xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้ามาหากรุงเทพฯ ตะวันออก ปีนี้ไม่ได้มีแค่ “สายสีเหลือง-ชมพู” แต่ยังต้องเจอ “สายสีส้ม”

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ในที่สุด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ได้ฤกษ์เซ็นสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560

โดยกลุ่มบริษัท บีทีเอส ของ “คีรี กาญจนพาสน์” ซึ่งมาในนาม “กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์” ร่วมกับกลุ่มซิโน-ไทย และ โรงไฟฟ้าราชบุรี เป็นผู้คว้าสัมปทานตรงนี้ไปครอง เป็นระยะเวลา 33 ปี 3 เดือน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร 30 สถานี วงเงินลงทุน 46,643 ล้านบาท เริ่มจากศูนย์ราชการนนทบุรี ไปตามถนนติวานนท์ แจ้งวัฒนะ รามอินทรา สิ้นสุดที่มีนบุรี

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร 23 สถานี วงเงินลงทุน 45,797 ล้านบาท เริ่มจากสถานีรัชดา เชื่อมต่อรถไฟใต้ดินลาดพร้าว ไปตามถนนลาดพร้าว ศรีนครินทร์ เทพารักษ์ สิ้นสุดที่สำโรง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส



ทั้งสองสาย จะใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว เรียกว่า “โมโนเรล” แบบคร่อมราง (Straddle Monorail) โครงสร้างยกระดับตลอดสาย ใช้รถไฟฟ้า 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ถึง 30,000 คนต่อชั่วโมง

นายคีรีให้สัมภาษณ์ระบุว่า การก่อสร้างน่าจะเสร็จเร็วกว่ากำหนดเพียง 2 ปีนับจากวันที่เริ่มเข้าพื้นที่ เนื่องจากต้องการลดผลกระทบด้านการจราจรที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้างโครงการ

ฟังดูแล้วก็เริ่มมีความหวัง!

ที่รู้สึกว่ามีความหวัง เพราะ หนึ่ง การก่อสร้างรถไฟฟ้าเที่ยวนี้ ไม่ได้มีพิธีรีตองอะไรมาก ให้สัมปทานบีทีเอสลงทุนครั้งเดียว

ต่างจากโครงการอื่น ๆ ที่ผ่านมา ใช้วิธีประมูลก่อสร้างแล้วก็ประมูลจัดหาผู้เดินรถ ทำให้ดูสลับซับซ้อน

ที่สำคัญก็คือ รถไฟฟ้าโมโนเรล ก่อสร้างเร็วกว่า และต้นทุนถูกกว่ารถไฟฟ้ารางหนัก (Heavy Rail) เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าบนดิน ใต้ดิน ที่เราเห็นถึงกว่าครึ่งหนึ่ง

จึงทำให้กลุ่มบีทีเอสมั่นใจว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี

เอาเข้าจริง แม้คนกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งจะดีใจที่จะมีรถไฟฟ้าเพิ่ม แต่คนลาดพร้าว คนบางกะปิ คนศรีนครินทร์ และคนแถวสำโรง อาจจะต้องทนกับรถติดในช่วงการก่อสร้าง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะแล้วเสร็จตามกำหนดหรือไม่

โดยเฉพาะจุดที่มีการจราจรติดขัดติดอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ เฉกเช่น “แยกลำสาลี”

ที่นอกจากจะมีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองแล้ว ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่จะเริ่มลงมือก่อสร้างตามแนวเส้นทางถนนรามคำแหงเร็วๆ นี้



หลายคนยังไม่รู้ว่า รฟม. จะมีการก่อสร้าง รถไฟฟ้ามหานครสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงสถานีศูนย์วัฒนธรรม ถึงสถานีสุวินทวงศ์ ระยะทาง 35.4 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี วงเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท

โดยผู้รับเหมา ช่วงสถานีศูนย์วัฒนธรรม-รามคำแหง 12-หัวหมาก จะมีกิจการร่วมค้าซีเคเอสที ประกอบด้วยกลุ่ม ช.การช่าง และกลุ่มซิโน-ไทย ส่วนช่วงหัวหมาก-บ้านม้า เป็นของอิตาเลี่ยนไทย และช่วงบ้านม้า-สุวินทวงศ์ เป็นของยูนิคฯ

ตอนนี้อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่เพื่อนำไปออกแบบรายละเอียด โดยเฉพาะโครงสร้างใต้ดิน จากนั้นจะดำเนินการรื้อย้ายสาธารณูปโภค

