xs
xsm
sm
md
lg

“น้องนุ๊ก” ยิ้มทั้งน้ำตา!! ผลตรวจเลือดไม่ติดเชื้อ “เอชไอวี” จ่อคุย สธ.5 มิ.ย.นี้ บี้ตั้งสอบวินัยร้ายแรงวินิจฉัยพลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“น้องนุ๊ก” ลุ้นทั้งน้ำตา ตรวจเลือดกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์พิสูจน์ความจริงติดเชื้อ “เอชไอวี” หรือ รพ. ตรวจพลาด สุดท้ายได้เฮ ผลออกมาไม่ติดเชื้อ รอผลตรวจระดับ RNA-DNA อีก 2 วัน เพิ่มความกระจ่าง ก่อนนำผลหารือกับ สธ. 5 มิ.ย. นี้ พร้อมเวชระเบียนเก่าที่ยังขาดไป ด้านทนายสงกานต์ จี้ สธ. ตั้งสอบวินัยร้ายแรง เป็นคดีตัวอย่าง ขณะที่ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ เผย ปี 50 ค่าภูมิคุ้มกันต่ำน้องนุ๊กต่ำมาก วินิจฉัยเป็นโรคอื่นได้ยาก รับผลตรวจเอชไอวีเป็นบวกลวงเกิดได้หนึ่งในพัน

ความคืบหน้ากรณีหญิงสาวร้องเรียนผ่าน นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความชื่อดัง เพื่อขอความเป็นธรรมต่อกรณีโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วินิจฉัยผิดพลาดว่าติดเชื้อเอชไอวี แต่เมื่อมาตรวจอีกครั้งกับสภากาชาดไทย กลับไม่พบว่า มีการติดเชื้อแต่อย่างใด ทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างทรมานมาโดยตลอดตั้งแต่เด็ก โดย สธ. อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงและจะเชิญบุคคลทั้งสองเข้าหารือหลังจากทราบผลตรวจเลือดอีกครั้ง

วันนี้ (1 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย น.ส.สุทธิดา แสงสุมาตร หรือ นุ๊ก อายุ 23 ปี ผู้ได้รับความเสียหายจากกรณีการตรวจเชื้อเอชไอวีผิดพลาดตั้งแต่เด็ก เดินทางมาพร้อมกับ นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความ เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีอีกครั้ง ซึ่งระหว่างเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจนั้น น.ส.สุทธิดา ถึงกับร่ำไห้กับการลุ้นผลตรวจในครั้งนี้ เพราะจะเป็นการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า มีการติดเชื้อเอชไอวีจริงหรือไม่ จากนั้นจึงแถลงข่าวผลการตรวจเลือดร่วมกับ ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และ นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข ผู้แทนปลัด สธ.

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า การตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีในครั้งนี้ ใช้ทั้งหมด 5 วิธีในตรวจ คือ 1. Rapid Test เป็นการตรวจแบบรวดเร็ว ใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาทีก็ทราบผล 2. การตรวจหาแอนติบอดี หรือ ภูมิคุ้มเคยต่อเชื้อ ใช้เวลาประมาณ 40 นาที จึงทราบผล 3. ตรวจหาสายพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี หรือ NAT 4. การตรวจระดับลึกแบบ RNA และ 5. การตรวจระดับลึกถึง DNA ซึ่ง 3 วิธีหลังจะทราบผลในอีกประมาณ 2 - 3 วัน ซึ่งเมื่อทราบผลตรวจทั้งหมดแล้วก็จะประสานส่งข้อมูลให้กับผู้เสียหายและทาง สธ. ซึ่งจะมีการหารือกันในวันที่ 5 มิ.ย. นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยวิธี Rapid Test และตรวจหาแอนติบอดี ผลออกมาเป็นลบ หรือ เนกาทีฟ คือ ไม่พบเชื้อเอชไอวี ทำให้ น.ส.สุทธิดา ถึงกับยิ้มออกว่าตนไม่ได้มีการติดเชื้อ

