xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชำแหละรากเหง้า “รถตู้ซิ่ง” สุดเสี่ยง ปัญหาอยู่ที่ “คน” อยู่ที่ “ส่วย” หรืออยู่ที่ “มาเฟีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - โศกนาฏกรรม 25 ศพ จากอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร กรุงเทพฯ - จันทบุรี พุ่งชนรถกระบะบนถนนสาย 344 บ้านบึง - แกลง รับศักราชใหม่ เมื่อบ่ายวันที่ 2 มกราคม 2560  สะท้อนนโยบายจัดระเบียบรถตู้โดยสารที่ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน

โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร ที่ยังแขวนอยู่บนเส้นด้ายไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อย (คสช.) จะให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหารถโดยสารสาธารณะ ทั้งรถตู้ วินมอเตอร์ไซด์ แท็กซี่ ในลำดับต้นๆ หลังการยึดอำนาจก็ตาม

เรื่องเศร้าสลดที่เกิดขึ้นคราวนี้ ทำเอานายกฯ “ลุงตู่” หัวเสีย ถึงกับเตรียมงัด ม. 44 มาจัดการขั้นเด็ดขาด

หากจำกัดวงลงเฉพาะประเด็น “สาเหตุ” ที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ผลการพิสูจน์เบื้องต้นออกมาแล้วว่าเป็นเพราะ “คนขับ” หลับใน ตามข้อสันนิฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร ภาค 2 เนื่องจากไม่มีรอยเบรกบนถนน จุดที่เกิดเหตุไม่ใช่ทางโค้งหรือเป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

แต่การ “หลับใน” ของคนขับรถตู้ซึ่งเสียชีวิตไปพร้อมกับผู้โดยสาร ได้ย้อนศรให้เห็นถึงปัญหาที่หมักหมมในระบบการคมนาคมขนส่งมวลชนของประเทศ ที่ยังวนเวียนซ้ำซากไม่รู้วันจบสิ้น

นับเป็นความโชคร้ายของประชาชนคนไทยที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่เฉพาะแต่รถตู้เท่านั้น แต่รวมถึงรถบัส รถเมล์ ที่ต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยงกับปัญหาคนขับหลับใน ขับรถเร็วเกินกว่ากำหนด ขับรถโดยประมาท เมาแล้วขับ รับผู้โดยสารเกินกำหนด ไม่มีประตูนิรภัย ไม่ติดตั้งเครื่องดับเพลิง ไม่มีเข็มขัดนิรภัย ติดตั้งที่นั่งเกิน เก็บค่าโดยสารเกิน ใช้รถเถื่อนมาวิ่งให้บริการ รถมีสภาพเก่า ติดตั้งแก๊สไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ฯลฯ ซ้ำๆ ซากๆ

การใช้บริการรถโดยสารสาธารณะแต่ละครั้ง ต้องลุ้นกันตัวโก่งขนาดว่าจะรอดปลอดภัยมีชีวิตสืบต่อไปหรือไม่เมื่อเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นมา ก็แก้ไขปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก จ่ายเงินชดเชยแล้วจบกันไปเหมือนทุกครั้ง

และคราวนี้จะจบแบบเหมือนเดิมหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันยาวๆ แต่เอาเฉพาะหน้าคงจะมีการขันน็อตเพิ่มในส่วนของคนขับรถตู้กันก่อน อย่างที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ว่าไว้ว่า ระบบไม่ว่าจะวางไว้ดีเพียงไหน หากคนยังขาดจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมก็แก้ไขปัญหาได้ยาก จึงต้องจัดระเบียบเรื่องของคนขับรถตู้โดยสารให้มากขึ้น

“....โดยเฉพาะบริษัทที่รับผิดชอบต้องคัดเลือกคนที่ไว้วางใจได้ น่าเชื่อถือ มีประวัติที่ดีมาขับรถ...”
ส่วนระดับนโยบายนั้น มีแนวทางจัดระเบียบใหม่ ตามที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า คสช. มีแผนจัดระเบียบระตู้ให้แล้วเสร็จในปี 2564 โดยจะงดการ “วิ่งข้ามจังหวัด” ในทุกกรณี เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียเช่นเดียวกับที่ผ่านๆ มาอีก

“คสช. วางเป้าไว้ว่า จะไม่ให้มีรถตู้สาธารณะให้บริการอีก เพราะรถตู้ไม่เหมาะกับการให้บริการในระยะไกล แต่จะอนุญาตให้วิ่งเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ - ปริมณฑล ร่วมกับ ขสมก. (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ได้ ถ้าระยะทางไม่เกิน 100 กม. จะได้เป็นการแก้ปัญหารถตู้สาธารณะที่มีคนใช้บริการมากขึ้นทุกปี แล้วก็เกิดอุบัติเหตุให้เห็นบ่อยๆ ด้วย”

แต่กว่าจะถึงเวลานั้น ผู้โดยสารทุกท่านโปรดทราบ .... “รถตู้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อขนส่งคน แต่ใช้เพื่อขนสิ่งของ” คือบทสรุปแบบชัดๆ ไม่อ้อมค้อม จากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่บอกกล่าวกันชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้โดยสารตระหนักถึง “ความเสี่ยง” ในการนั่งรถที่มีข้อจำกัดในประเภทนี้

คำถามคือ รู้ว่าไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เหตุไฉนกระทรวงคมนาคม ไม่ออกคำสั่งจัดการให้ “รถตู้โดยสาร” มีสภาพเป็นรถขนส่งคน ไม่ใช่ขนส่งสิ่งของ ซึ่งกระจกปิดเลื่อนเปิดปิดไม่ได้ ไม่มีประตูฉุกเฉิน ฯลฯ เพื่อให้ผู้โดยสารมีโอกาสรอดชีวิตเมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นมา

“กรมการขนส่งทางบก ควรจะกำหนดคุณลักษณะใหม่ได้แล้วว่า ควรจะเพิ่มประตูด้านหลังกับประตูด้านข้าง ส่วนตัวกระจก ก็ควรจะเลือกแบบที่ผู้โดยสารสามารถเปิดออกมาเองได้เลยเวลาเกิดอุบัติเหตุ” พ.ต.อ.พิสิฏฐ โปรยรุ่งโรจน์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ชลบุรี ชี้ช่องโหว่ด้วยท่าทีหัวเสีย หลังลงพื้นที่สำรวจความเสียหายในอุบัติเหตุที่สูญเสียครั้งใหญ่ต้อนรับศักราชใหม่ 

การสั่งปรับเปลี่ยนคุณลักษณะใหม่ของรถตู้โดยสารทั้งหมดทั่วประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ควรทำทันที ไม่ว่าจะวิ่งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล หรือต่างจังหวัด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดรอบนอกกรุงเทพฯ ในรัศมี 300 กิโลเมตร ที่ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะทุกวันนี้ไม่มีรถบัสโดยสารขนาดใหญ่แบบเดิมมาให้บริการแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากความนิยมใช้บริการ “รถตู้” แม้เสี่ยงแต่สะดวกแทนรถบัสที่รอนานและทรุดโทรม กระทั่งรถบัสขนาดใหญ่ถูกทำลายให้สูญพันธุ์ไปโดยปริยายในเกือบทุกเส้นทาง

            จะว่าไปแล้ว คสช.รู้สภาพปัญหารถตู้โดยสารชนิดที่ว่าลึกซึ้งและมีข้อมูลในมือจากการเข้ามาจัดระเบียบรถตู้โดยสาร วินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง และแท็กซี่ ตั้งแต่ยึดอำนาจใหม่ๆ แล้ว

ภารกิจนี้มีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกร.รส.) ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมการขนส่งทางบก ขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ กทม. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมกับวางแนวทางแก้ไขปัญหาทั่วประเทศ ตามกรอบการทำงาน 3 ด้าน คือ ความปลอดภัย ไม่กีดขวางการจราจร และปราบปรามผู้มีอิทธิพล