ก่อนจะเริ่มปิดพื้นที่และลดช่องจราจรในช่วงเดือนธันวาคม 2560 คาดว่าแล้วเสร็จเดือนมกราคม 2566

เมื่อรถไฟฟ้า 3 เส้นทางย่านกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกก่อสร้าง เราอาจจะต้องทนรถติดไปอย่างน้อย 2 ปี

ที่น่าเป็นห่วงคือถนนพระราม 9 และถนนรามคำแหงตลอดสาย จะติดขัดยาวนานไปถึง 5-6 ปี

แต่ก็เป็นที่คาดหมายแล้วว่า หากก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการ ย่านรามคำแหงซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยระดับปานกลางและหอพักนักศึกษา จะกลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น

เห็นได้จากย่านสี่แยกรามคำแหงจะมีคอนโดมิเนียมเปิดใหม่อย่างน้อยๆ สักแห่ง-สองแห่ง

นอกจากนี้ ในแวดวงค้าปลีก “เดอะมอลล์กรุ๊ป” ซึ่งได้รับอานิสงส์จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินรามคำแหง 12 พาดผ่าน

เพิ่งติดประกาศว่าจะก่อสร้าง “ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ 2 รามคำแหง” ในเดือนมกราคม 2561 โดยการทุบทิ้งแล้วก่อสร้างใหม่ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2563

ที่นี่มีศักยภาพทั้งมหาวิทยาลัย 2 แห่ง คือ ม.รามคำแหง, ม.อัสสัมชัญ และการกีฬาแห่งประเทศใหญ่ ที่มีผู้ชมกีฬาและอีเวนต์รายการใหญ่นับแสนคน

มาที่ย่านลาดพร้าว ถึงบางกะปิ เป็นชุมชนเก่าแต่ไม่แก่มาก ขยายตัวนับตั้งแต่ถนนวิภาวดีรังสิตยังเป็นทุ่งนา ชุมชนก็ค่อยๆ ขยายตัวออกมาเรื่อยๆ ประมาณ 20-30 ปีจนเป็นชุมชนหนาแน่น

แต่การคมนาคมขนส่งที่นี่ ถ้าไม่นับรถไฟฟ้าใต้ดินที่ผ่านตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าว ไปถึงแยกรัชดา-ลาดพร้าว คนส่วนใหญ่ถ้าไม่ขับรถส่วนตัว ก็จะนั่งรถเมล์ไปทำงาน

ส่วนคนที่อยู่ย่านบางกะปิก็ใช้บริการเรือคลองแสนแสบ จากวัดศรีบุญเรือง ไปยังประตูน้ำ และสะพานผ่านฟ้าลีลาศเพื่อเข้าเมือง

ไม่อยากจะอธิบายว่าช่วงเช้าและช่วงเย็นรถจะติดแค่ไหน โดยเฉพาะแยกรัชดา-ลาดพร้าว สังเกตได้ว่าไฟแดงนานมาก

บางวันท้ายแถวสะสมถึงสะพานข้ามแยกลาดพร้าวพอดี ยิ่งวันฝนตกยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ครั้งหนึ่งถนนลาดพร้าวต้องทำช่องทางพิเศษสำหรับรถเมล์บริเวณเกาะกลางถนน โดยสะพานลอยบางแห่งก็มีบันไดลงไปถึงเกาะกลางถนน

แต่ทำอีท่าไหนไม่รู้ สุดท้ายเหลือแค่สาย 502 วันละ 2 เที่ยว แล้ว ขสมก. ก็เก็บกรวยไป

การมีรถไฟฟ้าโมโนเรล จะช่วยดึงคนจากลาดพร้าว ตั้งแต่บางกะปิให้ไปต่อรถไฟใต้ดินลาดพร้าวได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ยังจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีลำสาลี (เปิดให้บริการปี 2566) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงก์ ที่สถานีพัฒนาการ และปลายทางสถานีสำโรง ยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปสมุทรปราการได้อีก

ส่วนทำเลแจ้งวัฒนะ เมืองทองธานี แม้ว่าจะมีเมืองทองธานี และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ แต่ความสนใจอยู่ในอันดับรองลงมา เพราะเชื่อมต่อแค่รถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเท่านั้น

นอกนั้นต้องรอโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ที่สถานีหลักสี่, รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่สถานีวัดพระศรีฯ และรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีสุวินทวงศ์

