หนุ่มนักบาสดาวรุ่ง, ลูกสาวคนเดียวของครอบครัว, นิสิตแพทย์จุฬาฯ อนาคตไกล, อาจารย์หมอ - นักวิจัยมะเร็งคนสำคัญ ฯลฯ และอีกหลายลมหายใจที่ต้องกลายสภาพเป็นศพไหม้เกรียมจนไม่สามารถระบุตัวตนได้ รวมทั้งสิ้น 25 ศพ จากอุบัติเหตุสุดสลดรับปีใหม่ ได้กลายเป็นบทเรียนครั้งใหญ่อีกครั้งในการ “จัดระเบียบรถตู้โดยสาร”
ทั้งเรื่องตัวรถที่มีโครงสร้างไม่เอื้อต่อการช่วยชีวิต ทั้งเรื่องความไม่พร้อมของคนขับ และเรื่องความไม่เหมาะสมในการใช้รถตู้วิ่งรถทางไกล ซึ่งไม่รู้ว่าต้องหวังลมๆ แล้งๆ กันไปอีกนานเท่าใด ความสูญเสียจากช่องโหว่ในระบบขนส่งสาธารณะในเมืองไทยจึงจะไม่กลับมาซ้ำรอยเดิมๆ ให้อีกหลายๆ ครอบครัวต้องหลั่งน้ำตากันอีก...
เปลี่ยนได้แล้ว! ถึงเวลาจัดระเบียบรถตู้โดยสาร!!
“กรมการขนส่งทางบกควรจะกำหนดคุณลักษณะใหม่ได้แล้วว่า ควรจะเพิ่มประตูด้านหลังกับประตูด้านข้าง ส่วนตัวกระจก ก็ควรจะเลือกแบบที่ผู้โดยสารสามารถเปิดออกมาเองได้เลยเวลาเกิดอุบัติเหตุ”
พ.ต.อ.พิสิฏฐ โปรยรุ่งโรจน์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ชลบุรี ชี้ช่องโหว่ต่อสื่อมวลชนด้วยท่าทีหัวเสีย หลังลงพื้นที่สำรวจความเสียหายในอุบัติเหตุสุดสลด รถตู้โดยสารกรุงเทพฯ - จันทบุรี พุ่งข้ามเลนเข้าชนรถกระบะบน ถ.บ้านบึง - แกลง เข้าอย่างจัง เป็นเหตุให้เกิดไฟลุกท่วมรถทั้งสองคัน จนมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 25 ราย
ระบุจุดบอดชัดเจนว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้รถตู้โดยสารทุกวันนี้มี “ทางรอด” เหลือน้อยลงกว่าเดิม เป็นผลมาจากรูปแบบของรถตู้ที่เปลี่ยนไป คือ นอกจากจะมีทางออกเพียงด้านเดียวแล้ว กระจกยังเปิดหรือเลื่อนไม่ได้อีกต่างหาก
“ทุกวันนี้ ผู้โดยสารที่นั่งอยู่ทั้งหมด ถ้าประตูบานเดียวตรงนั้นเปิดไม่ได้ ก็จะไม่มีประตูฝั่งไหนอีกเลยที่เปิดได้ ประตูหลังก็เปิดไม่ออก ตัวกระจกเองก็เหมือนกัน ไปดูได้เลยครับว่าเปิดไม่ได้ เลื่อนไม่ได้ ผู้โดยสารไม่สามารถมุดออกมาได้
อยากให้กรมการขนส่งเปลี่ยนลักษณะรถที่จะเอามาทำรถตู้โดยสาร คือ ปรับให้ “ประตูสไลด์” ต้องมี 2 บาน ส่วน “ประตูด้านหลัง” ตัวเปิดควรจะอยู่ข้างบน และ “กระจกด้านข้าง” ทั้งหมด ควรจะใช้แบบรถตู้รุ่นเดิม คือ เป็นบานเลื่อน เลื่อนไปเลื่อนมาได้ เพื่อให้คนมุดออกมาได้เวลาเกิดอุบัติเหตุ นี่เป็นครั้งที่ 2 ใน จ.ชลบุรี แล้ว ที่เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่แบบนี้”
จากเหตุรถประสานงาจนเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ครั้งนี้ พิเนตร เลิศเขมทัต นายอำเภอบ้านบึง ช่วยสรุปเหตุการณ์จากการคาดคะเนหลักฐานเท่าที่มีอยู่ให้กระจ่างอีกครั้ง โดยมีประเด็น “คนขับหลับใน” เป็นตัวแปรสำคัญ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ขนาดนั้น น่าจะมาจาก “การติดตั้งแก๊สภายในรถ”
