รฟม.เซ็นสัญญารถไฟฟ้า “ชมพู-เหลือง” มูลค่าแสนล้าน ด้านกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ตั้ง 2 บริษัทลุยสัมปทาน แยก 2 สาย คาดลงพื้นที่ตอกเข็มปลายปีนี้ ด้าน “สมคิด” ตีปี๊บอัดเม็ดเงินเข้าระบบ ปลุกนักลงทุนไทยร่วมลงทุนโครงการรัฐ เผยใน 2 ปีนี้คลอดเมกะโปรเจกต์มูลค่า 2.4 ล้านล้าน เข็นเซ็นสัญญาให้ครบก่อนในรัฐบาลนี้
วันนี้ (16 มิ.ย.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานพิธีลงนาม “โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง” โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คณะผู้บริหารบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอบคุณกระทรวงคมนาคมที่ผลักดันโครงการและขอบคุณเอกชนที่ร่วมลงทุน ซึ่งสองโครงการนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนไทย ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ภูมิภาคเอเชียมีศักยภาพในการลงทุนสูง และภูมิภาคอาเซียนคือข้อต่อสำคัญซึ่งประเทศไทยมีทำเลเป็นศูนย์กลาง จึงต้องฉกฉวยโอกาส โดยรัฐบาลมียุทธศาสตร์ ทั้ง ไทยแลนด์ 4.0 ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ วางเป้าหมายอนาคต สร้างความเชื่อมั่นการแข่งขัน
ทั้งนี้ ใน 2 ปีนี้กระทรวงคมนาคมจะมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่มูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท โดยจะต้องลงนามสัญญาให้หมดในรัฐบาลนี้ ซึ่งรัฐบาลนี้ได้ผลักดันในทุกมิติ รวมถึงขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ EEC และผลักดันความร่วมมือ CLMVT โดยโครงการรถไฟฟ้าได้ทยอยออกมาตั้งแต่สายสีเขียวต่อขยายสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) โดยเฉพาะสายสีน้ำเงิน (เดินรถ) ที่ติดค้างมานาน มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท สายสีชมพูและเหลืองอีกแสนล้านบาท และจะทำให้มีการพัฒนาด้านอื่นๆ ตามมาอีก เช่น อสังหาริมทรัพย์ จึงถือเป็นโครงการที่สำคัญ
นายสมคิดกล่าวว่า ในปีนี้รถไฟฟ้าอีก 3 สายจะเข้า ครม. คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 131,004.30 ล้านบาท, สายสีส้ม ด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 16.4 กม. เงินลงทุน 109,342 ล้านบาท และสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต วงเงิน 7,596.94 ล้านบาท, สายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 19,042.13 ล้านบาท, รถไฟทางคู่ 5 เส้นทางมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท จะได้ตัวผู้รับจ้างครบในเดือน ส.ค. รถไฟความเร็วสูง “กรุงเทพฯ-ระยอง” จะผ่าน ครม.ในปีนี้
นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง เป็นโครงการนำร่องตามมาตรการ PPP Fast Track ของรัฐบาล ในการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนและสร้างแรงขับเคลื่อนการลงทุนร่วมกับภาครัฐให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยทั้ง 2 โครงการเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบและขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เป็นระยะเวลาตามสัญญา 33 ปี 3 เดือน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 : งานออกแบบและก่อสร้างโครงการ พร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า ระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน และระยะที่ 2 : งานให้บริการเดินรถ ระยะเวลา 30 ปี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองตามที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เสนอ โดยมีกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก
***คาดลงพื้นที่เริ่มตอกเข็มก่อสร้างปลายปีนี้
ทั้งนี้ รฟม.เน้นย้ำถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยระหว่างก่อสร้าง ซึ่งผู้รับเหมารับปากที่จะให้ความสำคัญ รฟม.ถือเป็นมาตรการสำคัญที่เน้นย้ำผู้รับเหมาทุกสายอยู่แล้ว สำหรับสีชมพู และเหลืองนั้นในสัญญาเขียนไว้อยู่แล้ว กรณีที่ รฟม.เห็นว่าการก่อสร้างไม่มีความปลอดภัย สามารถสั่งปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ผู้รับจ้างหรือที่ปรึกษาเป็นรายใหม่ นอกจากนี้ รฟม.ยังสามารถชะลอการจ่ายค่างวดงานได้ กรณีที่เห็นว่าผลงานผู้รับจ้างไม่เป็นที่น่าพอใจ
สำหรับการก่อสร้าง ผู้รับจ้างจะลงสำรวจพื้นที่ก่อสร้างเพื่อออกแบบรายละเอียด (DETAIL&DESING) คาดว่าจะลงมือก่อสร้างจริงช่วงปลายปีนี้ โดยในระหว่างนี้ รฟม.จะเริ่มทยอยส่งมอบพื้นที่ในจุดที่เข้าพื้นที่ได้ก่อนเพื่อรื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่เกาะกลางถนนเป็นหลัก ซึ่งจะเจรจากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมทางหลวง (ทล.) ส่วนพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงของสีชมพู 240 ไร่ สีเหลืองกว่า 100 ไร่จะดำเนินการเวนคืนตามขั้นตอน
***กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ตั้ง 2 บริษัทร่วมทุน ลุยสัมปทาน “สีขมพู-เหลือง”
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้น 2 บริษัท เพื่อดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู คือ บริษัทนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง คือ บริษัท อิสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ซึ่งตามสัญญาร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost นี้ บริษัทร่วมทุนจะได้รับสิทธิในการบริหารจัดการเดินรถ จัดเก็บรายได้ค่าโดยสารและค่าที่จอดรถ รวมถึงรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ด้วย ทั้งนี้ บริษัทร่วมทุนทั้ง 2 บริษัทจะมอบหมายให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง และว่าจ้าง บริษัท ซิไน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างงานโยธา และว่าจ้างบริษัทบอมบาดิเอร์ ผลิตและติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล
โดยในครั้งนี้มีการลงนามสัญญา 5 ฉบับ คือ 1. สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู ระหว่าง รฟม. กับบริษัทนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด 2. สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ระหว่าง รฟม. กับบริษัท อิสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด 3. สัญญาด้านการเงินกับธนาคารกรุงเทพ 4. สัญญาด้านการก่อสร้าง กับบริษัท ซิโน-ไทย และ 5. สัญญาจัดหาระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลกับบริษัทบอมบาดิเอร์
นายคีรีกล่าวว่า โครงการดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนกำหนดการเดิมที่วางไว้ 39 เดือน หรือตามกำหนดเดิมจะเปิดให้บริการในปี 2563 เนื่องจากบริษัทมีการเตรียมการและความพร้อมเป็นอย่างดี จะเห็นได้จากการมีการลงนามสัญญาวันเดียวกันทั้ง 5 สัญญา หาก รฟม.ได้ส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทแล้วจะลงมือก่อสร้างทันที
ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนจากพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายหลัก ได้แก่ สายสีม่วง สายสีแดง สายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีน้ำเงิน เพื่อเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานครได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในพื้นที่ของโครงการทั้งสองสาย นอกจากนี้ ผู้โดยสารจะสามารถใช้บัตรโดยสารใบเดียวกันเดินทาง ทั้งบัตรประเภทเที่ยวเดียว และบัตรเติมเงิน (บัตรแมงมุม) โดยสามารถเดินทางได้ทั้ง 3 ระบบ คือ สายสีเขียว สายสีชมพู และสายสีเหลือง โดยจะออกแบบให้เป็นลักษณะการเชื่อมต่อแบบ Paid to Paid ที่ผู้โดยสารไม่ต้องออกนอกระบบ เพียงแตะบัตรเข้าและออกเพียงครั้งเดียว ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกสบายและรวดเร็วในการเดินทางให้แก่ผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทจะเร่งออกแบบรายละเอียดรถไฟฟ้า 2 สาย ซึ่งการก่อสร้างส่วนใหญ่จะอยู่บนถนนซึ่งบริษัทให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยสูงสุด โดยจะเร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาและด้วยคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร มีสถานีรวม 30 สถานี กรอบวงเงินลงทุน 46,643 ล้านบาท ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีระยะทางประมาณ 30.4 กิโลเมตร มีสถานีรวม 23 สถานี กรอบวงเงินลงทุน 45,797 ล้านบาท ทั้ง 2 โครงการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคล่อมราง (Straddle Monorail) เป็นโครงสร้างยกระดับตลอดสาย มีทางเดินสำหรับการอพยพกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน (Emergency Walkway) ตลอดทาง แนวเส้นทางเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder Line) ที่จะกระจายความหนาแน่นของกิจกรรมเมือง และเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนหลัก (Main Line) เป็นโครงข่ายอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2563