xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนเมกะโปรเจกต์คมนาคมปี 60 วาง 36 โครงการมูลค่า 8.97 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“อาคม” กางแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ปี 60 อัด 36 โครงการมูลค่า 8.97 แสนล้าน ชง ครม.ขออนุมัติ 13 ธ.ค. เผยยังเน้นระบบรางอัดเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 85% ระบุ 15 โครงการ 4.68 แสนล้านพร้อมเปิดประมูล เทกระจาดเม็ดเงินก้อนแรกเข้าระบบปี 60 ขณะที่ ครม.ไฟเขียวกรอบ MOC รถไฟไทย-จีน เพื่อเซ็นยืนยันพัฒนารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2560 เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ โดยมีทั้งสิ้น 36 โครงการ วงเงินลงทุน 897,031 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการลงทุนงานด้านระบบรางมูลค่าประมาณ 85% ระบบทางด่วนและมอเตอร์เวย์ 9% พัฒนาสนามบินและศูนย์ขนส่ง 6% โดยเน้นการรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development หรือ EEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษ การเชื่อมต่อโครงข่ายในประเทศและแหล่งท่องเที่ยว  
 
ทั้งนี้ ตามแผนงานแบ่งโครงการออกเป็น 5 กลุ่มได้แก่ 1. โครงการพร้อมประกวดราคา จำนวน 15 โครงการ มูลค่า 468,564 ล้านบาท 2. โครงการที่พร้อมดำเนินการก่อสร้าง 5 โครงการ มูลค่า 54,798 ล้านบาท 3. โครงการพร้อมเปิดบริการ เช่น เดินเรือเฟอร์รี เชื่อมอ่าวไทย, ระบบตั๋วร่วม 4. โครงการพร้อมเสนอคณะกรรมการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) 8 โครงการ มูลค่า 299,278 ล้านบาท 5. โครงการเตรียมเสนอเพื่อผลักดัน 4 โครงการ มูลค่า 48,985 ล้านบาท
 
สำหรับโครงการในแผนปฏิบัติการปี 2559 จำนวน 20 โครงการนั้น กระทรวงคมนาคมได้ขับเคลื่อนและได้รับการอนุมัติจาก ครม.แล้ว 13 โครงการ มูลค่า 525,734 ล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2559 และโครงการที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2559-2560 อีก 7 โครงการ มูลค่า 874,235 ล้านบาท โดยบางโครงการ ครม.อนุมัติแล้ว เช่น รถไฟทางคู่ ขณะที่รถไฟความเร็วสูง 2 สาย คือ กรุงเทพ-ระยอง และกรุงเทพ-หัวหิน อยู่ในขั้นตอนเสนอคณะกรรมการ PPP
 
นายอาคมกล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 ธ.ค.ว่า ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ว่าด้วยกรอบความร่วมมือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางภายใต้กรอบยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย (MOC) ซึ่งจะเป็นการลงนามร่วมกับจีนในวันที่ 9 ธ.ค. 2559 เพื่อยืนยันถึงเจตนารมณ์ในความร่วมมือระหว่างไทยจีนในการพัฒนาระบบราง โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรก กรุงเทพ-นครราชสีมา ซึ่งจะแบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก) ตอนที่ 2 (ปากช่อง-คลองขนานจิตร) ระยะทาง 11 กม.ตอนที่ 3 (แก่งคอย-โคราช) ระยะทาง 119 กม.ตอนที่ 4 (กรุงเทพฯ-แก่งคอย) ระยะทาง 119 กม.ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย   
 
โดยขณะนี้รอ 3 เรื่อง คือ แบบก่อสร้างตอนแรก ระยะทาง 3.5 กม.ซึ่งจีนส่งมอบให้ไทยตรวจสอบคืบหน้า 90% จะสรุปได้ใน ธ.ค. 59 หรือต้น ม.ค. 60 เรื่องร่างสัญญา Engineering Procurement and Construction (EPC-2 ) สัญญางานออกแบบ, สัญญาควบคุมงาน ซึ่งการเจรจาด้านการเงินนั้นไทยยืนยันว่าต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล และกฎหมายไทย จะยกร่างเสร็จใน ธ.ค.นี้ และการเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติโครงการช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา วงเงินลงทุน 179,421 ล้านบาท ซึ่งเจรจาปรับลดจากเดิมที่ 2.2 แสนล้านบาท ประมาณ 40,579 ล้านบาท (18.4%)
กำลังโหลดความคิดเห็น