น.ส.สุทธิดา กล่าวว่า ตนจำความไม่ได้ว่า มีการติดเชื้อตั้งแต่เมื่อไร และมีการตรวจหาการติดเชื้อตั้งแต่ตอนไหน เพราะยังเด็กอยู่ แต่เท่าที่จำได้คือเมื่อปี 2545 หรืออายุประมาณ 8 ขวบ ก็ทราบว่า ตนเองมีเชื้อเอชไอวีอยู่แล้ว ส่วนการรับประทานยาต้านไวรัสนั้น ตนก็จำไม่ได้อีกว่าได้รับยามาทานครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไร แต่จำได้ว่าช่วงประถมศึกษาก็มีการกินยาแล้ว โดยกินทุกวันเช้าเย็นมาตลอด ซึ่งนับตั้งแต่ทราบว่าติดเชื้อเอชไอวี การใช้ชีวิตที่ผ่านมาก็ทุกข์ทรมานอย่างมาก เพราะถูกสังคมตีตรา ถูกเพื่อนๆ และญาติรังเกียจ ความฝันที่อยากเป็นแพทย์ก็ยุติลง เพราะไม่อยากไปเรียน เนื่องจากถูกกดดันอย่างหนัก จึงต้องแกล้งป่วยเพื่อไม่ไปเรียน นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากการรับประทานยาต้านไวรัส ทั้งมีอาการปวดหัวและผมร่วง

น.ส.สุทธิดา กล่าวว่า ส่วนตอนที่ทราบว่าตนไม่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย คือ ตอนตั้งครรภ์ครั้งแรกเมื่อปี 2555 โดยมีการตรวจถึง 2 รอบกับ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ผลออกมาเป็นลบ คือ ไม่มีเชื้อ ซึ่งแพทย์ระบุว่าหากจะให้มั่นใจให้มาตรวจกับสภากาชาดไทย ซึ่งเมื่อมาตรวจแล้วก็พบว่าไม่มีเชื้อเช่นกัน จึงเลิกรับประทานยาต้านไวรัสมาตั้งแต่ปีดังกล่าว ต่อมาเมื่อปี 2558 ได้ตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง เมื่อตรวจอีกก็ไม่พบเชื้อเช่นกัน และเมื่อจะร้องเรียน จึงได้มีการมาตรวจอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2560 ที่สภากาชาดไทยก็ไม่พบเชื้อเช่นกัน ส่วนการมาตรวจในวันนี้ก็เพื่อให้รู้แน่ชัดเลยว่า ตนไม่มีเชื้อเอชไอวีจริงๆ และก็รู้สึกดีใจที่ผลออกมาว่าตนไม่มีเชื้อ ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้ลูกทั้งสองของตนได้มีที่ยืนในสังคม ส่วนตอนนี้จะขอความเป็นธรรมก่อนว่าไม่ได้เป็นผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวี แต่กลับต้องได้รับผลกระทบจากการวินิจฉัยดังกล่าว

นายสงกานต์ กล่าวว่า ในวันที่ 5 มิ.ย. นี้ ที่จะมีการเข้าไปหารือกับทาง สธ. จะเรียกร้องให้ สธ. ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงกับแพทย์และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกรณีประมาทเลินเล่อ เพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง และให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศมีความระมัดระวัง และไม่ประมาท โดยขอให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ตรวจสอบเพื่อความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม เรื่องข้อมูลเวชระเบียนก่อนปี 2550 ว่า มีการตรวจการติดเชื้อเมื่อไร จ่ายยาครั้งแรกเมื่อใดนั้น รพ. ที่ตรวจรักษาใน จ.ร้อยเอ็ด ระบุว่า ทำลายไปแล้ว แต่ล่าสุดเพิ่งมาบอกว่าหาเอกสารเจอแล้ว ซึ่งทั้งหมดจะนำมาหารือกันในวันที่ 5 มิ.ย. นี้

