“เทวินทร์” เผยเตรียมทบทวนแผนการลงทุนกลุ่ม ปตท.ใน 5 ปีนี้ (2560-64) วงเงินรวม 1.6 ล้านล้านบาท รองรับสถานการณ์และสนองนโยบายรัฐตามแผนพัฒนา EEC สนพ.เผย ปตท.ส่งผลศึกษาโครงการFSRU 3 ล้านตันที่พม่า เตรียมชง กบง.อนุมัติเร็วๆ นี้
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมทบทวนงบการลงทุน 5 ปีข้างหน้าของเครือฯ (2560-2564) วงเงินรวม 1.6 ล้านล้านบาทในกลางปีนี้ เพื่อให้สอดรับสถานการณ์ต่างๆ และสอดรับแผนนโยบายภาครัฐที่จะสนับสนุนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
กลุ่ม ปตท.มีแผนลงทุนโครงการต่างๆ ในพื้นที่ EEC หลายโครงการ ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทในเครือฯ จะทยอยเสนอขออนุมัติการลงทุนโครงการต่างๆ มายังบอร์ด ปตท.ด้วย โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) มีแผนลงทุนโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ (มาบตาพุด เรโทฟิท) โดยวางงบลงทุน 5 ปีใน EEC ถึง 1.5 แสนล้านบาท, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) มีโครงการลงทุนโรงงานผลิตพาราไซลีนขนาด 1 ล้านตัน/ปี บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ก็อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ CFP ทำให้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน และบริษัท โกลบอล กรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) มีแผนลงทุนโครงการเมทิลเอสเตอร์ แห่งที่ 2 จังหวัดชลบุรี และแผนขยายโรงกลั่นกลีเซอรีนเพิ่มเติม
ส่วน ปตท.เองก็มีแผนลงทุนโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แห่งที่ 1 เฟส 2 ที่จะขยายคลังรองรับจาก 10 ล้านตันเป็น 11.5 ล้านตัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 และคลังแอลเอ็นจี แห่งที่ 2 อีก 7.5 ล้านตัน เงินลงทุน 3.8 หมื่นล้านบาท จะแล้วเสร็จปี 2565 และพัฒนาศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ณ วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง
ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ทาง สนพ.ได้รับรายงานผลการศึกษาโครงการก่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (FSRU) ในประเทศพม่า ขนาด 3 ล้านตันต่อปี จาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แล้ว หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มอบหมายให้ ปตท.ไปดำเนินการศึกษาในรายละเอียดความจำเป็นของโครงการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พ.ค. 2560
เบื้องต้นพบว่าโครงการ FSRU ขนาด 3 ล้านตันในพม่า มีความเป็นไปได้ในการลงทุน โดยจุดที่จะมีการเชื่อมท่อก๊าซเข้ากับคลังแอลเอ็นจีที่บริเวณเมืองกันบ็อก (Kanbouk) ของพม่าอยู่ไม่ไกลจากเมืองทวาย ทำให้ประเทศไทยสามารถรับแอลเอ็นจีนำเข้าได้ 2 จุด คือ ฝั่งอ่าวไทยที่มาบตาพุด จ.ระยอง และ FSRU จากพม่า โดย ปตท.มีแผนซื้อแอลเอ็นจีระยะยาวในโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ที่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ถือหุ้น 8.5%
ทั้งนี้ โครงการ FSRU ในพม่า ยังไม่สรุปรายละเอียดการลงทุนต้องรอความชัดเจนใน 2 ประเด็น คือ สัดส่วนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลพม่ากับ ปตท. หากรัฐบาลพม่าเข้าร่วมลงทุนจะทำให้โครงการเดินหน้าได้รวดเร็วและเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่หากว่ารัฐบาลพม่าไม่ร่วมลงทุนโครงการนี้ ทาง ปตท.ก็มีศักยภาพลงทุนได้ทั้งหมด และล่าสุดยังมีบริษัทเอกชนต่างชาติหลายรายที่สนใจร่วมลงทุนด้วย รวมทั้งรอความชัดเจนการคิดอัตราค่าผ่านท่อก๊าซ ซึ่งตามมติ กพช.โครงการดังกล่าวจะจ่ายก๊าซฯ ได้ในปี 2570
นายประเสริฐกล่าวต่อไปว่า สนพ.คาดว่าจะนำผลการศึกษาโครงการดังกล่าวรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาในเร็วๆ นี้ และนำเสนอที่ประชุม กพช.พิจารณาปลายเดือน ก.ค.นี้
ส่วนกรณีที่ภาครัฐมีแนวคิดให้ ปตท.ศึกษาขยายคลังรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ระยะที่ 1 เพิ่มขึ้นจาก 11.5 ล้านตัน เป็น 15 ล้านตัน เพื่อรองรับวิกฤตก๊าซฯ ในปี 2564-2566 นั้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจำเป็นต้องมีการขยายเพิ่มหรือไม่ โดยขอประเมินสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของประเทศอีกครั้ง หลังจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในปีนี้ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ความต้องการใช้แอลเอ็นจีลดลง รวมถึงยังต้องรอดูความชัดเจนผลการเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหมดอายุ 2 แหล่ง คือ เอราวัณ และบงกช ซึ่งหากผู้ได้ชนะมูลรายเดิมอาจช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤตก๊าซฯ ในช่วงปี 2564-2566 ลงได้