xs
xsm
sm
md
lg

จะต้อนรับอย่างดี “สมคิด” ชวนยุ่นร่วมหุ้นส่วนยกระดับไทยสู่ 4.0 เชื่อมโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองนายกฯ ชวนนักลงทุนญี่ปุ่นร่วมเป็นหุ้นส่วนไทยช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ยุค 4.0 เป็นศูนย์กลางภูมิภาค เชื่อมโยงสู่สายพานการผลิตของโลก เผย รมว.กระทรวงเมติญี่ปุ่น เตรียมนำคณะเยือนไทยลงดูพื้นที่อีอีซีช่วงครึ่งหลังของปีนี้



วันนี้ (7 มิ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 09.35 น.ตามเวลาท้องถิ่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงปาฐกถาในงานสัมนา Thailand towards Asian Hub ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และเจโทร ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยนายสมคิดย้ำว่า ขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังมีปัญหาความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐอเมริกา และกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ในยุโรป แต่ประเทศแถบเอเชียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก จึงเป็นที่ต้องการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ขณะที่ไทยกำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการเพิ่มนวัตกรรมใหม่ ปรับปรุงกฎระเบียบอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน มีแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี รองรับการเปลี่ยนผ่านภาคการผลิตของไทย หากขาดนักลงทุนจากญี่ปุ่นคงพัฒนาไม่สำเร็จ จึงได้เชิญประธาน JETRO มาเป็นที่ปรึกษาเพื่อติดต่อกับนักลงทุนญี่ปุ่น ไทยมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วยเม็ดเงิน 43 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีจากนี้ จึงต้องการให้ญี่ปุ่นมาร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจ EEC ทั้งสนามบิน ท่าเรือ รถไฟรางคู่ โครงสร้างเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

นายสมคิดกล่าวอีกว่า ไทยได้ผลักดันด้านการศึกษาพัฒนาบุคลากร พัฒนาแรงงานคุณภาพรองรับก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 และกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค เช่น อาหาร ไบโออินดัสตรี ยานยนต์แห่งอนาคต ปิโตรเคมีคอล การท่องเที่ยว การแพทย์ครบวงจร ศูนย์การบินของภูมิภาค การบินไทยจึงได้ลงนามร่วมกับแอร์บัสพัฒนาศูนย์ซ่อมและชิ้นส่วนอากาศยานในสนามบินอู่ตะเภา EEC จึงถูกผลักดันออกมาให้เป็นรูปธรรมในหลายด้าน รวมทั้งการผลักดันให้มีบริการ ONE Stop Service ของหลายส่วนราชการ รวมทั้งนำแนวคิดร่วมจัดทำยุทธศาสตร์ของกลุ่มประเทศ CLMVT เพื่อเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ขยายไปยังกลุ่มต่างๆ รวมทั้งญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม จึงหวังว่าไทย-ญี่ปุ่นจะร่วมมือทางการค้าและลงทุนได้เพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ นายสมคิดกล่าวว่า เมื่อเช้าได้เป็นสักขีพยานการลงนามร่วมกันระหว่างนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กับนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตหสากรรมของญี่ปุ่น หรือ METI เพื่อเชื่อมโยงเอสเอ็มอีของทั้งสองประเทศ และการผลิตของไทยเชื่อมต่อไปยังภูมิภาค เพื่อร่วมกันยกระดับการผลิตไปสู่ยุคดิจิตอลในอนาคต เพราะผู้ประกอบการทุกรายต้องเปลี่ยนไปสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมไปยังตลาดโลก จึงเป็นครั้งแรกที่เมติของญี่ปุ่นได้ลงนามร่วมกับประเทศไทย โดยทางรัฐมนตรี METI ของญี่ปุ่นจะจัดคณะเดินทางไปเยือนไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และท่านรัฐมนตรีจะลงดูพื้นที่อีอีซีด้วยตนเอง

นายสมคิดกล่าวในตอนท้ายว่า ในปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคของญี่ปุ่นในแทบทุกอุตสาหกรรม และเป็นที่อาศัยของคนญี่ปุ่นกว่า 6 หมื่นคนที่ทำงานและอาศัยอยู่อย่างมีความสุข คนไทยกับคนญี่ปุ่นในประเทศไทยแทบจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน แยกกันแทบไม่ออกหากไม่พูดภาษาของตนออกมา

