xs
xsm
sm
md
lg

จับตาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ “ไตรภาคี” ยุติหน้าที่-กฟผ.ถอนคณะทำงานออกจากพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” ยอมรับได้ถอนคณะทำงานโรงไฟฟ้า จ.กระบี่ ออกจากพื้นที่แล้วตั้งแต่ มิ.ย. หลังจากชุมชนส่วนใหญ่คัดค้าน ยอมรับห่วงความมั่นคงไฟฟ้าหากพึ่งพิงก๊าซฯ ทำใจค่าไฟแพงขึ้น ขณะที่ “อารีพงศ์” ระบุยังไม่ได้รับแจ้งจากนายกฯ ว่าจะเดินหน้าหรือไม่อย่างไร ขณะที่คณะกรรมการไตรภาคียุติบทบาทแล้ว

นายกรศิษฎ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ชะลอแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จนกว่าจะเป็นที่ยอมรับจากชุมชนในพื้นที่ว่า กฟผ.พร้อมน้อมรับคำสั่งและได้มีการถอนคณะทำงานเตรียมแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าออกจากพื้นที่แล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากชุมชนในพื้นที่ไม่มีการแสดงออกชัดเจนว่าต้องการให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

“การชะลอการก่อสร้างดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้ขาดความมั่นคงทางไฟฟ้า เพราะปัจจุบันภาคกลางต้องส่งไฟฟ้าไปช่วยเสริมระบบมากถึ 300-500 เมกะวัตต์ต่อวัน เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 5-6% ต่อปี จากนี้ กฟผ.จึงจะเดินหน้าศึกษาเรื่องพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องด้วยก๊าซธรรมชาติ แม้จะมีต้นทุนสูงกว่าถ่านหินค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมค่าไฟฟ้าทั้งประเทศปรับเพิ่มขึ้นในระยะยาวไปจากแผนที่เคยวางไว้ โดยโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้เร็วที่สุดในอีก 5 ปีข้างหน้า” นายกรศิษฎ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้กระทรวงพลังงานจะเร่งพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เชื้อเพลิงดังกล่าวก็ยังไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางไฟฟ้าได้ เพราะปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในการพัฒนา จึงมีข้อดีเพียงสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเท่านั้น โดยประเทศพัฒนาแล้วให้ความสำคัญกับปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นอันดับแรก เมื่ออยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว จึงจะนำสำรองไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้ามาเสริมระบบ

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ ยังไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ได้มีการเตรียมแผนรองรับไว้แล้ว เพราะต้องติดตามสถานการณ์ให้มีไฟฟ้าอย่างเพียงพอ มั่นคง โดยเมื่อโรงไฟฟ้ากระบี่ยังไม่สร้างก็ต้องเตรียมแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นมาทดแทน โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าถ่านหินนั้นเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาต่ำ เมื่อปรับมาใช้ก๊าซแอลเอ็นจี ก็ย่อมจะกระทบค่าไฟฟ้าให้สูงขึ้น

“ขณะนี้ยังเชื่อมั่นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะชาวบ้านเทพาส่วนใหญ่เห็นด้วย เข้าใจเรื่องการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม และต้องการเห็นการจ้างงานเกิดขึ้น ส่วนหากกระบี่เกิดขึ้นไม่ได้จริงทาง กระทรวงพลังงานก็ดูแผนทุกด้านรองรับ” นายอารีพงศ์กล่าว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการไตรภาคีศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ที่มี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน กล่าวว่า ขณะนี้กรรมการไตรภาคีได้ยุติหน้าที่แล้วหลังจากที่ พล.อ.สกนธ์ให้ยุติการศึกษาแนวทางการพัฒนาโรงไฟฟ้า จ.กระบี่ ด้วยการขอให้ทุกฝ่ายส่งข้อมูลเท่าที่ศึกษาได้ทั้งหมดรวบรวมไปเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ตัดสินใจเอง หลังจากที่มีการลาออกของกรรมการบางคนและการทำรายงานผลศึกษาต่างๆ ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น