โดยปกติคนที่อยู่ย่านแจ้งวัฒนะ และรามอินทรา มักจะใช้รถตู้โดยสาร และรถประจำทางเป็นหลัก อีกทั้งย่านรามอินทราเป็นย่านที่อยู่อาศัยระดับบนและระดับกลาง มักจะใช้รถส่วนตัวกัน

สังเกตจากรถติดบนถนนประดิษฐ์มนูญธรรม เลียบทางด่วนรามอินทรา ทุกเช้าและเย็น

เมื่อดูความจำเป็น การเลือกรถไฟฟ้ารางเบาแบบโมโนเรล สำหรับสองเส้นทางถือว่าเหมาะสมแล้ว

แม้ผลตอบรับจากการเซ็นสัญญาสัมปทาน จะส่งผลดีทางเศรษฐกิจกับคนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะราคาที่ดินขยับขึ้นสูงถึง 6-7 แสนบาทในย่านลาดพร้าว

ส่วนแจ้งวัฒนะ 2-3 แสนบาทต่อตารางวา และมีนบุรีจากหลักหมื่นจะขยับเป็นหลักแสนบาทต่อตารางวา

แต่เอาเข้าจริง การเปิดใช้รถไฟฟ้าโมโนเรลในช่วงแรกๆ สายสีเหลืองอาจมีคนรอใช้จำนวนมาก เพราะเป็นย่านมีผู้คนอาศัยหนาแน่น

ส่วนสายสีชมพูอาจจะเหมือนสายสีม่วงบางใหญ่ ที่มีผู้ใช้บริการน้อยจนต้องลดค่าตั๋วลง เพราะคนบางใหญ่ บางบัวทอง มีความรู้สึกว่าไม่ต่างไปจากนั่งรถตู้ที่ราคาถูกกว่ามากนัก

อีกทั้งมีปัญหาที่ไม่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่หมดระยะแค่สถานีบางซื่อ เป็นรอยต่อที่ทำให้มีคนไม่อยากใช้รถไฟฟ้าสายนี้มากนัก

ด้วยความที่เป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล ใหม่ ๆ คนที่นั่งอาจจะยังไม่ชิน เพราะรถจะสั่นสะเทือนกว่ารถไฟฟ้าที่เราขึ้น แต่สักพักก็จะชิน

เหมือนเสียงดังเวลาปิดประตูของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่ช่วงหนึ่งคนตกใจ หลังๆ คนที่อยู่แถวลาดกระบัง พัฒนาการ สุวรรณภูมิก็ชินไปเอง

ถ้าอยากรู้ว่ารถไฟฟ้าโมโนเรล ขึ้นแล้วรู้สึกอย่างไร แบบไม่ต้องไปไหนไกลถึงต่างประเทศ ให้ไปลองนั่งที่สวนสัตว์เชียงใหม่

แต่ของจริงความเร็วจะสูงกว่านี้ ประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

มีหลายประเทศที่เดินรถไฟฟ้าด้วยระบบโมโนเรล แล้วบางประเทศประสบความสำเร็จ

เช่น ญี่ปุ่น ที่มีมากถึง 5 เส้นทาง และจีน นอกนั้นก็มีมาเลเซีย สิงคโปร์ และดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เป็นเส้นทางเล็ก ๆ ระยะทางไม่กี่กิโลเมตร

ในประเทศไทย นอกจากสายสีเหลืองและสายสีชมพูแล้ว รฟม. ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-บึงกุ่ม ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐมนุญกิจ และถนนนวมินทร์ ที่จะใช้ระบบโมโนเรลเช่นกัน

รวมไปถึงโครงการของกรุงเทพมหานคร เช่น รถไฟฟ้าสายสีทอง จากสถานีกรุงธนบุรี ถึงสถานีประชาธิปก ที่เอกชนอย่างโครงการไอคอนสยาม ขอร่วมลงทุน และ สายสีเทา วัชรพล-ลาดพร้าว-พระราม 4 ขยายไปถึงท่าพระ

หากรถไฟฟ้าโมโนเรลได้รับความนิยม เราอาจจะเห็นเส้นทางอื่นๆ เกิดขึ้นในต่างจังหวัด โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ๆ ด้วยงบลงทุนไม่ถึง 50,000 ล้านบาทเกิดขึ้นตามมาอีกก็ได้

จึงเป็นอีกความหวังหนึ่งของระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทย ที่จะมีทางเลือกในการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าที่สะดวก รวดเร็ว

ไม่ต้องทนกับปัญหาจราจรติดขัด และการเอารัดเอาเปรียบกับรถรับจ้างสาธารณะบางอย่างอีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น