“ผมไม่ต้องการมาเพื่อบอกท่านว่าไทยดีอย่างไร น่าไปลงทุนอย่างไร หรือไทยน่าอยู่อย่างไร ผมคิดว่าท่านถามนักธุรกิจที่นั่นได้ ท่านถามเพื่อนของท่านได้ แล้วท่านจะได้คำตอบโดยชัดเจนโดยผมไม่ต้องบอกกล่าว แต่ผมมาวันนี้เพื่อจะบอกท่านว่าประเทศไทยพัฒนามาถึงวันนี้ได้ ญี่ปุ่นคือผู้ที่มีส่วนเกื้อกูลสูงสุด เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่การเคลื่อนย้ายการลงทุนครั้งใหญ่จากญี่ปุ่นสู่ประเทศไทยในอดีตได้ยังผลให้เกิดการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจไทย

วันนี้ผมและคณะมาเพื่อขอบคุณในความเกื้อกูลของนักธุรกิจญี่ปุ่นในอดีต และมาเพื่อเชิญชวนท่านให้มาร่วมเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับไทยอีกครั้งในช่วงเวลาแห่งการปรับเปลี่ยนประเทศครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ผมและคณะจะขอต้อนรับและดูแลท่านทั้งหลายอย่างดีที่สุด”

รายละเอียด
ปาฐกถาพิเศษงานสัมมนา Thailand towards Asian Hub
โดย รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
วันที่ 7 มิถุนายน 2560
ณ โรงแรม Grand Prince Hotel New Takanawa ประเทศญี่ปุ่น
.......................................................


ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

ในนามของรัฐบาลไทย ผมขอขอบคุณท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายที่ให้ความสนใจและให้เกียรติมาร่วมงานในวันนี้ และขอขอบคุณทางเจโทรที่ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักลงทุนไทยและญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด กระทั่งกลายเป็นฐานสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ท่านผู้มีเกียรติครับ เมื่อวานนี้ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมใน forum ประจำปีของ Nikkei ผมได้เรียน ณ เวทีแห่งนั้นว่า ในห้วงเวลาที่โลกเต็มไปด้วยเมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอนและวิตกกังวล ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจหรือการเมืองโลก ในห้วงเวลาซึ่งการค้าเสรีอันเป็นวิถีปฏิบัติที่โลกเคยเชิดชูและยึดถือกำลังถูกท้าทายด้วยกระแสการปกป้องทางการค้าและกระแสโลกาภิวัตน์ย้อนกลับ (Reverse Globalization) และในห้วงเวลาที่เอกภาพของโลกตะวันตก อันเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของโลกในอดีตกำลังปริแยกและอ่อนกำลัง อันสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนจากการประชุมนาโต้และ G7 ที่ผ่านมา นานาประเทศเริ่มขยับและปรับตัวเพื่อเตรียมรองรับกับความเปลี่ยนแปลงและหาทางก้าวให้พ้นออกจากสถานการณ์แห่งความไม่แน่นอนเหล่านี้ ระเบียบโลกใหม่แม้จะยังไม่มีภาพที่ชัดเจนนัก แต่ก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้วและมันกำลังก่อตัวขึ้นในภูมิภาคเอเชียแห่งนี้

ท่านผู้มีเกียรติครับ เอเชียกำลังเป็นความหวังใหม่ของโลกที่จะช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจโลกในยามที่กำลังถดถอย ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าภูมิภาคใดๆ ในโลก ในยามที่สหรัฐอเมริกาสลัดทิ้งแนวคิดเขตการค้าเสรี TPP อย่างไร้เยื่อใยทั้งๆ ที่เป็นผู้ริเริ่ม ญี่ปุ่นกลับยังคงมีความมุ่งมั่นอย่างเด็ดเดี่ยว ในความพยายามผลักดันให้เดินหน้าต่ออย่างเข้มแข็งเพื่อรักษาไว้ซึ่งแนวคิดแห่งการจัดตั้งเขตการค้าเสรีแห่งนี้เอาไว้ ในขณะเดียวกัน RCEP อันประกอบไปด้วยกลุ่มประเทศอาเซียนบวกหก ก็กำลังเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสร้างเขตการค้าเสรีแห่งภูมิภาคเอเชียที่ครอบคลุมประชากรกว่าครึ่งโลก และเมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคมที่ผ่านมา จีนได้จัดให้มีการประชุม one belt one road อย่างเป็นทางการขึ้นที่ปักกิ่งเป็นครั้งแรก โดยมีชาติต่างๆ เข้าร่วมถึง 29 ประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิด connectivty ระหว่างกัน ไม่เพียงแต่ชาติในเอเชียแต่ยังหมายมั่นที่จะเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอื่นๆ และคาดกันว่าการลงทุนและการค้าเสรีจะถูกผลักดันตามมาในทุกพื้นที่ที่ one belt one road พาดผ่าน นี่คือการขยับตัวของเอเชียในยามที่โลกกำลังปั่นป่วนและพลิกผันเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น ไม่แต่เพียงภายในภูมิภาค แต่เพื่อค้ำจุนเศรษฐกิจโลก ส่งเสริมการค้าเสรีและรักษาสิ่งที่ดีของ globalization เอาไว้ หากนี่เป็นพันธกิจใหม่ของชาติแห่งเอเชีย ประเทศไทยแม้จะเป็นเพียงชาติเล็กๆ ชาติหนึ่ง แต่ก็พร้อมเสมอที่จะร่วมมือกับมิตรประเทศของเราสร้างอนาคตใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศญี่ปุ่นที่เป็นมหามิตรของไทย

