xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแนะตัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในร่าง พ.ร.บ.น้ำมันฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิงส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะคงกองทุนน้ำมันฯ ไว้ แต่ให้ตัดวัตถุประสงค์ที่จะใช้เงินกองทุนไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ เว้นเครือข่ายภาคประชาชนเสนอให้ยุบ “สนพ.” เตรียมรวบรวมก่อนเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอน



วันนี้ (1 มิ.ย.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น “ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.....” ที่สโมสรทหารบก ซึ่งส่วนใหญ่ต่างท้วงติงมาตรา 5 ว่าด้วยวัตถุประสงค์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีความเห็นหลากหลาย ทั้งไม่เห็นด้วยทั้งฉบับและไม่เห็นด้วยในบางมาตรา

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.น้ำมันฯ ดังกล่าวนั้นเห็นด้วยที่ต้องมีกฎหมายมารองรับจากสิ่งที่ปฏิบัติอยู่แล้วที่กำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ มีวัตถุประสงค์ 1. รักษาเสถียรภาพระดับราคา 2. สนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ 3. บรรเทาผลกระทบผู้มีรายได้น้อยแต่ไม่เห็นด้วย ข้อ 4-5 ที่ให้สนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนการลงทุนสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากอดีตไทยไม่เคยเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำมันมีแต่ราคาแพงเท่านั้น และยังไม่มีการระบุวิธีการใช้เงินเพื่อการลงทุนให้ชัดเจนอาจเปิดโอกาสให้เงินรั่วไหลได้

นายมนูญ ศิริวรรณ กรรมาธิการในคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการบรรจุวัตถุประสงค์ข้อ 4-5 และเห็นว่ากระทรวงพลังงานควรทบทวนใหม่เพราะถึงอย่างไรก็ปฏิบัติไม่ได้เนื่องจากวงเงินกองทุนน้ำมันถูกกำหนดไว้ไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท และในจำนวนดังกล่าวให้กู้ได้เพียง 2 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นวงเงินที่คงไม่สามารถดำเนินงานไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอ

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ตัวแทนมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ได้มอบหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อฝากให้ถึง รมว.พลังงานเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวทั้งฉบับ และควรจะยกเลิกไปเสียเนื่องจากไม่มีเหตุใดที่ควรคงไว้เนื่องจากทิศทางราคาน้ำมันขณะนี้ไม่ได้แพง ขณะเดียวกันรัฐยังมีเงินจากภาษีปิโตรเลียม ค่าภาคหลวง ภาษีสรรพสามิตที่เก็บไปแล้วนำมาดูแลผู้มีรายได้น้อยได้ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นหน้าที่รัฐที่ต้องลงทุนโดยจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ขณะที่การดูแลเชื้อเพลิงชีวภาพก็มีกฎหมายอื่นรองรับแล้ว

นายสาโรจน์ พุทธธรรมเวที รองประธานกลุ่มโรงกลั่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้แต่มีความเห็นในรายละเอียดต่างกันไป เช่น คำนิยามแอลพีจีควรกำหนดให้ชัดเจนไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อวัตถุดิบปิโตรเคมีที่ต้องจ่ายกองทุนน้ำมันฯ ทำให้เป็นภาระเพิ่มขึ้น โดยควรกำหนดแอลพีจีมีเพียงโพนเพน และบิวเทนเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ไม่ควรกำหนด

ตัวแทนจาก บมจ.ปตท.กล่าวแสดงความเห็นว่า ควรจะปรับกฎหมายให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะในอนาคตว่าก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ว่าจะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ หรือไม่อย่างไรด้วย
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้ามาร่วมรับฟังความเห็นในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จากนี้ทาง สนพ.จะรวบรวมและสรุปนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอนเพื่อนำเสนอกฤษฎีกาและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งหากไม่มีปัญหาอะไรน่าจะประกาศใช้ได้ภายในไม่เกินปีนี้

“ร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้จะมีการแยกบัญชีกองทุนน้ำมัน แบ่งเป็น เบนซิน ดีเซล เอ็นจีวี แอลพีจี แต่ละกลุ่มจะดูแลตัวเองจะไม่มีการนำเงินมาอุดหนุนไขว้กลุ่มกัน อย่างไรก็ตาม ในการดูแลผู้มีรายได้น้อยส่วนแอลพีจีกับเอ็นจีวีขณะนี้กำลังหารือคลังว่าเงินส่วนนี้ใครจะเป็นผู้อุดหนุน” นายทวารัฐกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น