xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : 5 วิธีดูแลตัวเอง ป้องกันอาการโรคหืดกำเริบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฆษกกระทรวงสาธารณสุขเผยสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน มีผลทำให้คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคหืดเพิ่มขึ้น แนะ 5 วิธีดูแลตัวเอง ป้องกันและไม่ให้อาการของโรคกำเริบขึ้น

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคหืด (Asthma) หรือหอบหืด เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยพบในเด็กมากถึงร้อยละ 10-12 ของเด็กทั้งหมด ส่วนผู้ใหญ่พบร้อยละ 6.9 ของประชากร จากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2558 พบผู้ป่วยโรคหืด จำนวน 115,577 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

การที่คนไทยมีแนวโน้มเป็นโรคหืดมากขึ้น มีปัจจัยจากพันธุกรรมร่วมกับสิ่งกระตุ้นต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งกระตุ้นประเภทสารก่อภูมิแพ้ เช่น ควันบุหรี่ ควันพิษจากสิ่งแวดล้อม ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสรดอกไม้ สปอร์เชื้อรา ขนหรือสะเก็ดรังแคผิวหนังของสัตว์เลี้ยง สารเคมีในที่ทำงาน การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ อากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย หรือการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เป็นต้น

นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบัน โรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการของโรคให้สงบได้ และสามารถใช้ชีวิตได้เช่นเดียวหรือใกล้เคียงกับคนปกติ โดยการดูแลตนเองและให้ความร่วมมือกับแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังนี้

1. ตรวจสอบการหายใจ หรือสัญญาณเบื้องต้นก่อนที่อาการจะกำเริบ เช่น ไอ แน่นหน้าอก เหนื่อย หายใจ มีเสียงวี้ด ให้รีบพบแพทย์
2. รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม เพื่อป้องกันโรคที่เป็นตัวกระตุ้นอาการของโรคหืด
3. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ สถานที่ที่มีฝุ่นควันและมลพิษ
4. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้มีอาการหวัดเรื้อรัง หรือไซนัสอักเสบ
5.พบแพทย์และรับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการใช้ยา เพื่อควบคุมอาการกำเริบอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้

ทั้งนี้ อาการของโรคหืด จะแตกต่างกันไป เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจแล้วมีเสียงวี้ด เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ไอ เป็นต้น บางรายจะมีอาการเป็นพักๆ แล้วหาย แต่บางรายเป็นอย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถคาดเดาได้ ส่วนใหญ่มักมีอาการช่วงกลางคืน

หากมีอาการหายใจหอบถี่ หรือหายใจลำบาก มีเสียง อาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว ใช้อุปกรณ์พ่นยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือหายใจหอบเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังร่างกายเพียงเล็กน้อย ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน หากช้าอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 198 มิถุนายน 2560 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น