ท่านผู้มีเกียรติครับ ประเทศไทยเพิ่งก้าวพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ด้วยการทำงานอย่างหนักของรัฐบาลด้วยการร่วมมือกับทุกๆ ฝ่าย เศรษฐกิจที่เคยชะลอตัวเริ่มขยายตัวโดยลำดับ จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 0.8 ในปี 2014 มาสู่ร้อยละ 3.2 ในปี 2016 และร้อยละ 3.3 ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา และคาดว่าตลอดทั้งปีจะเติบโตในช่วงร้อยละ 3.5 หรือสูงกว่า ในขณะที่หนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับเพียงร้อยละ 45 ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไทยได้เปลี่ยนวิกฤตการณ์ทางการเมืองให้เป็นโอกาสแห่งการปฏิรูปประเทศ ไม่ว่าจะในภาคเศรษฐกิจหรือในภาครัฐ ในภาคเศรษฐกิจ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่หยุดนิ่งมานานได้รับการผลักดันในแทบทุกด้าน ด้วยโครงการลงทุนกว่า 43 พันล้านเหรียญสหรัฐใน 5 ปีข้างหน้า ทั้งในด้านบริหารจัดการน้ำ ด้านพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคม และการสื่อสาร ไม่ว่าถนน รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ สนามบิน ท่าเรือ การพลังงาน การลงทุนด้านดิจิตอล เป็นต้น

เส้นทางรถไฟฟ้า 3 เส้นเริ่มต้นแล้วในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา และจะตามมาด้วยเส้นทางรถไฟรางคู่ 6 สายที่จะเกื้อกูลต่อระบบ logistic ของประเทศ ซึ่งจะประมูลประกวดราคาและจัดซื้อจัดจ้างใน 3 เดือนข้างหน้า การลงทุนด้านดิจิตอลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง internet broadband ให้ทั่วถึงทั้งประเทศ และการลงทุนใน submarine cable เพื่อให้ไทยสามารถเป็น international gateway แห่งภูมิภาคจะสมบูรณ์ในปีนี้หรือไม่อย่างช้ากลางปีหน้า เพื่อเปิดทางต่อการขับเคลื่อนภาคการผลิตและภาคบริการสู่ยุค 4.0

ท่านนายกรัฐมนตรีลงมาด้วยตนเองในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา การพัฒนาบุคลากร และการวิจัยพัฒนา ที่มีความสำคัญยิ่งในยุคข้างหน้า ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ ได้ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับมูลค่าการผลิตที่เน้นมูลค่ามากกว่าปริมาณ เน้นนวัตกรรม วิทยาการและความคิดสร้างสรรค์มากกว่าแรงงานราคาถูก ประเทศไทยหมายมุ่งที่จะสร้างไทยให้เป็น hub แห่งอนาคตของภูมิภาคในอุตสาหกรรมหลัก เช่น อาหาร bioeconomy ยานยนต์แห่งอนาคต petrochemical, medical and wellness, การท่องเที่ยว และศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค เป็นต้น โครงการเขตระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกหรือ EEC จึงถูกผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อเป็นที่รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้ พร้อมแหล่งจูงใจด้านสิทธิประโยชน์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบครัน ซึ่งรัฐมนตรีที่ต่อจากผมจะมาบอกเล่าต่อไป เมื่อเราเชิญชวนท่านมาลงทุน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การอำนวยความสะดวกและการขจัดอุปสรรคทั้งหลายในการดำเนินธุรกิจ ทั้งระเบียบ กฎเกณฑ์ และขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน national single window และ one stop services เป็นเป้าหมายที่ต้องการบรรลุในเร็ววัน แม้จะยังไม่สมบูรณ์แต่ก็คืบหน้าไปมากในทุกมิติ ด้วยความช่วยเหลือและการแนะนำจาก world bank

