รองนายกฯ แสดงปาฐกถางาน “นิกเกอิ ฟอรัม” ที่กรุงโตเกียว มองอนาคตเอเชียจะเป็นความหวังใหม่ของโลก หลังจากเกิดความไม่แน่นอนในสหรัฐอเมริกา และยุโรป แต่ทุกชาติในเอเชียต้องวางยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกันและเชื่อมโยงกันทุกด้าน โดยมีชาติใหญ่อย่าง ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลี ร่วมผลักดัน ไทยพร้อมหนุน TPP สานต่อการค้าเสรีโลก
วันนี้ (6 มิ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ที่โรงแรมอิมพีเรียล กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงปาฐกถาในงาน Nikei Forum ครั้งที่ 23 หัวข้อ “The Future of Asia” โดยนายสมคิดกล่าวว่า ขณะนี้หมอกควันแห่งความไม่แน่นอนได้แผ่กระจายออกไปทั่วโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ รัฐศาสตร์ การเมืองของโลก เริ่มเมื่อปีก่อน การส่งเสริมการค้าเสรีอย่าง TPP ได้ถูกสลัดทิ้งอย่างไม่ไยดีจากประเทศผู้ริเริ่ม เพื่อป้องกันผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มากกว่าการดูแลพันธมิตร และเน้นปกป้องมากกว่าการส่งเสริมเสรีการค้า เพื่อตอบโต้ประเทศคู่ค้า ทั้งที่ประเทศส่วนใหญ่เคยได้รับการส่งเสริมจากสหรัฐฯ ได้สร้างความสับสนแก่นานาประเทศ จึงต้องรับจากผลกระทบที่อาจจะมีขึ้น จึงได้มีการจัดระเบียบใหม่ของโลกเพื่อหลีกพ้นความไม่แน่นอน เป็นจุดเริ่มต้นแล้วและกำลังเริ่มในเอเชีย ความพลิกผันขณะนี้ การเมือง รัฐศาสตร์ การที่อังกฤษออกจากอียูกำลังเขย่าสถานะของอียูอย่างรุนแรง การที่นายมาครงได้รับเลือกตั้งในฝรั่งเศสก็ยังไม่แน่นอนว่าจะหยุดยั้งการมุ่งสลัดตนเองจากอียูได้หรือไม่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ก็ไม่ให้ความสำคัญต่อความเป็นปึกแผ่นของ NATO และตอกย้ำกับกลุ่ม G7 ว่าต้องรับผิดชอบมากขึ้น ห้วงเวลาของการพึ่งพาคนนอก หมายถึงสหรัฐอเมริกาได้ผ่านพ้นไปแล้ว
ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง พลังการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ยังไม่มีใครสามารถชี้ชัดได้ว่าโลกในอีก 1 ปีข้างหน้าจะเป็นเช่นไร อย่างไรก็ตาม ความวิตก มองโลกในแง่ร้ายไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น การก้าวไปข้างหน้าอย่างกลมเกลียวกันจะฝ่าความท้าทายไปได้ ชาติแห่งเอเชียต้องสร้างพลังานแห่งเอเชียให้เป็นความหวังใหม่ รักษาไว้ซึ่งการค้าเสรีเพื่อประคองเศรษฐกิจโลก เมื่อ 14-15 พ.ค. จีนได้ขยับตัวประชุม one belt one road เป็นแนวทางความร่วมมือของเอเชียเพื่อเชื่อมโยงยุโรป ยูเรเชีย แอฟริกา เพื่อเป็นแพลตฟอร์มใหม่แห่งการค้าเสรีของโลก และความร่วมมือของชาติต่างๆ นอกจากนี้ยังมีแนวทางอื่นเพื่อสร้างความหวังแห่งอนาคต เช่น เป้าหมายของญี่ปุ่น กับพันธมิตร 12 ชาติ ในการผลักดันเขตการค้าเสรี TPP แม้ไม่มีสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมอีกแล้ว จึงพร้อมสนับสนุน แต่ถ้าได้เอาอุปสรรคปัญหาต่างๆ มาแก้ไขปรับปรุงก็จะสามารถร่วมมือกันเดินไปข้างหน้าได้ การที่ญี่ปุ่นกระโดดเข้ามาทำหน้าที่แทนสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่น่ายินดี และไทยพร้อมสนับสนุนเต็มที่ หรือการตั้งกลุ่ม RCEP ประกอบด้วยอาเซียน และ 6 ประเทศใหญ่ คือ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชากรรวมกันเท่ากับครี่งหนึ่งของโลก หากผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมก็จะเป็นประโยชน์อย่างสูงต่อชาติในเอเชีย อย่างไรก็ตาม ประเทศใหญ่อย่างญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ต้องเป็นหัวแรงสำคัญในการผลักดันทุกวิถีทาง
ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ เป็น 4 ชาติใหญ่ที่เป็นพลังแห่งเอเชีย แต่เอเชียยังมีประเทศอื่นทั้งประเทศใหญ่และเล็ก ร่วมถักทอสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ได้ หากขจัดอุปสรรคปัญหาต่างๆ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญคือ 1. ต้องมีการเชื่อมโยงการขนส่งคมนาคม ระบบซัปพลายเชน ลอจิสติกส์ โดยต้องเชื่อมโยงกันโดยไร้อุปสรรคทางการค้า การลงทุน การร่วมมือพัฒนาแรงงาน 2. ต้องมียุทธศาสตร์การพัฒนาร่วม (Jiont development stategy) หลายประเทศมีความแตกต่างด้านความก้าวหน้าทางวิทยาการ ทรัพยากรมนุษย์ ที่จะฉุดรั้งการพัฒนา การทำแผนร่วมกันเพื่อยกระดับการพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำ พ้ฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาการของประเทศต่างๆ ให้เท่าเทียมกัน เป็นปัจจัยสำคัญของการก้าวหน้าต่อไป การค้าเสรีโดยปราศจากการยกระดับการพัฒนาถือว่าไม่ใช่การพัฒนาอย่างแท้จริง และไม่ทำให้เกิดการอยู่ดีกินดี และอาจทำให้เกิดการต่อต้านอย่างไม่ควรจะเป็น นี่เป็นเหตุผลที่ประเทศไทยได้ประกาศว่า เพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMVT จะต้องพัฒนาไปด้วยกัน เหมือนที่ท่านนายกฯ พูดว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เราจะทำยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกัน เพื่อทำให้ CLMVT แข็งแกร่งขึ้น และเชื่อมโยงไปสู่ระดับ AEC, BIMTEC ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ร่วมนี้ ชาติใหญ่อย่างญี่ปุ่น จีน อินเดีย จะเข้ามาสนับสนุนได้อย่างมีมิติสำคัญและไม่ซ้ำซ้อน มีบทบาทไม่ซ้ำซ้อนแต่สอดรับกัน นี่จึงเป็นการบูรณาการระหว่างภูมิภาค (regional integration) อย่างแท้จริง
ปัจจัยที่ 3 คือการพัฒนาทร้พยากรมนุษย์ เอเชียมีประชากรนับพันล้านคน ส่วนใหญ่ด้อยพัฒนา อ่อนแอ ไร้การศึกษา จะยิ่งอ่อนแอลง ความแตกต่างจะมากขึ้น จึงต้องแก้ไขร่วมกัน ทั้งการศึกษา แรงงาน สร้างโอกาสให้แก่ผู้ไร้โอกาส จากภาระให้เป็นสินทรัพย์แห่งเอเชีย จึงต้องร่วมจัดทำยุทธศาสตร์ร่วมกัน โดยเฉพาะญี่ปุ่น
ปัจจัยที่ 4 ภูมิภาคนี้ต้องมีสันติภาพ และความไว้ใจกัน (Peace กับ Trust) ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี หากสถานการณ์ยังรุนแรง ต้องยอมรับว่าภูมิภาคเอเชียมีประวัติศาสตร์นานนับร้อยปี หากไม่ละวางอดีต ไม่มองสู่อนาคต จะยากยิ่งที่จะเดินต่อไป เพื่อให้เอเชียมีความสงบ ชาติทั้งหลายต้องอดกลั้น ทุ่มเท ไว้ใจ เพื่อสร้างอนาคตแห่งเอเชียร่วมกัน
ท่ามกลางหมอกควันของโลกยุคเก่า ขณะนี้กลับเป็นโอกาสแห่งการจัดระเบียบโลกใหม จึงมั่นใจว่าเอเชียเป็นความหวังใหม่ โอกาสเปิดให้แล้วแก่เอเชีย แต่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างกัน
