xs
xsm
sm
md
lg

เร่งเครื่องสายสีแดง! ดีเลย์แล้วกว่า 20% เหตุ ร.ฟ.ท.ส่งมอบ พท.ช้า รับเหมายื่นขอขยายสัญญาก่อสร้างกว่า 1 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.” นัดถก “ซิโน-ไทยและอิตาเลียนฯ” 22 ส.ค.นี้ เคาะขยายสัญญาก่อสร้างรถไฟสายสีแดงซึ่งล่าสุดงานล่าช้ากว่า 20% แล้ว ขณะที่ผู้รับเหมาได้สิทธิ์ต่อสัญญา 5 เดือนตามมติ ครม.อยู่แล้ว โดยล่าสุดขอขยายเวลาก่อสร้างอีกกว่า 1 ปี ส่วนจะเพิ่มอีกเท่าไรต้องพิสูจน์ส่งมอบพื้นที่ล่าช้าจนกระทบก่อสร้างจริง ลั่นงานโยธา 2 สัญญาต้องเสร็จปี 61 เพื่อทดสอบระบบปี 62 และเปิดเดินรถปี 63 จากที่เริ่มก่อสร้างปี 56 เท่ากับใช้เวลาดำเนินการถึง 7 ปี



นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต บริเวณสถานีทุ่งสองห้องและสถานีกลางบางซื่อ ว่า ขณะนี้ภาพรวมการก่อสร้างมีความล่าช้ากว่า 20% เนื่องจากมีปัญหาในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างและการปรับแบบสถานีกลางบางซื่อให้รองรับรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และเพิ่มทางวิ่งจาก 3 ทางเป็น 4 ทาง ซึ่งสัญญาที่ 1 (งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) ถึงวันที่ 25 ก.ค. 59 แผนงานกำหนดที่ 60% แต่มีความคืบหน้า 47.26% ล่าช้ากว่าแผนกว่า 10% สัญญาที่ 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต) แผนงานกำหนดที่ 90% งานคืบหน้า 67.73% ล่าช้ากว่าแผนกว่า 20%

ทั้งนี้ ผู้รับจ้าง สัญญา 1 กิจการร่วมค้า เอสยู ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่าสัญญา 29,826,973,512 บาท และสัญญา 2 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) มูลค่าสัญญา 21,235,400,000 บาท ได้ขอขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีกกว่า 1 ปี จากที่เริ่มสัญญาวันที่ 4 มี.ค. 2556-10 ก.พ. 2560 (1,440 วัน) โดยในวันที่ 22 ส.ค.นี้จะประชุมร่วมกับผู้รับจ้างทั้ง 2 สัญญาเพื่อพิจารณารายละเอียดในประเด็นดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นผู้รับจ้างจะได้สิทธิ์ในการต่อสัญญาก่อสร้างออกไปอีก 5 เดือนอยู่แล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วม โดยจะสิ้นสุดที่เดือน ก.ค. 2560

ส่วนจะมีการขยายเวลาก่อสร้างออกไปเพิ่มเติมอีกหรือไม่อย่างไร จะต้องพิจารณาปัญหาอุปสรรค เช่น สัญญา 1 ติดเรื่องแนวท่อบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) โดยเพิ่งได้ข้อยุติเมื่อต้นปี 2559 หรือสัญญา 2 มีปัญหาการรื้อย้ายชุมชน เป็นต้น ดังนั้น ต้องพิสูจน์เหตุผลและหาจุดลงตัวว่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ ทำให้ผู้รับจ้างทำงานในพื้นที่ไม่ได้จริงกระทบเวลาเท่าไร ต้องคำนวณหักลบกันไปตามจริงและประเมินว่าเนื้องานที่เหลือจะใช้เวลาอีกเท่าไร ต้องประมวลทั้งหมดเพื่อสรุปภายในเดือน ส.ค.นี้ ยึดกรอบการก่อสร้างงานโยธาจะต้องเสร็จภายในปี 2561 และในปี 2562 จะเป็นการทดสอบระบบเพื่อเปิดเดินรถในปี 2563 พร้อมทั้งต้องบูรณาการทำงานร่วมกันของสัญญา1, 2 และสัญญา 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาตู้รถไฟฟ้า) ขณะที่สัญญากำหนดค่าปรับสำหรับการก่อสร้างที่ล่าช้ากว่าสัญญาที่อัตรา 0.01% ของมูลค่าสัญญา