ด้วยความมุ่งมั่นอย่างยิ่งยวดนี้เอง การจัดอันดับความสามารถแข่งขันของประเทศล่าสุดโดย IMD เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ในด้านเศรษฐกิจไทยขยับขึ้นถึง 3 อันดับ ในขณะที่ประสิทธิภาพภาครัฐก็ขยับขึ้น 3 อันดับเช่นกัน อันเป็นผลจากความคืบหน้าของการแก้ไขกฎเกณฑ์และกฎระเบียบที่ล้าสมัย การลดขั้นตอนและการออกกฎหมายที่สร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน ยังผลให้อันดับโดยรวมทั้งประเทศดีขึ้นจากลำดับที่ 28 เป็นลำดับที่ 27 และคาดว่าจะดีขึ้นโดยลำดับเมื่อโครงสร้างพื้นฐานเสร็จสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้

ท่านผู้มีเกียรติครับ นอกเหนือไปจากการเน้นการปฏิรูปประเทศ ประเทศไทยตระหนักอยู่เสมอถึงความสำคัญของการร่วมมือและสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ clmvt ด้วยขนาดประชากรกว่าสองร้อยล้านคนและทรัพยากรอันอุดม clmvt เป็นทั้งตลาดขนาดใหญ่และ supply chain ที่สำคัญยิ่งของเอเชีย ด้วยทำเลที่ตั้งอันเป็นศูนย์กลางของ clmvt ประเทศไทยจึงต้องการพัฒนาตนเองให้เป็นที่ตั้งที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นศูนย์กลางที่นักลงทุนจากต่างประเทศจะมาตั้งฐานการผลิตเพื่อเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ โครงการ EEC จึงถูกออกแบบไว้เพื่อให้เป็น port ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งภูมิภาค เพื่อการขนส่งทั้งทางบก เรือ และอากาศ เชื่อมโยงทั้งเข้าและออกจาก clmvt ออกไปสู่โลก

ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ CLMVT โดยเฉลี่ยที่สูงถึง 6-7% ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้อนุภูมิภาคแห่งนี้เป็นศูนย์กลางดึงดูดการค้า การลงทุน และท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ท่านนายกรัฐมนตรีของไทยจึงพยายามผลักดันให้มีการร่วมพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันในทุกมิติ

ท่านผู้มีเกียรติครับ ในปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคของญี่ปุ่นในแทบทุกอุตสาหกรรม และเป็นที่อาศัยของคนญี่ปุ่นกว่าหกหมื่นคนที่ทำงานและอาศัยอยู่อย่างมีความสุข คนไทยกับคนญี่ปุ่นในประเทศไทยแทบจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน แยกกันแทบไม่ออกหากไม่พูดภาษาของตนออกมา ผมไม่ต้องการมาเพื่อบอกท่านว่าไทยดีอย่างไร น่าไปลงทุนอย่างไร หรือไทยน่าอยู่อย่างไร ผมคิดว่าท่านถามนักธุรกิจที่นั่นได้ ท่านถามเพื่อนของท่านได้ แล้วท่านจะได้คำตอบโดยชัดเจนโดยผมไม่ต้องบอกกล่าว แต่ผมมาวันนี้เพื่อจะบอกท่านว่าประเทศไทยพัฒนามาถึงวันนี้ได้ ญี่ปุ่นคือผู้ที่มีส่วนเกื้อกูลสูงสุด เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่การเคลื่อนย้ายการลงทุนครั้งใหญ่จากญี่ปุ่นสู่ประเทศไทยในอดีตได้ยังผลให้เกิดการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจไทย วันนี้ผมและคณะมาเพื่อขอบคุณในความเกื้อกูลของนักธุรกิจญี่ปุ่นในอดีต และมาเพื่อเชิญชวนท่านให้มาร่วมเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับไทยอีกครั้ง

ในช่วงเวลาแห่งการปรับเปลี่ยนประเทศครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ผมและคณะจะขอต้อนรับและดูแลท่านทั้งหลายอย่างดีที่สุด

ขอบคุณครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น