เมื่อเดือนธันวาคม 2559 และสายการบิน Beijing Capital Airline เมื่อเดือนมีนาคม 2560 และในเดือนกรกฎาคม 2560 จะมีสายการบินอีก 3 สายการบินเริ่มทำการบินมายัง ทชร.ได้แก่ สายการบิน New Gen Airways สายการบินเสฉวนแอร์ไลน์ และสายการบิน Loong Air

เร่งเปิดประมูลระบบ APM สุวรรณภูมิ รอบที่ 3

นายนิตินัยกล่าวว่า หลังบอร์ด ทอท.มีมติยกเลิกประมูลจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ราคากลาง 2,894,959,247.20 บาท เนื่องจากได้คะแนนผ่านเกณฑ์ 2 กลุ่ม คือ 1. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 2. กิจการร่วมค้า IRTI (บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK บริษัท เรืองณรงค์ จำกัด บริษัท ที.อี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และท่าอากาศยานอินชอน เสนอสูงกว่าราคากลางและเจรจาต่อรองไม่ได้ โดยจะเร่งเปิดประมูลเป็นครั้งที่ 3 โดยใช้วิธีพิเศษ เรียก 4 บริษัท คือ ISI (ญี่ปุ่น), มิตซูบิชิ (ญี่ปุ่น), บอมบาร์ดิเอร์ (ฝรั่งเศส) และซีเมนส์ (เยอรมนี) มายื่นข้อเสนอใหม่ เพราะจะเปิดประมูลกี่ครั้งในโลกนี้จะมีเจ้าของระบบอยู่ 4 เจ้า ดังนั้นจึงใช้วิธีพิเศษเพื่อเร่งรัด

สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 นั้น ล่าสุดเหลืออีก 3 งานที่กำลังเตรียมเปิดประกวดราคา คือ งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) วงเงิน 3,000 ล้านบาท งานก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท และงานจ้างก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออก วงเงินประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท

นายอเนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า การปรับทีโออาร์การประมูลระบบ APM จากเดิมรูปแบบการให้คะแนนเทคนิค เป็นการให้ผ่านเกณฑ์ เพื่อเปิดราคาแข่งขัน ล่าสุดมีผู้เสนอเกินราคากลางที่ 4% และ 10% จึงเชื่อว่าครั้งนี้จะได้ราคาที่อยู่ในกรอบราคากลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น