สำหรับการเดินรถสายสีแดงนั้น ร.ฟ.ท.กำลังศึกษารายละเอียดเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างการเดินรถเอง โดยตั้งบริษัทลูก หรือการว่าจ้างเอกชน ซึ่งในส่วนของสัญญา 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) นั้น ร.ฟ.ท.ได้ลงนามกับกิจการร่วมค้า MHSC (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) ให้เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างรางรถไฟ, ระบบไฟฟ้าและส่งกำลัง, ระบบอาณัติสัญญาณ, ระบบติดต่อสื่อสาร, ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ และตู้รถโดยสาร มูลค่าสัญญา 32,399.99 ล้านบาท เริ่มงานเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2559 ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (48 เดือน) คาดว่าจะเปิดใช้งานได้จริงประมาณต้นปี 2563 เนื่องจากติดปัญหาการเข้าพื้นที่ของสัญญาที่ 3 ที่ล่าช้า

โดยจัดหารถจำนวน 130 ตู้ โดยตามผลศึกษาจะจัดรถออกเป็น 2 ชุด ประกอบด้วย 1. ขบวนละ 4 ตู้ จำนวน 10 ขบวน วิ่งให้บริการช่วงบางซื่อ-รังสิต (รวม 40 ตู้) 2. ขบวนละ 6 ตู้ จำนวน 7 ขบวน ให้บริการช่วงบางซื่อ-รังสิต และอีก 8 ขบวนให้บริการช่วง บางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยอาจจะมีการปรับใหม่อีกครั้งเพื่อให้เหมาะสมกับการจัดความถี่ในการเดินรถ คาดว่าในปีที่เปิดให้บริการสายสีแดงจะมีผู้โดยสารประมาณ 129,000 คน/วัน/ทิศทาง และเพิ่มขึ้นเป็น 230,000 คน/วัน/ทิศทางในปี 2585

สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต มีจุดเริ่มต้นโครงการที่สถานีบางซื่อ กม. 6+000 (จากหัวลำโพง) บริเวณแยกประดิพันธ์ ประมาณ 1.8 กิโลเมตร ทางทิศใต้ของสถานีบางซื่อ ไปตามแนวเขตทางรถไฟสายเหนือผ่านเขตจตุจักร บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และไปสิ้นสุดที่สถานีรังสิต จังหวัดปทุมธานี ระยะทางรวมประมาณ 26.3 กิโลเมตร มี 10 สถานี ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ, สถานีจตุจักร, สถานีวัดเสมียนนารี, สถานีบางเขน, สถานีทุ่งสองห้อง, สถานีหลักสี่, สถานีการเคหะ, สถานีดอนเมือง, สถานีหลักหก และสถานีรังสิต

***สถานีบางซื่อ, ทุ่งสองห้องเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
โดยเฉพาะงานก่อสร้างของสถานีทุ่งสองห้องมีความก้าวหน้า 70.89% โดยสถานีแบ่งเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นพื้นดิน (Ground Floor Level) เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถรับ-ส่งผู้โดยสาร ชั้นที่ 2 (Concourse Level) เป็นชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และ ชั้นที่ 3 (CT Platform Level) เป็นชั้นชานชาลา มี 4 ทางวิ่ง โดย 2 ทางวิ่งด้านข้างรองรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ส่วน 2 ทางตรงกลางรองรับรถไฟทางไกล โดยมีชานชาลาอยู่ด้านข้างสองฝั่ง (Side Platform)

สถานีกลางบางซื่อ (Grand Station) แบ่งเป็นชั้นใต้ดินสำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน ชั้น 1 จะเป็นชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร ซึ่งมีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถไปยังรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีบางซื่อด้วย โดยคืบหน้า 38.24% ซึ่งล่าช้ากว่าแผนเนื่องจากติดการรื้อย้ายท่อส่งน้ำมัน ส่วนชั้น 2 เป็นชานชาลา มี 12 ทางวิ่ง โดยรองรับสายสีแดง 4 ชานชาลา รองรับรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และชั้นที่ 3 ก่อสร้างโครงสร้างไว้เผื่อ 12 ทางวิ่ง รองรับขบวนรถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ในอนาคต

***เดินหน้าต่อขยายโครงข่ายสีแดงเชื่อมเมืองรอบ กทม.. ฉะเชิงเทรา, อยุธยา, นครปฐม
นายวุฒิชาติกล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ครม.ได้อนุมัติการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (Missing Link) สีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) เพื่อเสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณา นอกจากนี้ เพื่อให้การเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทางจากจังหวัดรอบนอกกรุงเทพฯ เข้ามาได้สะดวกมากขึ้น ร.ฟ.ท.มีแผนจะต่อขยายเส้นทางจากรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์-ชุมทางบ้านภาชี, ต่อขยายจากหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา และต่อขยายจากตลิ่งชัน-ศาลายา-นครปฐม




กำลังโหลดความคิดเห็น