สำหรับภารกิจที่มีความคืบหน้ามากที่สุดคือ การย้ายจุดที่จอดรถตู้จากกลางเมือง เช่นคิวรถตู้ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยัง 3 สถานีขนส่งเพื่อแก้ปัญหากีดขวางการจราจร

ส่วนเรื่องความปลอดภัยและการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ซึ่งเป็นปัญหาหมักหมมเรื้อรังจนทำลายระบบขนส่งมวลชนโดยรวมนั้น คสช.ใช้เวลาเคลียร์ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จนถึงวันนี้ยังบอกไม่ได้ว่าสำเร็จตามเป้าหมาย

ต้องไม่ลืมว่า ปัญหารถตู้โดยสารมีมานมนานแล้ว โดยพัฒนามาจากรถเช่าเหมามาเป็นวิ่งประจำแบบ “ป้ายดำ” หรือรถตู้เถื่อน กระทั่งปี 2553 สมัยนายโสภณ ซารัมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีนโยบายปล่อยผีให้รถตู้ป้ายดำมาจดทะเบียนเป็น "ป้ายเหลือง"

รถตู้เถื่อนจึงแปลงสภาพมาอยู่ใน 2 หมวด คือ หมวด 2  (ต) คือ รถที่ผิดกฎหมายแล้วได้รับการช่วยเหลือผ่อนผัน และ ม.2 (จ) วงเล็บ จ คือ รถบัสเดิม (46 ที่นั่ง) ซึ่งแปลงมาเป็นรถตู้ ได้ 3 คัน

เงื่อนไขรถบัส-รถตู้ เป็นเหมือนการต่อลมหายใจให้เจ้าของรถบัส ที่เริ่มล้มหายตายจากเพราะถูกรถตู้มาแย่งผู้โดยสารไป ทำให้ต้องเลิกวิ่งรถบัสไปโดยปริยาย และเป็นที่มาว่าเหตุใดจึงไม่มีรถบัสวิ่งในเส้นทางต่างจังหวัดรัศมี 300 กิโลเมตร รอบกรุงเทพฯ

เมื่อ คสช.เข้ามาจัดระเบียบรถตู้ พบว่า มีรถตู้เถื่อนอยู่กว่า 5,000 คัน แต่เมื่อนำไปตรวจสภาพและอายุการใช้งานที่ห้ามเกิน 10 ปี มีรถตู้ตกมาตรฐานเกือบครึ่งต่อครึ่ง ก่อนที่จะสรุปตัวเลขรถตู้ที่ผ่านมาตรฐานและขึ้นทะเบียนประมาณ 3,074 คัน โดยมีข้อกำหนดทำสัญญาร่วม ขสมก. 1,862 คัน และ บขส. 1,212 คัน เปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้รถกับกรมการขนส่ง

การวิ่งรถร่วมกำหนดเวลาไว้ 10 ปี หากวิ่งมาแล้ว 4 ปี จะเหลือเวลาอีก 6 ปี วิ่งครบแล้วก็เลิกสัญญา ไม่มีการเอาป้ายทะเบียนไปขายต่อได้เหมือนเดิมอีก ดังนั้น รถตู้ป้ายเหลืองที่วิ่งอยู่ทุกวันนี้จึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ขสมก.และ บขส. และขึ้นตรงต่อกรมการขนส่งทั้งสิ้น

แต่ไม่ว่าจะมี ขสมก. และ บขส. กำกับดูแล ยังไงก็ยังต้องมี “ผู้มีอิทธิพล” ซึ่งทำหน้าที่เคลียร์คิว เคลียร์เส้นทางกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้รับความสะดวก ใครที่อยากวิ่งรถตู้ก็ต้องจ่ายให้กับผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าของวินเหมือนเดิม 

จากข้อมูลที่ พ.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการกองพลทหารที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เข้ามาปฏิบัติภารกิจจัดระเบียบรถตู้ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ ระบุว่า เจ้าของวินมีการเรียกเก็บเงินจากผู้ที่อยากมาเข้าวินถึง 4 แสนบาท โดยเฉพาะวินที่วิ่งในทำเลทอง คือ สายตะวันออกหรือสายใต้ต้นๆ ซึ่งเป็นพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว

นอกจากนั้น ยังถูกเก็บเปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อวัน อีกประมาณ 2% เป็นอย่างน้อย ซึ่งเจ้าของรถตู้ไม่มีทางเลือกอื่น มีแต่ต้องจ่ายให้เจ้าของวินเพื่อนำไปเคลียร์กับเจ้าหน้าที่ แลกกับสิทธิพิเศษ ทำผิดกฎจราจร ข้อบังคับ โดยไม่ถูกเรียกตรวจ

ดังนั้น อย่าแปลกใจที่เห็นรถตู้โดยสารซิ่งท้านรก แต่เจ้าหน้าที่กลับทำเป็นหูหนวกตาบอด ปล่อยผ่านเลยไปให้ผู้โดยสารเสี่ยงชีวิตกันเอาเอง พอเกิดเหตุสุดสลดทีก็ตื่นตูมขันนอตกันที หากฟังตามที่ พ.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อเอาไว้ยาวๆ หลายครั้งหลายคราว และหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลเคยจ้างทีมศึกษาเรื่องนี้ ก็จะรู้ว่า คสช. เก็บกำข้อมูลและรู้ช่องว่าง ช่องโหว่ ความบกพร่อง ความไม่ปลอดภัยต่างๆ นาๆ ของระบบขนส่งโดยสารสาธารณะทั้งหมดทั้งสิ้น และรู้ด้วยว่าจะจัดการแก้ไขอย่างไร จุดไหน ไม่เช่นนั้น หัวหน้า คสช. คงไม่ควันออกหูไม่พอใจที่ยังมีปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซาก

ความสูญเสียคราวนี้ ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จะไม่ยอมให้เรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคนไทยที่พึ่งพารถโดยสารสาธารณะเกิดขึ้นแบบมักง่ายกันอีกต่อไป ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 4 มกราคม 2560 จึงมีการถกกันยาวในเรื่องนี้

“ผมมีวิธีเดียวคือ จากนี้เป็นต้นไป ภายใน 3 เดือน จะดำเนินคดีทุกอย่างไม่ว่าจะเกี่ยวกับรถ คนขับ รถไม่ได้มาตรฐาน รถตู้ที่บรรทุกเกินที่นั่งจำนวนที่กำหนด เบียดเสียดยัดเยียดบนรถประจำทางทั้งหมด รถโดยสารประจำทางทั้งหมดที่ให้บริการ จะต้องมีสมุดประจำรถ ลงชื่อคนขับ เวลาขับ ทุกเส้นทาง โดยด่านตรวจทุกด่านจะต้องตรวจทั้งหมด ถ้าขับเกินเวลาต้องยึดรถ เอาคนลง แล้วหารถใหม่ คนขับใหม่

“ผมจะใช้มาตรการนี้เข้มงวดใน 3 เดือน ก่อนถึงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ครั้งต่อไป อย่าโวยวาย ถ้าใครวิ่งไม่ได้ เดี๋ยวผมหารถมาวิ่งเอง รถพวกนี้เป็นรถร่วมบริการทั้งสิ้น ถ้าทุกคนต้องการความปลอดภัย ต้องร่วมมือกับผม ถ้าไม่อยากให้มีการตายมาก เพราะวันนี้ทำเต็มที่แล้ว มีด่านมากกว่าปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่มากกว่าปีที่แล้ว ยึดรถเป็นหมื่น แล้วต้องมาดูแลรักษารถอีก แล้วยังบาดเจ็บสูญเสียอีก

 “.... บอกไปเท่าไหร่ก็แก้ไม่ได้ แก้ปัญหาด้วยมาตรา 44 ก็ยังแก้ไม่ได้ ....ต้องบังคับใช้กฎหมายก่อนที่จะมากกว่าไปนี้ เพราะผมรับไม่ได้ ตายคนเดียวผมก็รับไม่ได้ คนบาดเจ็บ สูญเสียคือใคร พ่อแม่ ครอบครัว ลูกเมีย อนาคตหายไปทั้งหมด ความหวังของครอบครัวหมดไปทั้งสิ้น .... ” นายกฯ “ลุงตู่” ลั่นวาจา

มาตรการเข้มจากนายกฯ ลุงตู่ รถตู้ต้องอยู่ในกรอบกติกา วันหน้าต้องเป็นป้ายรถขนส่งทั้งหมด ส่วนเชื้อเพลิงก็จะให้เลิกใช้ก๊าซแอลพีจีมาเป็นก๊าซเอ็นจีวี

“.... เดี๋ยวตนจะให้ถอดตัวกฎหมายต่างประเทศให้ดูว่า เขาห้ามอะไรบ้าง ใบขับขี่ทำอย่างไร .... เราปล่อยให้ตายไม่ได้แล้ว เพียงแต่เรื่องของระบบขนส่งที่ผ่านมาทั้งส่วนของรถไฟ รถเมล์ ขสมก.เคยได้รับการปรับปรุงหรือไม่ จึงต้องมีรถตู้มาเสริม แต่ก็ดันไม่ปลอดภัย มันเป็นทั้งระบบ....”

 มาตรการคุมเข้มที่จะนำมาใช้ตามกฎหมาย นับต่อแต่นี้นายกฯ ลุงตู่ คาดโทษไว้หมด เริ่มตั้งแต่พลขับ บริษัทขนส่ง ผู้ประกอบการต้องไปดูแลเรื่องประกันรถ ต่อไปนี้หากรถคันไหนไม่พร้อม ไม่ให้ออกจากท่า ห้ามเลย เพราะสภาพที่เกิดขึ้นเวลานี้เป็นความสูญเสียทั้งคน งบประมาณ และเสื่อมเสียชื่อเสียงของประเทศอีกด้วย

 “..... ทั้งหมดคือเรื่องของการปฏิรูปที่ต้องทำแบบนี้ ปล่อยมาสมควรแล้ว ด้วยกระแสต่อต้าน กระแสไม่เห็นด้วยเยอะแยะ และความสูญเสียที่เกิดขึ้นใครรับผิดชอบ ถามกันทุกปีมาตรการ ระเบียบมาตรฐานความปลอดภัย ทำแล้วกัน ถ้าไม่ทำมีเรื่องแน่ ตนจะเข้มงวดแล้ว”

เสียงเข้มจากนายกรัฐมนตรี บีบบังคับให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาเด้งรับนโยบาย โดยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ

กระทรวงคมนาคม จึงเตรียมเสนอให้ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพิ่มบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญากับผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะทุกประเภทและผู้ประกอบการและคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในเดือนมกราคมนี้ โดยต้องการให้บทลงโทษใหม่มีผลบังคับใช้ก่อนเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายน 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยใช้รถโดยสารสาธารณะจำนวนมากอีกครั้ง

นอกจากนั้น ยังจะคุมเข้มในส่วนของผู้ขับขี่รถตู้ตามข้อบังคับของกรมขนส่งทางบก ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าขับรถ 4 ชั่วโมงต้องพัก 1 ชั่วโมง และจะเร่งรัดให้ผู้ประกอบการนำรถตู้ติดจีพีเอส เพื่อให้สามารถตรวจสอบและควบคุมที่ศูนย์ควบคุมได้ และภายในปี 2562 รถตู้โดยสารขนส่งข้ามจังหวัดจะลดลง เพราะหมดอายุใช้งาน และจะหันไปใช้รถโดยสารที่มีขนาดใหญ่ขึ้นแทนเพื่อความปลอดภัย

หากจะย้อนกลับไปดูว่า รถตู้โดยสารมีปัญหามากมายเพียงไหน ต้องไปดูสถิติการร้องเรียนที่กรมการขนส่งทางบก เก็บสถิติไว้ พบว่า ในปีงบประมาณ 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,418 เรื่อง ส่วนปีงบประมาณ 2558 จำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 312 เรื่อง สำหรับประเด็นที่มีการร้องเรียนมากที่สุด อันดับ 1 ขับรถประมาท หวาดเสียว อันดับ 2 แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ อันดับ 3 เก็บอัตราค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด อันดับ 4 จอดขวางทางจราจร, ป้ายหยุดรถประจำทาง อันดับ 5 ไม่หยุดรับ-ส่งผู้โดยสารที่มีป้าย