ทันทีที่ถูกตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยของรถตู้กลับมาอย่างหนัก ภัทรพงษ์ เสือนาค ผู้จัดการคิวรถตู้ “พลอยหยก” เจ้าของคิวรถตู้คันเกิดเหตุ ก็ออกมาชี้แจงในทันที โดยยืนยันว่า คนขับไม่ได้หลับในแน่นอน เนื่องจากมีการตรวจสอบความพร้อมของโชเฟอร์ทุกครั้งก่อนให้ออกรถ ย้ำชัดว่า รถในความดูแลทั้งหมด 18 คัน ผ่านการตรวจตามมาตรฐานขนส่ง และได้รับใบอนุญาตมาแล้วทุกคัน
ส่วนรถตู้คันที่เกิดเหตุดังกล่าว มี “ลุงสุมนต์ เอี่ยมสมบัติ” วัย 64 เป็นคนขับ โดยมีรอบการขับก่อนหน้า “กรุงเทพฯ - จันทบุรี” เวลา 05.00 - 10.00 น. (5 ชั่วโมง) ก่อนจะถึงรอบการขับครั้งอุบัติเหตุ “จันทบุรี - กรุงเทพฯ” เวลา 11.00 น.
เมื่อเทียบกับมาตรฐานข้อบังคับของกรมขนส่งทางบกแล้ว จะเห็นว่าใช้เวลาเดินทางมากกว่าที่กำหนด โดยในลายลักษณ์อักษรระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ขับรถ 4 ชั่วโมง ต้องพัก 1 ชั่วโมง” แต่รถตู้คันเกิดอุบัติเหตุคันนี้กลายเป็น “ขับรถ 5 ชั่วโมง พักครึ่งชั่วโมง - 1 ชั่วโมง” อย่างไรก็ตาม เจ้าของคิวรถตู้มรณะคันดังกล่าว ได้ชี้แจงระบบการทำงานในวันเกิดเหตุเอาไว้ดังนี้
“สำหรับคนขับ ทางวินจะเช็กตลอดเลย มาก็จะได้พักประมาณครึ่งชั่วโมง จะมีการกินข้าว ดื่มกาแฟ ออกกำลังกาย พอเข้ามา เราจะถามเลยว่าเป็นไง ไหวไหม ถ้าไม่ไหวก็ไม่ต้องออก จะมีเวลาพักผ่อนให้ครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมงหนึ่งแล้วแต่ ต้องดูว่าเป็นกรณีมีรถมาทันไหม ถ้าไม่ทัน เราจะแจ้งผู้โดยสารเลยว่ารถเลต ให้รอ”
สำหรับประเด็นเรื่องการติดตั้งตั้งแก๊สในรถ ซึ่งถูกจับตามองว่าอาจเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ในครั้งนี้นั้น ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นแล้วพบว่า รถตู้คันดังกล่าวได้รับการตรวจสอบสภาพรถไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งได้ผลออกมาว่าระบบถังแก๊สไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เหตุเพลิงไหม้จึงอาจเกิดจากระบบหัวจ่ายน้ำมัน ซึ่งต้องรอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้งเพื่อความชัดเจน ทั้งนี้ ผู้ตรวจสอบยังแนะว่าหากลดการติดตั้งแก๊ส อาจลดความสูญเสียได้
ส่วนทางเจ้าของวินรถตู้ ระบุเอาไว้เกี่ยวกับเรื่องการติดตั้งแก๊สว่า ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้องและติดตั้งตามมาตรฐานกับทางกรมการขนส่งว่า สามารถติดตั้งแก๊สได้จำนวน 3 ถัง แต่ติดตั้งจริงเพียง 2 ถังเท่านั้น คือด้านหน้ากับด้านหลัง
ไม่ว่าคำอธิบายจากฝั่งผู้เกี่ยวข้องจะออกมาเป็นแบบไหน ล่าสุด ผลการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 2 ระบุออกมาในเบื้องต้นแล้วว่า น่าจะเกิดจากคนขับรถตู้หลับใน เนื่องจากรถไม่มีรอยเบรกบนถนน รวมทั้งลักษณะที่เกิดเหตุก็ไม่ใช่ทางโค้ง หรือเป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ แต่เพื่อให้แน่ใจในผลการพิสูจน์หลักฐาน ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนประจำปี 2560 (ศปถ.) ต้องใช้เวลาตรวจสอบให้ครบ 7 วัน จึงจะได้คำตอบที่ชัดเจน