ในช่วงท้ายนายสมคิดกล่าวว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศใหญ่ แต่ได้ก้าวพ้นวิกฤตทางการเมืองให้เป็นโอกาสในการปฏิรูป เศรษฐกิจของไทยได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าปีนี้อัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 3.5 การร่วมมือทั้งเอกชนและรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ปรับกฎหมาย กฎระเบียบ ล่าสุดได้รับจัดอันดับความสามารถการแข่งขันดีขึ้นในอันดับที่ 27 ไทยพร้อมร่วมกับมหามิตร อย่างญี่ปุ่น เป็นอีกกำลังหนึ่งและมีส่วนร่วมสร้างอนาคตแห่งเอเชีย เพื่อเป็นเครื่องจักรเครื่องใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นความหวังใหม่ของโลก
รายละเอียด ปาฐกถาพิเศษ
การประชุมประจำปี International Conference on the Future of Asia ครั้งที่ 23
โดย รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ณ โรงแรมอิมพีเรียล กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
....................................................
ท่านประธาน Nikkei
ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ
ถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้มีโอกาสมาร่วมใน nikkei forum อีกครั้งหนึ่งในวันนี้
เมื่อปีที่แล้ว ผมได้เรียนให้ที่ประชุมแห่งนี้ได้ทราบถึงเมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอนที่กำลังก่อตัวในสถานการณ์โลกในขณะนั้น ขณะเดียวกันก็ได้ใช้โอกาสนั้นเล่าให้ฟังถึงพัฒนาการและการปรับตัวของประเทศไทยเพื่อรองรับสถานการณ์ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนวิกฤตการเมืองให้เป็นโอกาสแห่งการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง อีกทั้งได้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสใหม่ๆ ของความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่นทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
ท่านผู้มีเกียรติครับ
เราต้องยอมรับจริงๆ ว่าในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงหนึ่งปีที่ผ่านไปโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอนที่เริ่มก่อตัวนั้น บัดนี้ได้เพิ่มทวีขึ้นและในครั้งนี้แผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก เราได้เห็นปรากฏการณ์หลายประการที่เกิดขึ้นที่สร้างความหวั่นวิตกต่อนานาประเทศ ไม่เพียงเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ แต่ยังรวมไปถึงภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองโลกเมื่อปีที่แล้ว หากจะบอกว่า TPP จะต้องประสบกับชะตากรรมเช่นในปัจจุบันคงจะไม่มีใครยอมเชื่อ ทุกผู้คนมองว่าข้อตกลงนี้จะนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดการค้าเสรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ในเวลาไม่ถึงปีกลับถูกสลัดทิ้งอย่างไม่ไยดีจากประเทศที่เป็น ผู้ริเริ่ม และจากคำประกาศของผู้นำใหม่ของสหรัฐฯ ที่เน้นให้การปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ก่อนประโยชน์ของประเทศเหล่าพันธมิตร หรือที่เรียกกันว่า America first ติดตามมาด้วยมาตรการที่สะท้อนการเน้นการปกป้องทางการค้าเหนือการส่งเสริมการค้าเสรีเช่นในอดีต ที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยการออก executive orders ของผู้นำสหรัฐฯ ที่จะตรวจสอบเพื่อจะตอบโต้ประเทศคู่ค้าที่ได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่ประเทศส่วนใหญ่เหล่านั้นล้วนเป็นพันธมิตรที่สหรัฐฯ เคยตั้งใจเกื้อกูลให้เกิดการพัฒนาในอดีตทั้งสิ้น
