ควันไฟสีขาวจากพื้นดิน พวยพุ่งสู่บรรยากาศเบื้องบนได้น่าตื่นตะลึงอัศจรรย์ใจ ขนาดของพื้นที่ของท้องทุ่งนาที่ไหม้ไฟไม่น่าจะต่ำกว่าสิบไร่จากการประมาณเบื้องต้นด้วยสายตา เหตุของไฟไหม้นั้นไม่ต้องสืบหา เป็นวิธีแห่งการเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกที่กำลังเข้าใกล้เข้ามาอย่างอย่างไม่มีข้อสงสัย ถึงแม้จะมีการรณรงค์ให้ลด ละ เลิกเนื่องด้วยเหตุผลทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย หรือแม้แต่เรื่องของสุขภาพแล้วก็ตามที แต่เพราะด้วยความเป็นวิถีชีวิตสืบทอดปฏิบัติต่อกันมาจนเกือบจะกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ ในความคิดของผมเองถึงแม้จะรณรงค์เอ่ยอ้างถึงสิ่งสำคัญ ความจำเป็นต้องหรือเหตุผลที่สมควรก็คงไร้ซึ่งประสิทธิผลใดๆ
รถยนต์เคลื่อนตัวไปตามถนนคอนกรีตที่ทอดยาวลัดเลี้ยวเลาะโค้งซ้ายขวาไปกับขอบทุ่งนามุ่งหน้าสู่ตัวเมืองที่เป็นเป้าหมาย ผืนนาบางส่วนมีน้ำท่วมขังจากฝนที่ตกหนักเมื่อสองสามวันก่อนหน้า อีกไม่นานบริเวณนี้คงเต็มไปด้วยกล้าของต้นข้าวเขียวเป็นผืนใหญ่ดังเช่นเมื่อหลายเดือนก่อน เพียงแต่ยังไม่ใช่ในวันนี้
ร่องรอยไหม้ไฟของตอซังเก่าและน้ำขังสีดำขุ่นจากขี้เถ้าไฟไม่ได้สร้างเสริมสภาพจิตใจของผู้ที่พบเห็นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวผมเอง ผมเริ่มเพ่งมองเพื่อหาสิ่งที่หลงเหลืออยู่พร้อมๆ กับความคิดอย่างมีอคติในใจว่าคงไม่พบเห็นสิ่งมีชีวิตชนิดใดจะสามารถมาอาศัยอยู่ในทุ่งนาน้ำขังหลังไหม้ไฟแห่งนี้ได้
“เฮ้ย นั่นมันนกแอ่นทุ่งใหญ่นี่หว่า หลายตัวอีกต่างหาก” ผมอุทานดังลั่นในใจ (ครับ ผมไม่ได้อุทานด้วยภาษารูปแบบนี้ในใจ)
ชื่อนกแอ่นทุ่งใหญ่แต่ขนาดตัวเล็ก พบเจอค่อนข่างง่ายจากการอพยพเข้ามาทำรังวางไข่เลี้ยงลูกในพื้นที่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก นกตัวเล็กที่มีทรงรูปของหัวเป็นจุดเด่น โคนปากสีแดงและเส้นดำพาดจากหลังตาลงไปเชื่อมกันบริเวณหน้าอกจนดูคล้ายสวมสายสร้อยเส้นใหญ่สีดำอยู่ตลอดเวลา ด้านใต้ปีกเป็นสีน้ำตาลแดงและตะโพกสีขาวเด่นที่เห็นได้ชัดขณะบิน มักอาศัยอยู่ในพื้นที่ทุ่งเปิดโล่งใกล้แหล่งน้ำ ด้วยอาจเพราะเหตุนี้กระมังวันนี้ผมจึงได้พบเห็นพวกมัน ณ ที่นี่
“ไม่ได้เจอกันซะนานเลยนะ” ผมพูดกับนกแอ่นทุ่งตัวนั้น
ผมนึกถึงครั้งแรกที่ได้รู้จัก เป็นการเห็นจากภาพถ่ายแผ่นประกาศติดผนังข้างตัวอาคารเมื่อครั้งยังเป็นนิสิตระดับปริญญาตรีในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะนั้นผมยังไม่รู้จักนกชนิดพันธุ์นี้เนื่องจากเพิ่งเริ่มหัดทำความรู้จักชนิดพันธุ์ของนกที่พบในประเทศไทย นกแอ่นทุ่งใหญ่ยังคงเป็นนกปริศนาที่ต้องไล่เปิดหาเทียบชนิดบนหนังสือ A Guide to the Birds of Thailand ที่ปรับปรุงโดย นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล และคุณฟิลลิป ดี. ราวด์ แต่ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่ยังด้อยอ่อนอยู่ทำให้เปิดเทียบหาดูเท่าไรก็ไม่พบ กระทั่งรุ่นพี่ที่รู้จักอดรนทนไม่ไหวมาชี้ทางสว่างให้จึงได้พบเจอ ความทรงจำกับนกแอ่นทุ่งใหญ่จึงประทับอยู่ในใจตั้งแต่นั้นมา