[ภาพสุดท้ายของรถตู้มรณะ จากกล้องวงจรปิด]
“รถตู้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อขนส่งคน แต่ใช้เพื่อขนสิ่งของ” คือบทสรุปที่ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ช่วยชี้เอาไว้ เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้โดยสารตระหนัก “ความเสี่ยง” ในการนั่งรถที่มีข้อจำกัดในประเภทนี้
เช่นเดียวกับความคืบหน้าล่าสุดที่ออกมาจากทาง พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่ามีแผนจัดระเบียบระตู้ให้แล้วเสร็จในปี 2564 โดยจะงดการ “วิ่งข้ามจังหวัด” ในทุกกรณี เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียเช่นเดียวกับที่ผ่านๆ มาอีก
“คสช. วางเป้าไว้ว่า จะไม่ให้มีรถตู้สาธารณะให้บริการอีก เพราะรถตู้ไม่เหมาะกับการให้บริการในระยะไกล แต่จะอนุญาตให้วิ่งเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ - ปริมณฑล ร่วมกับ ขสมก. (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ได้ ถ้าระยะทางไม่เกิน 100 กม. จะได้เป็นการแก้ปัญหารถตู้สาธารณะที่มีคนใช้บริการมากขึ้นทุกปี แล้วก็เกิดอุบัติเหตุให้เห็นบ่อยๆ ด้วย”
แก้ปัญหาปลายเหตุ... เยียวยารายละ “7 แสน”
“ผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าสินไหมเป็นเงิน 700,000 บาทต่อราย เป็นประกันภาคบังคับ 300,000 บาท และภาคสมัครใจ 400,000 บาท” คือ อัตราการเยียวยาที่ทาง สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ออกมาเผยตัวเลขเอาไว้ ส่วน “มูลค่า” ที่ครอบครัวผู้สูญเสียได้ไป จะเทียบกับ “คุณค่า” ของคนที่พวกเขารักได้หรือไม่ ทั้ง 4 ลมหายใจต่อไปนี้ คือ ตัวแทนผู้เสียชีวิตทั้ง 25 ศพ ที่สังคมกำลังร่วมอาลัยด้วยใจเสียดาย
[“น้องกันต์” นิสิตแพทย์จุฬาฯ อนาคตไกล]
“นิสิตแพทย์จุฬาฯ อนาคตไกล” คือ 1 ใน 25 ศพ ที่ต้องจากไปอย่างไม่หวนคืนในอุบัติเหตุครั้งนี้ และเป็นหนึ่งบุคคลที่หลายๆ คนรู้สึกเสียดายความรู้ความสามารถที่สั่งสมมา เพราะ “น้องกันต์” เป็นเยาวชนหัวก้าวหน้าอีกหนึ่งคนที่น่าจับตามอง และบรรทัดต่อจากนี้คือถ้อยคำร่วมไว้อาลัยจากรุ่นพี่โรงเรียนเดียวกัน ซึ่งใช้ชื่อบนเฟซบุ๊กว่า “ภาลินี สินทอง”
“เห็นข่าวรถตู้จันทบุรี - กรุงเทพฯ เกิดอุบัติเหตุ รับรู้ได้ถึงความทรมานของคนในรถและญาติของผู้สูญเสีย แต่พอได้รู้ว่าหนึ่งในนั้นคือ น้องกันต์ รุ่นน้องที่ บจ. (โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.จันทบุรี) ที่อนาคตกำลังสดใส กับการได้เป็นนิสิตแพทย์จุฬาฯ ใจมันสั่น มืออ่อน หมดแรง
มีแต่คำถามในหัวจะต้องมีผู้สูญเสียอีกกี่ศพเหรอ?? ถึงจะก่อเกิดจิตสำนึกของคนขับรถตู้บางคนที่ชอบขับเร็ว ชอบหักโหมขึ้นมาได้... หลับให้สบายนะน้อง กันต์คือเด็กที่น่ารักเสมอ ถึงตอนนี้กันต์จะจากไป แต่สิ่งที่กันต์สร้างไว้จะอยู่ในความทรงจำของทุกคน”