ปรากฏการณ์เหล่านี้ ในด้านหนึ่งได้สร้างความสับสน สร้างความหวั่นวิตกและสร้างแรงกดดันแก่นานาประเทศในโลกให้เตรียมปรับตัวตั้งรับกับความไม่แน่นอนของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ก่อให้เกิดการขยับและเคลื่อนตัวสู่การจัดระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจและการค้าใหม่ของโลกเพื่อเป็นหนทางออกให้พ้นจากสภาพแห่งความไม่แน่นอนเหล่านี้ แม้ภาพจะยังไม่ชัดเจนนักแต่จุดเริ่มต้นได้เริ่มขึ้นแล้ว และมันกำลังเกิดที่เอเชียแห่งนี้
ท่านผู้มีเกียรติครับ
ความพลิกผันของโลกในช่วงปีที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ที่เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว การเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ก็มิได้ด้อยไปกว่ากันเลย กรณี Brexit กำลังเขย่าเอกภาพและพลังทางการเมืองของ EU อย่างรุนแรง และยังไม่มีใครจะตอบได้ชัดเจนว่า EU จะยังเหมือนเดิมหรือไม่ และยังยากที่จะสรุปได้ว่าชัยชนะของประธานาธิบดี Macron ในการเลือกตั้งของฝรั่งเศสจะสามารถหยุดยั้งกระแส anti globalization และกระแส populist ที่มุ่งสลัดตนออกจาก EU ได้หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น ในการพบปะผู้นำกลุ่มประเทศนาโต้ที่ผ่านมา ด้วยคำกล่าวของผู้นำสหรัฐฯ ที่ไม่ให้ความสำคัญต่อความเป็นปึกแผ่นของพันธมิตรดังเช่นในอดีต แต่กลับตอกย้ำอย่างไม่เกรงอกเกรงใจให้พันธมิตร G7 รับผิดชอบมากขึ้นในค่าใช้จ่ายด้านความมั่นคงของนาโต้ ซึ่งยังผลให้ผู้นำของเยอรมนีถึงกับกล่าวในภายหลังว่า ห้วงเวลาที่พวกเรา EU จะพึ่งพาคนนอก ซึ่งหมายถึงสหรัฐฯ นั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว การประชุม G7 ผ่านไปเพียงไม่กี่วัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศตัดเยื่อใยกับข้อตกลงปารีส ที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติตะวันตก คือผู้ผลักดันในอดีต
ด้วยคำกว่าที่ว่า เขา represent Pittsburg ไม่ใช่ Paris เหตุการณ์เหล่านี้ได้นำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า ภายใต้เศรษฐกิจที่เปราะบางของตะวันตกในขณะนี้ พลังการเมืองและดุลอำนาจของโลกจะเปลี่ยนไปเพียงใดเมื่อเอกภาพระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตรใหญ่ที่เคยแน่นแฟ้นตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ Globalism is at a crossroad จริงๆ และไม่มีใครหรือสถาบันใดเลยในขณะนี้ที่จะสามารถฟันธงชี้ชัดได้เลยว่า โลกในอีกหนึ่งปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
ท่านผู้มีเกียรติครับ
ความวิตกกังวลและมองโลกในแง่ร้ายไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น การก้าวไปข้างหน้าเพื่อช่วยกันแก้ไขจุดอ่อนและรักษาข้อดีของ globalization ไว้ต่างหาก น่าจะเป็นหนทางที่ถูกต้องในท่ามกลางความท้าทายจากกระแส reverse globalization และ protectionism จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่พวกเราโดยเฉพาะชาติแห่งเอเชียที่จะต้องหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกันที่จะปรับตัวปรับทิศทางให้พลังแห่งเอเชียนั้นสามารถเป็นความหวังใหม่ในการรักษาไว้ซึ่งการค้าเสรี เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจโลก ให้เอเชียสามารถเป็นแสงนำทางโลกภายใต้หมอกควันแห่งความไม่แน่นอนที่หนาทึบในขณะนี้
ท่านผู้มีเกียรติครับ
เมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคมที่ผ่านมา จีนได้ขยับตัวแล้วด้วยการจัดประชุม one belt one road อย่างเป็นทางการ ไม่เพียงนำเสนอให้เป็นแนวทางแห่งความร่วมมือระหว่างชาติในเอเชีย แต่ยังเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นๆ ในโลกทั้งยุโรป ยูเรเซีย แอฟริกา และอเมริกา แน่นอนที่สุด การผลักดันการลงทุนและการค้าเสรีย่อมติดตามมาเพื่อให้เป็น platform ใหม่แห่งการส่งเสริมการค้าเสรีของโลก ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่านี่เป็นความคิดที่ดีและสร้างสรรค์ที่ชาติต่างๆ ควรร่วมมือกัน ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้จำกัดว่าจะมีเพียงแนวทางเหล่านี้เท่านั้น หากมีแนวทางอื่นที่สร้างสรรค์และสามารถเป็นความหวังแห่งอนาคต ก็ล้วนเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน อาทิ ความพยายามของญี่ปุ่นในการผลักดันให้เกิดเขตการค้าเสรี TPP ซึ่งประกอบไปด้วยชาติพันธมิตร 12 ประเทศ แม้จะไร้ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามารถนำข้อจำกัดอันอาจเป็นอุปสรรคมาพิจารณาปรับปรุงและปรับจูนเงื่อนไข ที่จะทำให้ชาติสมาชิกทั้งหลายสามารถเข้าร่วมในการสร้างเขตเสรีการค้าดังกล่าวได้อย่างมีพลัง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น การที่ญี่ปุ่นกระโดดเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำขับเคลื่อน TPP เป็นสิ่งที่น่าชมเชยอย่างยิ่ง หรือในกรณีของแนวความคิดในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการค้าเสรี RCEP ที่ครอบคลุมกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 กับอีก 6 ประเทศใหญ่ อันได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็น่าจะมีประโยชน์อย่างสูงต่อชาติสมาชิกในเอเชียหากสามารถร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว แนวทางเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ชาติทั้งหลายในเอเชียจะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะชาติใหญ่อย่างเช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และเกาหลีใต้ ที่จะต้องเป็นหัวแรงในการนำและผลักดันในทุกวิถีทาง
ท่านผู้มีเกียรติครับ
ทั้งญี่ปุ่น จีน อินเดีย และเกาหลีใต้ ล้วนเป็นชาติใหญ่และเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งเอเชีย แต่ในความเป็นจริง พลังแท้จริงแห่งเอเชียนั้นมิได้จำกัดอยู่เพียงเท่านั้น เอเชียยังเป็นที่รวมของชาติต่างๆ ทั้งใหญ่และเล็กที่สามารถเกื้อกูลส่งเสริมต่อกัน และร่วมกันถักทอให้เป็นพลังร่วมที่ทรงพลังได้ แต่พลังแห่งเอเชียเหล่านี้ ในความเป็นจริงยังถูกจำกัดอยู่ด้วยข้อจำกัดบางประการ ซึ่งหากขจัดซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ได้ก็จะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต ซึ่งนั่นก็คือก้าวต่อไปที่ชาติในเอเชียจะต้องก้าวเดิน ในความเห็นส่วนตัวของผมแล้วปัจจัย 4 ประการดังต่อไปนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการขจัดอุปสรรคเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพแห่งเอเชีย
