“คมนาคม” เสนอใช้มาตรา 44 เพิ่มบทลงโทษ อุดช่องโหว่ที่กฎหมายเอาผิดไปไม่ถึง ล้อมคอกอุบัติเหตุรถตู้โดยสารสาธารณะ “อาคม” สั่งเพิ่มมาตรการระยะสั้น ขบ.ออกหน่วยเคลื่อนที่ตรวจรถและคนขับออกจากสถานีขนส่ง ยันคุมกำเนิดรถตู้สาธารณะหมดอายุไม่เกินปี 64 หาทางปรับเปลี่ยนเป็นรถขนาดกลางเพื่อความปลอดภัย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 4 ม.ค.ได้หารือถึงการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ซึ่งเมื่อวันที่ 2 ม.ค.มีอุบัติเหตุใหญ่ที่รถตู้โดยสารสาธารณะชนรถปิกอัพที่ถนนบ้านบึง จ.ชลบุรี จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 25 ราย เบื้องต้นทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้ดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และครอบครัวตามระเบียบอย่างครบถ้วน พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงอย่างมาก และระบุว่าหากจำเป็นพร้อมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วยแก้ปัญหา เพิ่มความปลอดภัยในการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ
กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บขส. และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะต้องพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่ามีการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มข้น จุดใดที่มีบทลงโทษเบาเกินไป จะพิจารณาปรับให้สูงขึ้น เช่น กรณีรถตู้โดยสารสาธารณะบรรทุกผู้โดยสารเกิน ปัจจุบันบทลงโทษคนขับ ปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนผู้ประกอบการ ปรับสูงสุด 20,000 บาท อาจน้อยไปหรือไม่ รวมถึงประเด็นใดที่กฎหมายยังไม่ครอบคลุมไปถึง จะต้องเพิ่มเติม ทั้งหมดต้องประมวลเสนอคณะทำงาน คสช.พิจารณาต่อไป
“นายกฯ ให้ความสำคัญต่อการบังคับใช้กฎหมายซึ่งมีบทลงโทษอยู่แล้ว แต่อาจต้องเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นเนื่องจากการหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการจะต้องเข้ามาร่วมรับผิดด้วย รวมถึงเพิ่มความผิดทางอาญา มาตรา 44 จะมาช่วยเพิ่มความเข้มงวดได้”
นายอาคมกล่าวว่า กรณีรถตู้โดยสารของบขส.ซึ่งวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดนั้น มีหลายประเด็นที่ต้องจัดระเบียบอย่างเข้มข้น เช่น กำหนดจุดจอดรถในแต่ละจังหวัด ซึ่งคณะกรรมการจัดระเบียบของแต่ละจังหวัดจะกำหนดความพร้อมของสถานีให้เสร็จ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เมื่อรถทุกคันต้องเข้าสถานี ก่อนออกรถ จะมีการตรวจสภาพรถและคนขับ โดยเจ้าหน้าที่กรมขนส่งฯ ซึ่งจะขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาหรือเอกชนเข้ามาช่วย
ขณะที่ระยะยาว กรมขนส่งฯ จะต้องเร่งทำแผนเพื่อพัฒนารถโดยสารสาธารณะและกำหนดว่ารถตู้จะใช้เป็นรถโดยสารต่อหรือไม่เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางเนื่องจากรถตู้ออกแบบเป็นรถขนส่งสินค้า แต่มีการนำมาใช้ขนส่งผู้โดยสารเพราะสะดวกรวดเร็ว แต่อาจจะไม่เหมาะกับการเดินทางระยะไกล ซึ่งได้มีการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะเมื่อปี 2553 กำหนดอายุรถตู้ที่ 10 ปี โดยรถกลุ่มนี้จะหมดอายุปี 2563 ต่อมาจัดระเบียบใหม่ ปี 2557 กำหนดอายุใช้งาน 7 ปี และไม่มีการจดทะเบียนเพิ่มดังนั้น รถตู้โดยสารสาธารณะจะหมดอายุในปี 2564 ซึ่งจะสอดคล้องกับการพิจารณากำหนดรูปแบบการให้บริการใหม่ซึ่งอาจจะปรับเป็นรถโดยสารขนาดกลาง 20 ที่นั่ง ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น
นายอาคมกล่าวว่า ได้สั่งการมาตรการเร่งด่วนเพื่อดำเนินการทันทีคือ ให้กรมขนส่งฯ ประกาศให้รถตู้โดยสารสาธารณะ ติดตั้ง GPS ควบคุมความเร็วทุกคัน ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560, ให้พนักงานขับรถมีใบขับขี่สาธารณะที่ถูกต้อง, ติดตั้งระบบแสดงผลความเร็วบนรถตู้โดยสาร, ขบ. ตั้งหน่วยเคลื่อนที่ตรวจสภาพรถ ณ สถานีขนส่งต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อตรวจสภาพความพร้อมใช้งาน หากรถมีสภาพไม่พร้อมใช้งานให้สั่งพักงานทันที, พนักงานขับรถตู้ ต้องขับรถเกินวันละ 8 ชั่วโมง และต้องมีสมุดบันทึกการขับรถประจำรถทุกคัน และควรอบรมพนักงานขับรถก่อนการปฏิบัติงานทุกครั้ง เกี่ยวกับวินัย มารยาทในการขับรถ เครื่องแต่งกายต้องสุภาพเรียบร้อย และไม่ควรสวมรองเท้าแตะขับรถ
ส่วนมาตรการระยะยาว ให้จัดทำแผนด้านความเหมาะสมในการใช้รถตู้เป็นรถโดยสารสาธารณะ เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้บริการของผู้โดยสาร ซึ่งจะมีความชัดเจนในปี 2560, การออกใบอนุญาตขับขี่ ควรบรรจุในแบบเรียน เพื่อปลูกฝังด้านวินัย มารยาทในการขับขี่ซึ่งเป็นมาตรการที่ยั่งยืนในอนาคต, ควรพิจารณาเพิ่มบทลงโทษให้สูงขึ้น รวมทั้งการเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย