xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : กรมควบคุมโรค ชวน “เข้าวัด ทำบุญ ไล่ยุงวิถีพุทธ” แนะ “5 วิธีสร้างบุญทุกวันพระ” ป้องกันโรคติดต่อจากยุงลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยช่วงนี้มีฝนตก ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชน “เข้าวัด ทำบุญ ไล่ยุงวิถีพุทธ” ด้วย 5 วิธีสร้างบุญทุกวันพระ (ทุก 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ) ป้องกันโรคติดต่อจากยุงลาย โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก และขอประชาชนเตรียมพร้อม 3 เรื่องสำคัญในช่วงฤดูฝนนี้ คือ การป้องกันการถูกยุงกัด การเฝ้าระวังอาการของโรค และการไปพบแพทย์เร็วเมื่อป่วย

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และทำให้ยุงลายมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคที่มาจากยุงลายเพิ่มจำนวนขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ที่พบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน  นอกจากนี้ อีกกลุ่มที่ต้องระมัดระวังและป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด คือ พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมทำบุญในวัด

จากข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ของกรมควบคุมโรค โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่ง และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ล่าสุดเดือนเมษายน 2560 พบลูกน้ำยุงลายมากที่สุด คือ ศาสนสถาน ร้อยละ 58 ของจำนวนศาสนสถานที่สำรวจทั้งหมด รองลงมาคือ โรงงาน โรงเรียน และโรงแรม ร้อยละ 39 ร้อยละ 31 และ ร้อยละ 13 ตามลำดับ

ส่วนภาชนะที่พบลูกน้ำมากที่สุด ตั้งแต่มกราคม ถึง เมษายน 2560 พบว่า น้ำใช้ เช่น อ่างน้ำ บ่อซีเมนต์ และถังน้ำ เป็นต้น ยังเป็นภาชนะที่พบลูกน้ำยุงลายมากที่สุด ถึงร้อยละ 54

นายแพทย์เจษฎาจึงได้กล่าวเชิญชวนพุทธศาสนิกชน ให้ร่วมกันดำเนินกิจกรรม “เข้าวัด ทำบุญ ไล่ยุงวิถีพุทธ” ด้วย 5 วิธีสร้างบุญทุกวันพระ (ทุก 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ) เพื่อป้องกันโรคติดต่อจากยุงลาย ดังนี้

1. เมตตาเก็บขยะ จัดเก็บภาชนะให้ปลอดโปร่ง ยุงไม่เกาะพัก และคว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
2. เมตตาช่วยเหลือพระ ปิด เปลี่ยน และใส่ทรายเพื่อกำจัดลูกน้ำในภาชนะเก็บน้ำและห้องน้ำ
3. เมตตาช่วยพระดูแลอ่างบัวหรือที่ปลูกพืชน้ำ โดยการปล่อยปลากินลูกน้ำ
4. ช่วยดูแลภูมิทัศน์รอบบริเวณวัด โดยปลูกสมุนไพรไล่ยุง และใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านสกัดสมุนไพรกันยุง เช่น ตะไคร้หอม เป็นต้น
5. นั่งสมาธิสบายไร้ยุงกัด โดยทายากันยุงทุกครั้งก่อนนั่งสมาธิ

ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งเป็นช่วงระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมใน 3 เรื่องสำคัญ คือ

1. การป้องกันการถูกยุงกัด โดยการทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า พร้อมกำจัดลูกน้ำ และแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะน้ำใส นิ่ง
2. การเฝ้าระวังอาการของโรค ได้แก่ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ผิวหนังเป็นจุดเลือด อาเจียน ปวดท้อง
3. การไปพบแพทย์โดยเร็วเมื่อมีอาการป่วยเป็นไข้ 2-3 วัน เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย และช่วงไข้ลดหากเกิดอาการช็อคจากไข้เลือดออก (กระสับกระส่าย ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา ปวดท้องชายโครงด้านขวา มือเท้าเย็น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด)

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออก จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–30 เมษายน 2560 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ 9,229 ราย เสียชีวิต 14 ราย ส่วนกลุ่มอายุที่ป่วยมากสุด คือ 15-24 ปี รองลงมาคือ 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ขอประชาชนอย่าได้วางใจ หากมีไข้สูงต้องรีบไปพบแพทย์ อย่าซื้อยาแก้ไข้กินเอง เพราะยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์ทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่าย และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 198 มิถุนายน 2560 โดย กองบรรณาธิการ)
“โรค”ที่มากับฝน
“โรค”ที่มากับฝน
ในฤดูฝน อากาศเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนี้ เป็นสาเหตุทำให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โรคที่สำคัญที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในฤดูนี้ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคไข้หวัดนก โรคปอดอักเสบ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง นอกจากนี้ในต่างจังหวัดบางพื้นที่ อาจมีการระบาดของโรคฉี่หนู หรือโรคแลปโตสไปโรซิส หรือโรคที่มียุงเป็นพาหะนำโรค เช่น ไข้มาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเจอี เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศเตือนประชาชนในการป้องกันโรคติดต่อที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝน โดยมี 5 กลุ่ม รวม 15 โรค ได้แก่
กำลังโหลดความคิดเห็น