ไม่ได้มีเพียงนกแอ่นทุ่งใหญ่เพียงชนิดพันธุ์เดียวในทุ่งนาตรงนั้น นกยางกรอกพันธุ์ชวาในชุดขนฤดูผสมพันธุ์สีสันสดสวยงาม ฝูงนกกระจอกใหญ่กระโดดบินไปมาหากินเมล็ดพืชและแมลงตัวน้อย ตัวเหี้ยลิ้นแล่บแผล่บๆ คลานเลื้อยผ่านลงไปในน้ำ และเสียงนกอีกหลายชนิดพันธุ์ร้องดังให้ได้ยินอยู่รอบๆ เมื่อผมลงจากรถยนต์เพื่อที่จะคืบเข้าใกล้ไปบันทึกภาพ
เสียงม่านชัตเตอร์ดังทันเป็นครั้งสุดท้ายก่อนนกแอ่นทุ่งใหญ่ตัวนั้นจะบินออกห่างไปไกลลิบตา อาจจะเพราะระแวงสัตว์สองขาตัวนี้ที่กำลังพยายามทำตัวเรี่ยดินและเคลื่อนหาเข้าใกล้
“โถ่เอ๊ย ไม่น่าเลย น่าจะลองแลบลิ้นให้เร็วกว่านี้” ผมพร่ำบ่นกับตัวเองถึงสัตว์เลื้อยคลายชนิดหนึ่งซึ่งไม่ทันได้เลียนพฤติกรรมของมัน เผื่ออาจจะลดความระแวงของนกแอ่นทุ่งตัวนั้นลงได้บ้าง
ระหว่างที่กำลังผุดลุกผุดนั่งมองหานกตัวอื่นโดยรอบ ผมเอะใจขึ้นมาหนึ่งอย่างก่อนหน้าที่ได้คิดครวญเอาไว้ ทุ่งนาอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยตอซังข้าวไหม้ไฟอีกทั้งท่วมด้วยน้ำขี้เถ้าดำปี๋ ไม่น่าจะมีสัตว์ชนิดไหนอาศัยกลับเปี่ยมด้วยนกหลากชนิดพันธุ์ทั้งแค่เพียงแค่เฝ้าดูในช่วงเวลาประด๋าวเดี๋ยวเท่านั้น แล้วในช่วงเวลาอื่นที่ไม่ได้อยู่เฝ้าดูอีกเท่าไหร่กันเล่า
สิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะสัตว์แทบทุกชนิด ปรับตัวเคลื่อนย้ายตามหาถิ่นที่อยู่อาศัยอันเหมาะสมเพื่อการดำรงชีวิตและสืบทอดเผ่าพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อาทิ ช้าง กระทิง หรือกวาง เยื้องย่างเคลื่อนไปหาอาหารทุ่งหญ้าระบัด เสือโคร่งที่ไล่ตามเหยื่อไป สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่กระโดดคลานเคลื่อนที่เข้าหาแห่งน้ำ และอย่างยิ่งโดยเฉพาะนกที่อพยพหลบหลีกความหนาวเย็นของฤดูหนาวเข้าสู่พื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรของโลกเพื่อเอาชีวิตรอดหรือเฉกเช่นนกแอ่นทุ่งใหญ่ที่มาเพื่อทำรังวางไข่เลี้ยงลูกของมัน
ก่อนหันหลังกลับ สายตาผมเหลือบไปยังกลุ่มควันพวยพุงสีขาวขุ่นนั่นอีกครั้ง หลักฐานอันชัดจัดเจนแจ้งถึงความไม่อ่อนเอนเและไร้เคารพต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวตนของพวกเรา
“สัตว์สุดประเสริฐ” คำเอ่ยอวยยกหางตัวเอง (ที่วิวัฒน์หาย) ดังก้องเงียบ ๆ อยู่ในหัวของผม
“ไว้พบกันใหม่” ถ้อยกระซิบเบาจากริมฝีปากของผมแด่นกแอ่นทุ่งตัวเดิมนั้น
เกี่ยวกับผู้เขียน
จองื้อที
แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ
"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"
พบกับบทความ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน