เมื่อวันที่ 14 - 15 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหาร กฟผ. ประกอบด้วยนายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการกิจการสังคม และนายภัทรพงศ์ เทพา ผู้ช่วยผู้ว่าการนโยบายได้นำคณะสื่อมวลชนดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินฮิตาชินากะและโรงไฟฟ้าชีวมวลโกโนะอิเคะ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น
โดยนายสึเนะโยชิ คาซามิ ผู้จัดการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนฮิตาชินากะ จังหวัดอิบารากิ ประเทศญีปุ่น ได้อธิบายถึงผลดำเนินงานโรงไฟฟ้าฮิตาชินากะ (Hitachinaka) ว่า บริษัทเทปโก้เป็นเจ้าของ ดูแลการผลิตและจ่ายไฟฟ้าในเขตคันโต ซึ่งรวมถึงกรุงโตเกียว โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในจังหวัดอิบารากิห่างกรุงโตเกียวราว 130 กิโลเมตร พื้นที่โรงไฟฟ้าเกิดจากการถมทะเล ซึ่งเพียงพอสำหรับโรงไฟฟ้า 2 โรง กำลังผลิตโรงละ 1,000 เมกะวัตต์ รวมกัน 2,000 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้า เครื่องที่ 1 และ 2 เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในปี 2546 และ 2556 ตามลำดับ กระบวนการผลิตใช้เทคโนโลยี Ultra Super Critical และใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงวันละ 16,000ตัน ขนส่งถ่านหินจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และรัสเซีย ลานกองถ่านหินสามารถสำรองถ่านได้ถึง 800,000 ตัน สำหรับขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้าจะนำไปถมทะเลเพื่อขยายพื้นที่ทำเป็นท่าเทียบเรือและได้เตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 3 ขนาดกำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ในระหว่างปรับพื้นที่ก่อสร้างและมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าในปี 2564
ในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีการควบคุมมลภาวะตามที่ได้ตกลงกับชุมชน ทั้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน และฝุ่น ซึ่งดีกว่าค่ามาตรฐานตามกฎหมาย 3 - 5 เท่า ทำให้ไม่มีปัญหากับชุมชนตลอดระยะเวลา 14 ปีที่เปิดดำเนินการมา สำหรับประโยชน์ที่ท้องถิ่นได้รับ จะเป็นงบประมาณที่โรงไฟฟ้ามอบให้ร้อยละ 1.4 ของเงินลงทุนโครงการ รวมทั้งจ่ายภาษีให้แก่เมืองและรัฐบาลตามปกติ โรงไฟฟ้ายังรับคนในพื้นที่เข้ามาทำงานในเวลาดำเนินงานปกติราว 200 อัตราแต่ในช่วงก่อสร้างจะมีคนทำงานถึงกว่าพันคนโรงไฟฟ้ายังดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเตรียมนำเศษไม้มาผสมใช้เป็นเชื้อเพลิงบางส่วน เพื่อช่วยให้เกิดการใช้เชื้อเพลิงในประเทศ และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกทางหนึ่ง
ขณะที่ นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กล่าวว่า การมาดูงานครั้งนี้ ทำให้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าในระดับสากล ที่ประเทศไทยจะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้แก่โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 4 - 7กระบี่ และเทพา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับโรงไฟฟ้าฮิตาชินากะ ที่นับว่า ทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยจะมีสามารถควบคุมมลภาวะทั้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน และฝุ่น ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับโรงไฟฟ้าฮิตาชินากะ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้ากระบี่ และเทพา ยังได้ติดตั้งเครื่องกำจัดปรอท หรือ ACIเพิ่มเติม เพื่อคลายความวิตกกังวลของชุมชนในพื้นที่ แม้ว่าถ่านหินจะนำมาจากแหล่งเดียวกับโรงไฟฟ้าฮิตาชินากะ คืออินโดนีเซียและออสเตรเลียก็ตาม
สำหรับการดำเนินการด้านชุมชน ถือว่าประเทศไทยดีกว่า เพราะเรามีกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ที่ชุมชนมีรายได้สามารถนำไปพัฒนาท้องถิ่นหรือใช้ตามวัถุประสงค์ของกองทุนตลอดอายุของโรงไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล กระทรวงพลังงาน ให้การสนับสนุน เนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงได้อีกบางส่วน และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาพลังงานของโลกในปัจจุบัน แต่หากมองในด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจะพบว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลส่วนใหญ่จะไม่มีความมั่นคง เนื่องจากแหล่งเชื้อเพลิงมีตามฤดูกาล การขายไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบบ Non - firm เนื่องจากมีปัจจัยเกี่ยวกับฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นในหน้าแล้งจะมีเปลือกไม้น้อยลง ทำให้คุณสมบัติไม่เป็นไปตามสเปคของโรงไฟฟ้า ตลอดจนปริมาณขี้เลื่อย ยังขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตของโรงงานแปรรูปไม้ ซึ่งขึ้นลงตามภาวะธุรกิจของโรงงานแปรรูปไม้
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการกิจการสังคม กล่าว ยังได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศ ว่า อยากขอฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า การตัดสินใจในการมีโรงไฟฟ้า เช่นโรงไฟฟ้ากระบี่นั้น รัฐบาลและ กฟผ. รับฟังทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ควรฟังเสียงที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ ว่าต้องการมีโครงการโรงไฟฟ้าหรือไม่
"การตัดสินใจว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ต้องคำนึงถึงสิทธิชุมชนเป็นสำคัญ เพราะเป็นผู้ทีจะได้รับประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยตรง ไม่ควรให้คนนอกพื้นที่มาละเมิดสิทธิโดยเป็นผู้กำหนดว่าจะสร้างหรือไม่สร้างแทนคนในชุมชน ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ชี้แจงอธิบายถึงความจำเป็น ข้อดีข้อเสีย และผลประโยชน์ที่เกิดกับชุมชน ในขณะที่ NGO ฝ่ายค้านก็สามารถแสดงความห่วงใย ข้อกังวลและให้ข้อมูลที่เชื่อว่าชุมชนจะได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายคนตัดสินคือ เสียงส่วนใหญ่ของชุมชน จึงอยากให้ชุมชนได้ร่วมกันแสดงออกไม่ทางใดก็ทางหนึ่งว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยให้ชัดเจน ด้วยวิธีการใดก็ตาม เช่น ลงชื่อสนับสนุนหรือคัดค้าน หรืออาจใช้วิธีติดป้ายสนับสนุนหรือคัดค้าน ขอให้ชุมชนออกมาปกป้องสิทธิของคนในชุมชน ไม่ให้คนนอกพื้นที่มาเป็นผู้กำหนดความต้องการแทนชุมชน" นายบุญญนิตย์ กล่าว