ประการแรก คือ การเชื่อมโยง หรือ connectivity ในภูมิภาค ทั้งในเชิงของกายภาพทั้งเส้นทางคมนาคมและการสื่อสารอย่างทั่วถึง ทั้งในเชิงของการเชื่อมโยงของ supply chain ของกระบวนการผลิตและ logistic ทั้งในเชิงของการเชื่อมโยงระหว่างกันโดยไร้อุปสรรคทางการค้า การลงทุน และแรงงาน เพื่อให้เกิดการค้าเสรีอย่างสมบูรณ์ หากขาดซึ่งการผลักดันนโยบายการเชื่อมโยงที่เหมาะสมเหล่านี้ก็ยากยิ่งที่เราจะสร้างสมรรถนะการผลิตที่ยิ่งใหญ่แห่งเอเชีย ยากยิ่งที่จะทำให้พลังชนชั้นกลางอันมหาศาลแห่งเอเชียให้เป็นทั้งผู้สร้างผลผลิตอันทรงคุณค่าและเป็นตลาดรองรับการค้าที่ยิ่งใหญ่ค้ำจุนการค้าโลก
ประการที่สอง คือ ยุทธศาสตร์ร่วมแห่งการพัฒนา (่joint development strategy) เอเชียเป็นภูมิภาคที่ประกอบด้วยประเทศอันหลากหลาย แต่ประเทศต่างๆ เหล่านี้ยังมีความแตกต่างในระดับของการพัฒนาอยู่มาก ทั้งความสามารถในการผลิต ทั้งความก้าวหน้าแห่งวิทยาการ ทั้งศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ ยิ่งประเทศยากจน แทนที่ทรัพยากรมนุษย์จะเป็นพลังอันสำคัญ กลับกลายเป็นภาระอันหนักหน่วงที่ฉุดรั้งการพัฒนา ความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระหว่างประเทศในเอเชีย เช่น ทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดความเหลื่อมล้ำ การยกระดับศักยภาพการผลิตและความก้าวหน้าทางวิทยาการของแต่ละประเทศ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะเป็นก้าวต่อไปอันสำคัญที่จะสร้างพลังแห่งเอเชียทั้งในสมรรถนะแห่งการผลิต ทั้งในศักยภาพของตลาดรองรับการค้าการลงทุน ทั้งการเป็นผู้นำแห่งนวัตกรรมและวิทยาการแห่งอนาคต ซึ่งในทางปฏิบัติสามารถขับเคลื่อนให้เกิดยุทธศาสตร์ร่วมในการพัฒนาได้ โดยเริ่มตั้งแต่ในระดับอนุภูมิภาค แล้วเชื่อมต่อในระดับที่กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Asean Bimstecs RCEP หรือ TPP แทนที่จะเน้นเพียงแค่การมุ่งสร้างเขตการค้าเสรีเท่านั้น การมุ่งสร้างและขับเคลื่อนการค้าเสรีโดยปราศจากการร่วมพัฒนาเพื่อยกระดับความสามารถของแต่ละประเทศให้สูงขึ้น ไม่เพียงไม่อาจเกื้อกูลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาชน แต่อาจก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านอย่างไม่ควรจะเป็น นี่เป็นเหตุผลที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา โดยเฉพาะ CLMVT ด้วยความพยายามผลักดันให้มีการวาง master plan ระยะยาวของยุทธศาสตร์การพัฒนาของกลุ่มประเทศ CLMVT และพยายามผลักดันให้เชื่อมโยงสู่ master plan ของ AEC BIMSTECs และอื่นๆ ในระดับกว้าง และในกระบวนการพัฒนา master plan นี้เอง ที่ชาติใหญ่อย่างเช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และเกาหลีใต้ เป็นต้น ก็จะสามารถยื่นมือเข้ามามีบทบาทได้อย่างมีนัยสำคัญในแต่ละมิติที่เหมาะสม ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์รวมและความต้องการที่แท้จริง
ความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์นี้จะเป็นก้าวที่สำคัญต่อ regional integration อย่างแท้จริงไม่ใช่เพียงแต่เพียงในนามเท่านั้น การมุ่งแต่เพียงการสร้างเขตการค้าเสรีโดยละเลยการยกระดับการพัฒนาเป็นการมองการณ์ที่ผิวเผินเกินไป และมองข้ามความสำคัญของการสร้างพลังผนึกที่สำคัญยิ่งแห่งเอเชียในอนาคต
