กระทรวงพลังงานเตรียมปฏิบัติตามคำสั่งศาลฯ แจ้งหนังสือถึงบีโอไอให้ยกเลิกชะลอส่งเสริมการลงทุนไอพีพีเครือกัลฟ์ พร้อมหารืออาจยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด ยันการเจรจากัลฟ์ให้เลื่อนไอพีพีออกไปเพื่อลดสำรองยังเดินหน้า ขณะที่กรมเชื้อเพลิงฯ เผยยังไม่มีการปรับแผน PDP แต่ปรับแผนก๊าซฯ จ่อเปิดทาง ปตท.นำเข้า LNG เพิ่ม
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.กระทรวงพลังงานได้หารือด่วน หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2559 มีคำพิพากษาห้ามกระทรวงพลังงานตรวจสอบหรือกระทำด้วยวิธีใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ “เครือกัลฟ์” รวมทั้งห้ามนำผลการตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าวไปใช้หรืออ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นการภายในหรือต่อหน่วยงานอื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหาย และให้กระทรวงพลังงานแจ้งยกเลิกหนังสือที่ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เกี่ยวกับการชะลอการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนกับ “เครือกัลฟ์” นั้น กระทรวงคงจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลฯ ไปก่อนด้วยการแจ้งยกเลิกหนังสือที่ส่งไปยังบีโอไอ จากนั้นคงจะมีการพิจารณาว่าจะยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดหรือไม่
“คงจะต้องหารือทุกส่วนว่ามีความเห็นแย้งหรือไม่ เพราะถ้าเห็นต่างก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้เจรจากับเครือกัลฟ์ฯ เพราะเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการให้จ่ายงบประมาณ (คตร.) มีหนังสือแจ้งมาให้ตรวจสอบถึงการได้มาจากการประมูลโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่ชนะเพียงผู้เดียว 5,000 เมกะวัตต์โดยไม่ได้มีการห้ามเดินหน้าโครงการแต่อย่างใด” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ การฟ้องร้องของเครือกัลฟ์ฯ ประเด็นอื่นๆ ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใดต่อการเจรจากับเครือกัลฟ์ฯ ยกเว้นกรณีบีโอไอเท่านั้นทำให้การเจรจาเพื่อลดสำรองไฟฟ้ายังคงเดินหน้าได้ เนื่องจากตามแผน PDP 2015 โรงไฟฟ้าก๊าซฯ 5,000 เมกะวัตต์ในเครือกัลฟ์ฯ จะทยอยเข้าระบบปีละ 1,250 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2564-2567 ซึ่งมีผลให้สำรองไฟสูงเกินจากระดับปกติที่ควรจะอยู่ 15% นอกจากนี้ยังมีประเด็นของปัญหาความล่าช้าของการประมูล 2 แหล่งก๊าซฯ ในอ่าวไทย อาจทำให้แผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ป้อนกัลฟ์มีปัญหาได้เช่นกัน
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2015) ยังไม่ได้ปรับ โดยไอพีพีกัลฟ์ฯ ยังคงอยู่ในแผน แต่กรณีหลายอย่างยังไม่ชัดเจน กระทรวงฯ ได้ใช้วิธีปรับแผนบริหารจัดการก๊าซระยะยาว (2559-2579) ในส่วนของการหาเชื้อเพลิงไว้รองรับแทน โดยแผนล่าสุดใช้สมมติฐานโรงไฟฟ้าถ่านหินช้า แผนอนุรักษ์ทำได้แค่ 70% ก๊าซอ่าวไทยที่ป้อนโรงแยกทยอยหมด โดยคาดว่าภายใน 10 ปีข้างหน้าการผลิตก๊าซจากแหล่งในประเทศจะเหลือ 50% เท่านั้น แผนที่ปรับปรุงใหม่จึงประเมินว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ จะขยับขึ้นจาก 4,600 ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวัน เป็น 5,062 ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวัน
“กรณีที่ไม่สามารถประมูลแหล่งก๊าซฯ ที่จะหมดอายุได้ตามแผนอาจจะต้องเจรจาซื้อก๊าซฯ เจดีเอจากมาเลเซียระยะสั้น 1 ปีหรือปี 2565 ประมาณ 400 ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวัน ขณะเดียวกันกำลังพิจารณาว่าจะยืดกำลังการผลิตไปจนถึงปี 2570 ได้อย่างไรจากปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,100 ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวัน ดังนั้นจึงต้องเร่งโครงการ FSRU ในพม่าให้เร็วที่สุด ส่วนของการนำเข้าแอลเอ็นจี คาดว่าในปี 2561 จะต้องเพิ่มเป็น 6 ล้านตันต่อปี ส่วนนี้หากไม่สามารถเปิดประมูล 2 แหล่งก๊าซฯ ได้จะต้องขยายการนำเข้าแอลเอ็นจีในเทอร์มินอล 1 ของ บมจ.ปตท.เป็น 15 ล้านตันต่อปี จากที่อนุมัติแล้ว 11.5 ล้านตันต่อปี ขณะที่เทอร์มินัล 2 อีก 7.5 ล้านตันก็จะสร้างเสร็จและเข้าระบบปี 2565 ส่วน FSRU กฟผ. 5 ล้านตัน เดิมจะสร้างเสร็จปี 2567 ก็จะเร่งให้เสร็จในกลางปี 2566” นายวีระศักดิ์กล่าว
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า คำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับ กฟผ. แต่จะเป็นในส่วนของกระทรวงพลังงาน ซึ่งในส่วนของ กฟผ.เป็นเรื่องการสร้างสายส่งเพื่อรองรับการผลิตไฟของโรงไฟฟ้าไอพีพีของเครือกัลฟ์ฯ โดย กฟผ.ต้องปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีกับเครือกัลฟ์ฯ และเบื้องต้น กฟผ.กำลังขออนุมัติต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) กฟผ.เพื่ออนุมัติแผนงานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า คาดว่าจะได้รับคำตอบจากบอร์ด กฟผ.ในเร็วๆ นี้
“ประเด็นสำคัญของ กฟผ.เป็นเพียงผู้รับผิดชอบสร้างสายส่งไฟฟ้า และในระยะแรกจะเป็นเพียงการสำรวจสถานที่ก่อสร้างที่ยังไม่มีค่าใช้จ่ายมากนัก หากได้ข้อสรุปก็จะต้องมาทำเรื่องของการกำหนดพื้นที่ก่อสร้างให้ชัดเจน”