ร.ฟ.ท.ได้ฤกษ์เซ็นสัญญา 3 ติดตั้งระบบและจัดหารถไฟฟ้าสายสีแดง กับกลุ่มมิตซูบิชิวงเงิน 3.23 หมื่นล้าน “ออมสิน” เร่งสปีด ร.ฟ.ท. ตั้งเป้าเปิดให้บริการเดินรถจากบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในปี 2562
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างผู้รับเหมาโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง งานสัญญา 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับกิจการร่วมค้า MHSC (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) ว่า สัญญาที่ 3 จะเป็นงานออกแบบและก่อสร้างรางรถไฟ, ระบบไฟฟ้าและส่งกำลัง, ระบบอาณัติสัญญาณ, ระบบติดต่อสื่อสาร, ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ และตู้รถโดยสาร มูลค่าสัญญา 32,399.99 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (48 เดือน) ประมาณต้นปี 2563 โดยมีเป้าหมายจะเร่งรัดงานให้เสร็จภายในปี 2562 เพื่อ ให้ใกล้เคียงกับการก่อสร้างงานโยธาในสัญญาที่ 1 และ 2 ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 และเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงตลอดทั้งเส้นทางในปี 2562
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้ก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. ในปี 2552 แล้วเสร็จปี 2555 มี 3 สถานี คือ สถานีตลิ่งชัน, สถานีบางบำหรุ และสถานีบางซ่อน แต่ยังไม่มีการวางระบบราง,ระบบอาณัติสัญญาณ โดยจะดำเนินการพร้อมกันกับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ภายใต้งานสัญญา 3 โดยกิจการร่วมค้า MHSC โดยในอนาคต จะก่อสร้างสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายาเพิ่มเติมอีก 3 สถานี คือ สถานีบ้านฉิมพลี, สถานีบางกรวย-กฟผ. และสถานีสะพานพระราม 6
ส่วนการก่อสร้าง รถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทางประมาณ 26.3 กม. ในสัญญาที่ 1 (งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) มีกิจการร่วมค้า เอสยู ประกอบด้วย บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) เป็นผู้รับจ้าง มูลค่างาน 29,826 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต) มี บมจ.อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้ดำเนินการ มูลค่างาน 21,235 ล้านบาท มี 10 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ, สถานีจตุจักร, สถานีวัดเสมียนนารี, สถานีบางเขน, สถานีทุ่งสองห้อง, สถานีหลักสี่, สถานีการเคหะ, สถานีดอนเมือง, สถานีหลักหก และสถานีรังสิต
ทั้งนี้ รถไฟสายสีแดงเป็นโครงการที่จะช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนน รวม 8 จุด และลดการเกิดอุบัติเหตุ, สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเดินรถไฟทางไกลสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ และระบบไฟชานเมือง ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของประเทศได้อย่างมาก ที่สำคัญจะทำให้ระบบขนส่งทางรถไฟมีความสะดวก ทันสมัย ตรงเวลา จะจูงใจให้คนหันมาใช้บริการรถไฟมากขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิต-บางซื่อได้ไม่น้อยกว่า 306,608 คน/วัน และหากขยายเส้นทางจากบางซื่อไปถึงชุมทางบ้านภาชีจะรองรับปริมาณผู้โดยสารเพิ่มประมาณ 449,080 คน/วัน