เมื่อถามว่า การตรวจเชื้อในอดีตมีโอกาสผิดพลาดหรือไม่ ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนคงตอบไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่าตอนตรวจครั้งแรกเป็นอย่างไร หากการตรวจครั้งนี้ออกมาว่าไม่มีเชื้อก็คือไม่มีเชื้อ ก็จะประกาศกับสังคมได้เลยว่าไม่มีการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การตรวจหาเชื้อเอชไอวีระหว่างในอดีตและปัจจุบันมีความแตกต่างกัน โดยปัจจุบันการตรวจก็จะมีความไวกว่า อย่างไรก็ตาม การตรวจเชื้อมีโอกาสเกิดผลบวกลวงหรือผลลบลวงได้ ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นหนึ่งในพัน ดังนั้น แม้ผลจะออกมาเป็นบวกก็ต้องมีการตรวจซ้ำ แต่ไม่ได้หมายความว่าตรวจซ้ำแล้วจะไม่มีโอกาสผิดพลาดเลย แต่โอกาสก็เกิดขึ้นเพียง 1 ในล้านเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า การรับยาต้านไวรัสแต่ละครั้งต้องมีการตรวจค่าระดับภูมิต้านทาน (CD4) หรือไม่ ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ผู้เสียหายมีอยู่ คือ ช่วงปี 2550 เป็นต้นมา ค่า CD4 อยู่ที่ประมาณ 122 ถือว่าต่ำมาก ซึ่งปกติคนเราค่า CD4 จะอยู่ที่ประมาณ 500 ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ตนไม่เห็นข้อมูลผลการตรวจเชื้อเอชไอวีและค่า CD4 ก่อนหน้าปี 2550 ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งการที่ค่า CD4 ต่ำเช่นนี้ประกอบกับมีผลตรวจว่าเป็นบวกเมื่อช่วงปี 2543 - 2545 ก็ทำให้แพทย์สงสัยว่าเกิดการติดเชื้อเอชไอวีได้มากขึ้น เพราะเมื่อองค์ประกอบของข้อมูลเป็นเช่นนี้ การจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคอื่นก็เป็นไปได้ยาก จึงมีการจ่ายยาต้านไวรัส ซึ่งก็ถือเป็นการทำตามมาตรฐาน

เมื่อถามต่อว่า ผลตรวจออกมาว่าไม่ได้มีการติดเชื้อ การที่ค่า CD4 ตกลงเกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า อาจตกลงมาได้บ้างในคนเป็นไข้หวัด หรือติดเชื้อไวรัสบางอย่าง แต่ก็ไม่น่าจะต่ำขนาดนี้ ส่วนเรื่องผลข้างเคียงของยาต้านไวรัสนั้น เท่าที่ดูจากสูตรยาที่รับประทาน อาการข้างเคียงก็ถือว่าพอมี แต่เท่าที่ประเมินจากภายนอกก็ไม่พบว่ามีอาการข้างเคียงจากยาแต่อย่างใด เพราะก็ยังดูแข็งแรงดี ซึ่งผลข้งเคียงบางอย่างที่เห็นชัดเจน คือ แก้มตอบ ขาลีบ โดยการเจาะเลือดตรวจในครั้งนี้ก็จะประเมินผลข้างเคียงจากยาด้วย แต่ยืนยันว่า ยาสูตรที่รับประทานไปนั้น ไม่มีผลข้างเคียงต่อตับและไตอย่างที่เข้าใจ แต่อาจมีอาการปวดหัวได้บ้าง ส่วนที่ น.ส.สุทธิดา ระบุว่า มีอาการผมร่วงตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ส่วนประวัติเท่าที่ทราบตอนนี้ คือ มีการกินยาตั้งแต่ปี 2550 - 2551 และกินมาตลอดจนปี 2555 และมีการหยุดยาไป ซึ่งตอนนี้กลับมาผมร่วงมากอีก ยืนยันได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับยาแน่นอน อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นอยากให้เป็นบทเรียนว่า ไม่ว่าจะติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ คนในสังคมไม่ควรไปตีตรา









กำลังโหลดความคิดเห็น