เครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างฯ ร้อง สธ. บรรจุข้าราชการด้วย เหตุตกค้างตั้งแต่ปี 2551 เผย ปี 2560 ไม่มีบรรจุเภสัชกรเป็นข้าราชการเลยแม้แต่คนเดียว ยันจำนวนเภสัชกรไม่ได้เยอะว่าภาระงานอย่างที่เข้าใจ ด้าน สธ. เร่งแก้ปัญหาบรรจุข้าราชการ ลดอัตราว่างเหลือ 2 - 3% ย้ยึดตามเกณฑ์การบรรจุเดิม
วันนี้ (1 มิ.ย.) เครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างแห่งประเทศไทย ประมาณ 30 คน เดินทางมาที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อยื่นหนังสือถึง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. โดยเรียกร้องให้มีการบรรจุเภสัชกรลูกจ้างเป็นข้าราชการ โดยมี นายชัยชนะ วีระชาติ เลขานุการ นพ.สมศักดิ์ เป็นผู้รับมอบ
ภก.วีรวุฒิ สุมา ประธานเครือข่ายเภสัชกรลูกจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ยังมีความต้องการเภสัชกรอยู่กว่า 2,000 คน ไม่ใช่ว่าจำนวนเภสัชกรเยอะกว่าภาระงานอย่างที่เข้าใจ และเมื่อดูจากข้อมูลแผนการบรรจุข้าราชการ สธ. ปี 2560 ที่เพิ่งออกมา ก็พบว่า ไม่มีการบรรจุเภสัชกรเป็นข้าราชการเลย ทั้งๆ ที่มีเภสัชกรในสังกัดตกค้างมาตั้งแต่ปี 2551 อยู่ 380 อัตรา ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้ สธ. พิจารณาบรรจุเภสัชกรเป็นข้าราชการด้วย โดยทยอยบรรจุเหมือนที่ผ่านมาปีละ 100 - 150 อัตราก็ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวันนี้ นพ.สมศักดิ์ ติดภารกิจจึงไม่สามารถหารือกันได้ แต่ได้นัดหารือกันอีกครั้งในวันที่ 5 มิ.ย. นี้ ซึ่งหากผลการหารือออกมาเป็นลบ กลุ่มเภสัชกรอาจจะมีการยื่นหนังสือเรียกร้องขอความเห็นใจไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป
“งานเภสัชกรไม่ใช่แค่ทำหน้าที่จ่ายยาในห้องยาก็จบไป แต่ยังมีหน้าที่อีกมากที่คนทั่วไปไม่รู้ เช่น การทำงานในหอผู้ป่วยในเพื่อติดตามผลกระทบจากการใช้ยาต่างๆ มีการปรุงยารักษามะเร็ง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงสำหรับเภสัชกรเอง รวมถึงการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ออกตรวจสอบการขายยาผิดกฎหมายในรูปแบบต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นความเสี่ยงหนักสำหรับเภสัชกร ในขณะที่ค่าตอบแทน และสวัสดิการสำหรับเภสัชกรลูกจ้างและข้าราชการนั้นยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก” ภก.วีรวุฒิ กล่าว
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการออกมาเรียกร้องการบรรจุตำแหน่งข้าราชการของวิชาชีพอื่นๆ ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติบรรจุตำแหน่งข้าราชการให้แก่พยาบาลวิชาชีพ ว่า บุคลากรสาธารณสุขมีประมาณ 4 แสนคน เป็นข้าราชการประมาณ 2 แสนคน เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขอีกประมาณ 1 แสนคน ที่เหลืออยู่เป็นพนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งใช้เงินงบประมาณ เงินบำรุงของกระทรวงฯ อีกประมาณ 1แสนคน โดยตั้งแต่ปี 2555 มีการกำหนดกันแล้วว่า มีวิชาชีพใดบ้างที่จะได้บรรจุเป็นข้าราชการเต็ม 100% อาทิ แพทย์ นักเทคโนโลยีหัวใจ ฯลฯ ส่วนพยาบาลบรรจุเป็นข้าราชการ 90 - 100% และสายวิชาชีพอื่นๆบรรจุเป็นข้าราชการ 75%
“ทั้งหมดเป็นหลักการที่ตกลงกันมาก่อนหน้านี้ เมื่อมาถึงปัจจุบัน จะมีเรื่องอัตราว่าง อาทิ เกษียณอายุราชการ ฯลฯ ซึ่งหลายคนอาจไม่เข้าใจ ว่า ทำไมยังมีอัตราว่าง ก็เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในตำแหน่ง แต่พอพูดว่ากระทรวงสาธารณสุขมีอัตราว่างหมื่นกว่าคน ฟังดูน่าตกใจ แต่จริงๆ เรามีบุคลากรที่เป็นข้าราชการกว่า 2 แสนคน หากคิดแล้วอัตราว่างดังกล่าวอยู่แค่ 5.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนคนก็ไม่ได้มากนัก แต่เราก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำอะไรเลย เพราะเราตั้งเป้าในการบริหารจัดการเรื่องอัตราว่างให้อยู่ที่ประมาณ 2 - 3 เปอร์เซ็นต์ ให้น้อยกว่าเดิมอีก ซึ่งตรงนี้ทางฝ่ายกำลังคนอยู่ระหว่างดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย” นพ.ปิยะสกล กล่าว
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในส่วนของพยาบาลนั้น หลายคนกังวลว่า ทุก 5 ปี จะมีปัญหาเรื่องการบรรจุข้าราชการอีกเป็นแน่ ซึ่งจะพยายามไม่ให้เกิดปัญหานี้อีก เพราะฉะนั้นการบริหารอัตรากำลังต้องมองไปข้างหน้า ต้องมองถึงความเหมาะสมของอัตรากำลังที่จะเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น ในการขอครั้งนี้จึงมีเป็นเรื่องที่ยั่งยืนพอสมควร คาดว่าอีก 5ปีข้างหน้าไม่น่าจะเกิดปัญหาอีก อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่า มีประเด็นเมื่อพยาบาลได้อัตรากำลัง ก็อาจมีบางวิชาชีพมองว่า เพราะเหตุใดทางกลุ่มยังไม่ได้ ก็ต้องกลับไปมองถึงข้อกำหนดอัตรากำลังของแต่ละวิชาชีพ ซึ่งจะมีสัดส่วนในการบรรจุข้าราชการตามแต่ละวิชาชีพที่เคยตกลงกันก่อนหน้านี้แล้ว จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ที่วางเอาไว้ อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวง ใช้เงินบำรุงในการจ้างคนมากพอสมควร ตรงนี้เองก็ต้องปรับสมดุลให้ดี ตรงนี้สธ. กำลังพัฒนาในเรื่องรายรับ รายจ่ายของโรงพยาบาล และเราเน้นในเรื่องประสิทธิภาพประสิทธิผลการบริหารจัดการของโรงพยาบาลมาก และเรากำลังดำเนินการอยู่
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีพยาบาลมีภาระงานมาก ซึ่งหลายครั้งไม่ใช่หน้าที่ของพยาบาล นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะนี้ สธ. มีนโยบายสร้างผู้ช่วยพยาบาล เพื่อทำงานช่วยพยาบาล ทั้งงานด้านเอกสาร การส่งตรวจ ฯลฯ จะมาช่วยในส่วนนี้ เพื่อให้พยาบาลได้ทำงานของตนเองจริงๆ