xs
xsm
sm
md
lg

จ่อถกโละสต๊อกข้าวเน่าทำเอทานอล พร้อมทบทวนแผนเลิกโซฮอล์ 91

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมธุรกิจพลังงานเตรียมถกผู้ผลิตเอทานอลสัปดาห์หน้าสนองนโยบายรัฐดึงสต๊อกข้าวเสื่อมคุณภาพมาผลิตเอทานอล หลังได้รับแจ้งมีปริมาณเบื้องต้น 4 ล้านตัน พร้อมออกคำสั่งให้ผู้ค้าและผลิตเอทานอล 18 รายรายงานกรผลิต การซื้อ จำหน่ายทุกวันเริ่ม 1 ธ.ค.-28 ก.พ. 60 และปัญหาเอทานอลตึงตัวทำให้ต้องทบทวนประกาศเลิกแก๊สโซฮอล์ 91

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการนำข้าวเสื่อมคุณภาพในสต๊อกรัฐซึ่งได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการปริมาณ 4 ล้านตันที่ยังคงเก็บไว้ในโกดังเพื่อนำมาผลิตเป็นเอทานอล ดังนั้นภายในสัปดาห์หน้าจะต้องหารือกับผู้ผลิตเอทานอลถึงความเป็นไปได้ เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์เองเคยนำข้าวเสื่อมคุณภาพมาประมูลแล้วแต่ราคาที่ประมูลหากนำมาผลิตเอทานอลยังไม่คุ้มค่า

“ได้รับรายงานว่าข้าวเสื่อมคุณภาพนำไปผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ได้ ก็ต้องดูว่าถ้าจะทำเอทานอลหากจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่ต้องประมูลราคา เพราะลำพังแค่บวกค่าขนส่งมาก็อาจจะไม่คุ้ม โดยราคาต้องสู้กับมันสำปะหลังได้เพราะโรงงานผลิตเอทานอลที่จะผลิตจากข้าวได้จะเป็นโรงงานที่ผลิตจากมันสำปะหลังเท่านั้น และหากนำเข้ามาจะกระทบกับมันฯ หรือเปล่า” นายวิฑูรย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางผู้ค้าน้ำมัน ได้แก่ เชฟรอน(คาลเท็กซ์) เอสโซ่ และ บมจ.ปตท. ได้ทำหนังสือขอให้นำสำรองเอทานอล 1% มาใช้เพราะเอทานอลตึงตัว ล่าสุดกรมฯ ยังไม่เห็นความจำเป็นในการลดสำรองจึงได้มีหนังสือคำสั่งที่ลงนามโดย รมว.พลังงานกำหนดให้ผู้ผลิตที่เป็นผู้ผลิตเอทานอล 18 ราย (21 โรงงาน) รายงานการผลิต การซื้อ การจำหน่าย ปริมาณเอทานอล คงเหลือรายวันให้กรมฯ ทราบภายในเวลา 11.00 น.ของวันทำการถัดไปทุกวันตามแบบที่กรมฯ กำหนด เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 59 จนถึง 28 ก.พ. 2560 หากไม่ดำเนินการจะถือว่ากระทำผิดตาม พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง

นายวิฑูรย์กล่าวว่า ปัญหาเอทานอลตึงตัวนั้นคาดว่าเป็นการวางแผนที่ผิดพลาดของผู้ค้า และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ผลิตมีการหยุดซ่อมบำรุง 3 ราย รวม 5 โรงงาน ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณเอทานอลหายไปจากระบบถึง 1 ล้านลิตรต่อวัน ประกอบกับฤดูกาลเปิดหีบอ้อยที่ล่าช้าออกไปจะส่งผลให้การผลิตเอทานอลช่วงเดือนธันวาคมนี้-กุมภาพันธ์ปีหน้าเกิดภาวะตึงตัว กระทบต่อผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 บางรายที่ใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์

“ขณะนี้ผู้ผลิตเอทานอล 18 ราย 21 โรงงาน คิดเป็นกำลังผลิตรวม 4.9 ล้านลิตรต่อวัน แต่ความต้องการใช้ปกติอยู่ที่ 3.6 ล้านลิตรต่อวัน และความต้องการใช้สูงสุดที่เคยเกิดขึ้นอยู่ที่ 3.8 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้นเอทานอลจึงไม่น่าจะขาดและเมื่อมีการเปิดหีบอ้อย 6 ธ.ค.นี้ไปแล้วก็น่าจะดีขึ้น” นายวิฑูรย์กล่าว

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ภาครัฐไม่มั่นใจในเสถียรภาพการผลิตเอทานอลของภาคเอกชน ดังนั้นกรมฯ อาจต้องทบทวนแผนการยกเลิกหัวจ่ายแก๊สโซฮอล์ E10 แก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งเดิมกรมฯ จะต้องประกาศเดือนนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวในการยกเลิกการจำหน่าย มีผลวันที่ 1 ม.ค. 61 รวมถึงมาตรการเพิ่มส่วนต่างราคาระหว่างแก๊สโซฮอล์ E20 แก๊สโซฮอล์ E10 ตามค่าความร้อนที่จะต่างกันราว 4-5 บาทต่อลิตรเพื่อส่งเสริมการใช้ E20 ออกไปก่อนเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น