ประการที่สาม คือ ทรัพยากรมนุษย์ ที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการสรรค์สร้างทุกสิ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็จะกลับเป็นภาระอันหนักหน่วงฉุดรั้งทุกสิ่งหากมีความล้าหลังและยากจนอ่อนแอ เอเชียมีประชากรนับพันล้านคน แต่ชาติส่วนใหญ่นั้นยังมีประชากรที่ด้อยพัฒนา ไร้การศึกษา อ่อนแอและยากจน ในโลกแห่งอนาคต ในยุคดิจิตอลที่ทุกสิ่งนำด้วยเทคโนโลยีและวิทยาการ ความอ่อนแอนี้จะยิ่งอ่อนแอลง ความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มทวี พลังร่วมแห่งเอเชียจะไม่อาจเปล่งประกายได้เลย ฉะนั้นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่นี้จะต้องถูกขจัดออกด้วยการร่วมมือในการยกระดับการศึกษา การพัฒนาทักษะแรงงาน การเตรียมบุคลากรสู่ยุคดิจิตอล การสร้างโอกาสแก่ผู้ไร้โอกาสที่มีจำนวนมหาศาล เปลี่ยนเขาเหล่านั้นจากภาระให้เป็นสินทรัพย์ที่ทรงคุณค่าแห่งเอเชีย สิ่งเหล่านี้จะเกิดไม่ได้เลยหากไร้ซึ่งยุทธศาสตร์ร่วมแห่งการพัฒนาที่ได้กล่าวมาข้างต้น และจะเกิดไม่ได้เลยหากชาติที่พัฒนาแล้วเช่นญี่ปุนไม่ยื่นมือเข้ามาให้การสนับสนุน
ประการสุดท้าย คือคำสั้นๆ 2 คำ คือ peace กับ Trust เมื่อปีที่แล้วผมได้พูดที่ forum แห่งนี้ถึงการผงาดแห่งเอเชียภายในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงหนึ่งปี ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งสินค้ากว่าครึ่งหนึ่งของโลกต้องขนผ่านคาบสมุทรแห่งนี้ ได้ก่อให้เกิดคำถามและความไม่มั่นใจว่ามันจะกระทบต่อเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกและ Asia pacific เพียงใด หากสถานการณ์ทวีความรุนแรง เอเชียตะวันออกที่เคยค้ำจุนเอเชียจะยังทำได้อยู่หรือ เราต้องยอมรับว่าภูมิภาคเอเชียประกอบด้วยชาติต่างๆ ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานนับร้อยนับพันปี แน่นอนที่สุด ในช่วงเวลาที่ยาวนานนี้ ย่อมต้องมีทั้งห้วงเวลาที่ดีและห้วงเวลาแห่งความขัดแย้ง หากไม่ละวางอดีต ติดยึดในอัตตา ไม่มองสู่อนาคต ยากยิ่งที่จะร่วมกันเอาชนะอุปสรรคเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่า เราต้องยอมรับว่าเพียงเวลาไม่นานไม่กี่ทศวรรษที่เอเชียมีความสงบ และความสงบนี้เองนำมาซึ่งการพัฒนา ฉะนั้นชาติทั้งหลายในเอเชียจะต้องทุ่มเทในทุกวิถีทางในการรักษาสันติภาพและมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันเพื่อสร้างอนาคตแห่งเอเชียร่วมกันให้จงได้
ท่านผู้มีเกียรติครับ
ภาษิตโบราณกล่าวไว้ว่า ในทุกวิกฤตการณ์ ล้วนเป็นที่มาแห่งโอกาส ในท่ามกลางหมอกควันแห่งความไม่แน่นอนและความสั่นคลอนของระเบียบโลกเก่า แม้สร้างความหวั่นวิตกที่ซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง แต่ก็เป็นโอกาสแห่งการจัดระเบียบโลกใหม่ที่ผมมั่นใจว่าเอเชียจะทวีบทบาทสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เอเชียจะเป็นความหวังใหม่ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โอกาสเปิดให้แล้วต่อเอเชีย จะมากหรือน้อยขึ้นกับความร่วมมือระหว่างกัน และการแบกรับในภารกิจและความรับผิดชอบใหม่แห่งอนาคตร่วมกัน
ท่านผู้มีเกียรติครับ
ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัย Harvard เมื่อเร็วๆ นี้ Mark Zuckerberg แห่ง Facebook ได้รับเชิญให้เป็นผู้กล่าวในวันนั้น ในวันนั้น Mark ได้กล่าวถึงคำคำหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือ การรับรู้ในเป้าหมาย หรือ sense of purpose เขากล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า ทุกคนล้วนมีเป้าหมายและต่างก็แสวงหาหนทางที่จะบรรลุถึงเป้าหมายของตน แต่คำจำกัดความของคำว่า เป้าหมาย นั้น ต้องขยายให้กว้างออกไปหากเราต้องการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือ การให้ทุกคนร่วมรับรู้ในเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่ารับรู้ว่าตนเองมีความสำคัญไม่ว่าจะเล็กหรือจะใหญ่ รับรู้ในการที่ตนมีความสำคัญและเป็นที่ต้องการให้มีส่วนร่วม การรับรู้ หรือ sense of purpose นี้จะทำให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ในการทำงานร่วมกันเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เขากล่าวว่า เขาทำสำเร็จในองค์กรของเขา คือ Facebook และขณะนี้เขารู้ว่าเขามีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น คือ ทำให้โลกในส่วนที่ขาดแคลนและถูกละเลยดีขึ้น และเขากำลังชักชวนให้ทุกผู้คนที่เขารู้จักมาร่วมรับรู้ในเป้าหมายนี้ร่วมกันเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ท่านผู้มีเกียรติครับ
บทบาทและภารกิจใหม่ของเอเชียนั้น ยิ่งใหญ่กว่าเป้าหมาย หรือ purpose ของแต่ละประเทศ sense of purpose หรือการร่วมรับรู้ในเป้าหมายที่ใหญ่กว่าและการเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้นเท่านั้น จึงจะสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ได้
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศใหญ่ เราเป็นประเทศเล็กๆ ที่สามารถเปลี่ยนวิกฤตการณ์ทางการเมืองให้เป็นโอกาสในการปฏิรูปประเทศ ในขณะนี้ไทยได้ก้าวพ้นจากความถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนวิกฤติการเมืองในอดีตให้เป็นโอกาสแห่งการปฏิรูปในทุกมิติ ภายหลังจากการทำงานอย่างหนักในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 0.8% ในปี 2014 เป็น 3.2% เมื่อปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะอยู่ในช่วง 3.5 หรือสูงกว่าในปีนี้
การผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการริเริ่มโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่หยุดมานาน อีกทั้งความพยายามในการปรับปรุงกฎระเบียบ การออกกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกต่อนัหลงทุน ลำดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้รับการจัดลำดับที่ดีขึ้นโดยลำดับ โดยในปีนี้ IMD ได้ขยับให้ลำดับดีขึ้นไปอีก 1 อันดับ ในอันดับที่ 27
ท่านผู้มีเกียรติครับ
ถึงแม้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญ แต่ประเทศไทยก็ตระหนักและร่วมรับรู้อยู่เสมอ ในเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือการที่จะต้องร่วมกับมิตรประเทศทั้งหลายในเอเชีย โดยเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมหามิตรของไทย ในการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรืองของภูมิภาคแห่งนี้ ประเทศไทยพร้อมเสมอที่จะเป็นอีกกำลังหนึ่งที่จะแบกรับความรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตใหม่แห่งเอเชีย เพื่อเป็นความหวังใหม่ให้กับโลก
ขอบคุณครับ