เรื่องความไม่เหมาะสมในการนำรถตู้มาใช้โดยสารระยะไกล นายนิกร จำนง อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็เคยเสนอปัญหาว่า ตัวรถไม่ปลอดภัย มีประตูเข้า-ออกทางเดียว เชื้อเพลิงส่วนใหญ่ใช้ก๊าซหรือเบนซิน

พร้อมกับเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา คือให้ตรวจสอบเกี่ยวกับอุปกรณ์เรื่องความปลอดภัย เช่น ให้ติดตั้งอุปกรณ์ GPS เพื่อควบคุมความเร็วของรถตู้โดยสาร, ปรับปรุงให้มีทางออกฉุกเฉินที่ชัดเจน, มีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยติดรถ เช่น ค้อน และเครื่องมือดับเพลิง, ติดเข็มขัดนิรภัย และที่สำคัญคือการตรวจสอบบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และติดคู่มือความปลอดภัยไว้ในรถ เพื่อผู้โดยสารจะได้รับทราบในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน

รศ.ดร.ครรชิต ผิวนวล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งและจราจร อดีตอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และที่ปรึกษาด้านการจราจรสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยศึกษาเรื่องนี้เอาไว้มากมาย โพสเฟซบุ๊คส่วนตัว “Kunchit Phiu-Nual” หลังเกิดอุบัติเหตุใหญ่ครั้งนี้ ว่า เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา มีงานศึกษาเกี่ยวกับรถตู้ทั้งเรื่องความเสี่ยงอุบัติเหตุ ระยะทางวิ่ง ข้อเสนอการจัดการ เรื่องนี้มีบันทึกไว้ในคณะกรรมการขนส่งกลาง แต่ปรากฏว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย  

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องข้อเสนอแนะ การศึกษาและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการจราจรในช่วงเทศกาลต่างๆ ที่เน้นให้มีการวิเคราะห์อุบัติเหตุบางกรณีเป็นกรณีพิเศษ และดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

หากการแก้ไขปัญหาด้านคมนาคมขนส่งไม่ว่าจะเป็นปัญหารถติด ปัญหาอุบัติเหตุการจราจร ยังทำงานกันในลักษณะนี้ คือ ไม่รู้ว่าใคร/หน่วยงานใดเป็นผู้นำ คนทำงานรวบรวม/วิเคราะห์ข้อมูลไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เหมาะสม เมื่อมีผลการวิเคราะห์ออกมา หน่วยงานที่ควรจะรับผิดชอบก็ไม่ยอมรับผลงาน หน่วยงานตรงที่ควรจะรับผิดชอบในการวิเคราะห์อุบัติเหตุกรณีรุนแรง เช่น ขบ. (กรมการขนส่งทางบก) ไม่ยอมใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น โปรแกรมการวิเคราะห์อุบัติเหตุ

นอกจากนี้ ขบ. ยังยุบสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุการจราจรไปพักหนึ่ง ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิเคราะห์อุบัติเหตุ ก็ดันไปตั้งอยู่ในหน่วยงานประเภทวางแผน หากทำงานกันอย่างนี้ ก็อย่าหวังว่าจะแก้ไขปัญหาใดๆ ได้เลย โดยเฉพาะปัญหาอุบัติเหตุการจราจรที่ทำให้มีคนตายอันดับ 1 หรือ 2 หรือ 3 ของประเทศ อาจจะรองจาก โรคหัวใจ และมะเร็ง คนไทยก็ตายกันต่อไป สังเวยวิธีทำงานราชการแบบไทยๆ

เมื่อรู้ทั้งรู้ นายกฯ ลุงตู่ ก็ตั้งท่าเอาจริงแล้ว จะแก้ไขปัญหาลดความสูญเสียได้หรือไม่ เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ คงจะมีคำตอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น