xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมั่นใจดึง 30 บิ๊กธุรกิจโลกตัดสินใจลงทุนใน EEC ไม่เกิน เม.ย. 61

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เลขาธิการอีอีซีเร่งดึงนักลงทุน 30 รายใหญ่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตัดสินใจลงทุนได้ภายใน เม.ย. 61 นี้หลังหลายรายส่งสัญญาณชัดเจนแล้ว เผยนโยบายต่างๆ เอื้อโดยเฉพาะล่าสุด คสช.ใช้ ม.44 เร่งรัด EIA PPP และเปิดทางให้ต่างชาติถือหุ้นได้เกิน 50% ในอุตฯ ซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยาน
 


นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า จากแนวทางพัฒนาในอีอีซี 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์) 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การท่องเที่ยวและเมืองใหม่ คาดว่านักลงทุนจะทยอยตัดสินใจการลงทุนประมาณ 30 ราย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ภายในไม่เกิน เม.ย. 61

“เราคงจะเห็นภาพการลงทุนชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายหลังจากบางรายได้มีการลงนามบ้างแล้ว เช่น แอร์บัส MOU การบินไทย ศึกษาตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินที่สนามบินอู่ตะเภา SABB ชิ้นส่วนอากาศยาน อาลีบาบา/ลาซาด้า อีคอมเมิร์ซ ที่สัปดาห์หน้าจะมาหารือ รมว.อุตสาหกรรมในรายละเอียด รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่โตโยต้าพร้อมขยายโรงงาน และยังมีอีก 1 รายที่กำลังคุยอยู่ รวมไปถึงฟูจิฟิล์ม อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ฮิราตะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นต้น ซึ่งนี่ก็ถือว่าเริ่มต้นแต่รวมๆ แล้วก็จะมี 30 ราย” นายคณิศกล่าว
 
ทั้งนี้ ล่าสุดหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวส่งเสริมโครงการอีอีซี 3 ประเด็น ได้แก่ เร่งรัดการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA (Fast track) ภายใน 1 ปี เร่งรัดอนุมัติการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 8-9 เดือน และ 3. ยกเว้นบริษัทต่างชาติให้สามารถทำกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานโดยไม่ยึดกฎหมายเดิมเพื่อเปิดทางให้ถือหุ้นเกิน 50% ได้ ซึ่งแนวทางทั้งหมดก็จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและตัดสินใจลงทุนได้ง่ายขึ้น

“เดิม พ.ร.บ.ท่าอากาศยานของไทยกำหนดไว้ว่าอุตสาหกรรมการบินให้ไทยต้องถือหุ้น 51% แต่ขณะนี้กำลังปรับปรุงแต่ระหว่างนี้เราต้องการให้เขาตัดสินใจลงทุนเพราะเรามุ่งเน้นเรื่องเทคโนโลยีชั้นสูง โดยตัวแอร์บัสเองไม่ได้มองเรื่องสัดส่วนหุ้นแต่บริษัทลูกของแอร์บัสที่ตามมาให้ความสำคัญเพราะเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ เช่น ใบพัดเครื่องยนต์เทคโนโลยีสูงมากเขาก็ต้องการถือหุ้นที่มากกว่า 50% แต่จะเท่าใดนั้นเราก็ต้องหารือกันเป็นกรณีๆ ไป ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ยังไม่ได้มีปัญหาเรื่องการถือหุ้นเพราะหากพิจารณาแล้วการขอส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สัดส่วนนี้ก็ไม่ได้มีปัญหา แต่ตัวการบินติด พ.ร.บ.ท่าอากาศยานซึ่งขณะนี้ก็กำลังแก้ไขอยู่” นายคณิศกล่าว

นายคณิศกล่าวว่า วันที่ 26 พ.ค.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) เพื่อหารือและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะความคืบหน้าการพัฒนารถไฟทางคู่เชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง สัตหีบ และมาบตาพุด ก่อนที่จะรวบรวมแผนงานเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอีอีซีชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาเห็นชอบ พร้อมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้างานด้านต่างๆ ของโครงการในวันที่ 16 มิถุนายนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น