[“น้องคิว” หนุ่มนักบาสดาวรุ่ง]
“น้องคิว” หนุ่มนักบาสดาวรุ่งจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเพิ่งจบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ คือ อีกหนึ่งศพที่รวมอยู่ในนั้นด้วย เช่นเดียวกับ “น้องเจเจ” ลูกสาวคนเดียวของครอบครัวที่ต้องมาจากไปด้วยอุบัติเหตุในคราวเดียวกัน และนี่คือโพสต์สุดท้ายหลังกลับไปเยี่ยมบ้านช่วงปีใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงนิสัยกตัญญูรู้คุณของเธอ
[“น้องเจเจ” ลูกสาวคนเดียวของครอบครัว]
“รู้สึกใจหาย ไม่อยากกลับกรุงเทพฯ อยากอยู่บ้าน แค่มานั่งรอรถตู้ ก็จะร้องไห้ คิดถึงพ่อแม่ อยู่ที่ไหนก็ไม่อบอุ่นเท่าที่บ้านแล้ว”
อีกหนึ่งรายชื่อที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ “อาจารย์หมอ - นักวิจัยมะเร็งคนสำคัญ” ซึ่งต้องพรากจากไปอย่างไม่หวนคืนในเหตุการณ์เดียวกันนี้ โดยมีอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ออกมาโพสต์ไว้อาลัยด้วยตัวเอง เพื่อให้คนในสังคมตระหนักว่า ความสูญเสียในครั้งนี้ที่เกิดขึ้นกับบุคลากรในรั้วจามจุรี ไม่ใช่เพียง “น้องกันต์” นิสิตคณะแพทยศาสตร์เท่านั้น แต่รวมไปถึงระดับอาจารย์ นักวิจัยด้านมะเร็งที่สำคัญของเมืองไทยอย่าง “อ.ประกาศิต รัตนตันหยง” อีกด้วย
[“อ.ประกาศิต” อาจารย์หมอ-นักวิจัยมะเร็งคนสำคัญ]
“การสูญเสีย คุณประกาศิต รัตนตันหยง ในอุบัติเหตุรถตู้ชนกับรถกระบะ นับเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงครับ คุณประกาศิตมีบทบาททั้งในด้านงานวิจัย การเรียนการสอน และการบริการทางการแพทย์ ภายใต้การกำกับของอาจารย์อภิวัฒน์ มุทิรางกูร หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอณูพันธุศาสตร์ของมะเร็งและโรคของมนุษย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
คุณประกาศิตเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ตรวจวินิจฉัยโรคหลายโรค เช่น Fragile X, Prader Willi Syndrome, Angelman Syndrome, SRY และ Spinal Muscular Atrophy คุณความดีที่คุณประกาศิต รัตนตันหยง ได้ทำมาโดยตลอด จะเป็นที่จดจำและคงอยู่ตลอดไป”
เยียวยารายละ 7 แสน กับการเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบการ อาจไม่เพียงพอต่อความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในหัวใจ... ถ้ายังไม่มีการสานต่อมาตรการระยะยาวใดๆ ออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้อุบัติเหตุรถตู้โดยสารเกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ อีก...
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า “รถมินิบัส” ที่ทางกรมการขนส่งทางบก วางแผนเอาไว้ว่าจะนำมาใช้แทน “รถตู้โดยสาร” เพื่อเดินทางระหว่างจังหวัดจะช่วย แก้ปัญหา หรือ เพิ่มปัญหา มากไปกว่าเดิม...
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754