“บิ๊กตู่” เตรียมประชุมอีอีซี 19 ก.ค.นี้ เตรียมกำหนด 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด สัตหีบ เป็นเขตส่งเสริมพิเศษ พร้อมโชว์ศักยภาพเอกชน 10 รายพร้อมลงทุนแล้ว
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า วันที่ 19 กรกฎาคมจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายอีอีซี ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วาระสำคัญจะเสนอให้กำหนดพื้นที่โดยรอบ 3 ท่าเรือในพื้นที่อีอีซี ประกอบด้วย ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือสัตหีบ เป็นเขตส่งเสริมพิเศษเพิ่มเติมเขตส่งเสริมพิเศษอู่ พร้อมกันนี้จะรายงานความคืบหน้าเอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งตั้งเป้าหมายผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุนภายในปีนี้จำนวน 30 ราย และปัจจุบันมีการตัดสินใจแล้วจำนวน 10 ราย
“เป้าหมายเราดึงลงทุนให้ได้ 30 รายปีนี้ชัดเจนมาแล้ว 10 ราย อีก 20 รายมั่นใจว่าจะมีเข้ามาภายในปีนี้แน่นอน เพราะเร็วนี้ๆ ทางสำนักงานอีอีซีจะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกไปโรดโชว์นักลงทุนประเทศจีนและประเทศในสหภาพยุโรป” นายคณิศกล่าว
นายคณิศกล่าวว่า 10 บริษัทเอกชนที่ตัดสินใจเข้ามาลงทุน เช่น บริษัทเครื่องบินแอร์บัส ร้านค้าออนไลน์ชั้นนำของโลกลาซาด้า ค่ายรถยนต์โตโยต้าและฮอนด้า กลุ่มบริษัทที่พร้อมลงทุนใช้หุ่นยนต์ในระบบลอจิสติกส์ เช่น ปูนซิเมนต์ไทย โฮมโปร และล่าสุดเครื่องบินโบอิ้งมีความสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน และการฝึกอบรม ส่วนค่ายเทสล่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังอยู่ระหว่างการประสานในการเจรจา โดยเอกชนเหล่านี้คาดว่าจะมีบางรายที่เข้าเกณฑ์ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรม วงเงิน 10,000 ล้านบาท ที่สามารถได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี
นอกจากนี้ จะติดตามความคืบหน้า 4 โครงการลงทุนเร่งด่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงทุนภายในปีนี้ ประกอบด้วย สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 2 ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 2 และรถไฟความเร็วสูง การวางระบบขนส่งสินค้าและระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ และท่องเที่ยวใน 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เสนอแผนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้ทุกภาคส่วนเป็นมหานครร่วมกัน
“ความคืบหน้าการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อีอีซี ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาชุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียด คาดว่าจะเสนอกลับมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีผลบังคับใช้ช่วงเดือนตุลาคม” นายคณิศกล่าว