กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันจ่อหารือ ก.พลังงานทบทวนการสำรองน้ำมันตามกฎหมาย และราคาก๊าซหุงต้มที่รับซื้อจากหน้าโรงกลั่น ชี้ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการโรงกลั่น โดยเห็นว่าการสำรองน้ำมันระหว่างผู้ค้า ม.7 กับโรงกลั่นควรมีสัดส่วนเท่ากันที่ 3.5% และราคาแอลพีจีที่รับซื้อจากโรงกลั่นควรอยู่ที่ราคาตลาดตะวันออกกลาง (ซีพี) จากปัจจุบันขายอยู่ที่ราคาซีพีลบ 20 เหรียญสหรัฐ/ตัน
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มโรงกลั่นได้หารือกับกระทรวงพลังงานเพื่อขอให้ทบทวนเรื่องสำรองน้ำมันตามกฎหมายและราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่รับซื้อจากโรงกลั่นน้ำมันในอัตราที่ต่ำ ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการโรงกลั่นเมื่อเทียบกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบ
โดยราคาแอลพีจีที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้รับซื้อจากโรงกลั่นฯ อยู่ที่ราคาตะวันออกกลาง (ซีพี) ติดลบ 20 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็นระดับราคาที่คำนวณมาจากโรงกลั่นต้องส่งออกแอลพีจี แต่ข้อเท็จจริงปัจจุบันไทยไม่มีการส่งออกแอลพีจีไปต่างประเทศมานานแล้ว โดยไทยกลายเป็นผู้นำเข้าแอลพีจีหลังจากความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ทางกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันจะเสนอขอให้ปรับราคาจำหน่ายราคาแอลพีจีในส่วนโรงกลั่นเป็นราคาตลาดโลก ซึ่งเป็นระดับราคาซีพี โดยไม่ต้องบวกค่าขนส่ง 20 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ส่วนประเด็นสำรองน้ำมันตามกฎหมายนั้น ทางกลุ่มโรงกลั่นเห็นว่ากระทรวงพลังงานน่าจะปรับแนวทางใหม่ โดยโรงกลั่นฯ และผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 สำรองในสัดส่วนที่เท่ากัน จากที่ปัจจุบันทางกระทรวงพลังงานลดสำรองน้ำมันผู้ค้าน้ำมันจาก 6% เหลือ 1% และคงสำรองของโรงกลั่นในอัตรา 6% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่างกันมาก โดยอัตราที่ควรจะเป็นคือ เมื่อรวมแล้วสำรองของทั้ง 2 ฝ่ายการสำรองน้ำมันอยู่ที่ 7% ดังนั้น ผู้ค้าน้ำมัน และโรงกลั่นควรสำรองในสัดส่วนเท่ากันที่ 3.5%
“กลุ่มโรงกลั่นเห็นว่าสำรองน้ำมันควรจะอยู่ในอัตราเท่ากันระหว่างผู้ค้าน้ำมัน กับโรงกลั่น เพราะหากเกิดสงครามในแหล่งผลิตน้ำมันดิบ การขนส่งน้ำมันดิบทำไม่ได้ ประเทศจะได้มีน้ำมันสำเร็จรูปสำรองไว้เพียงพอ ซึ่งการสำรองน้ำมันทุก 1% จะมีปริมาณเพียงพอต่อการใช้ 3.6 วัน หากสำรองกฎหมายรวมกันเป็นร้อยละ 7 ก็จะมีใช้ถึง 25.2 วัน ก็คาดหวังกระทรวงพลังงานจะพิจารณาทบทวนเพื่อความมั่นคงของประเทศ” นายสุกฤตย์กล่าว
ในส่วนของแผนน้ำมันระยะยาว (oil plan 2558-2579) ที่กระทรวงพลังงานประเมินว่าไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันใหม่ จากปัจจุบันที่มีโรงกลั่นทั้งสิ้น 5 โรง คิดเป็นกำลังการกลั่นรวม 1 ล้านบาร์เรล/วัน นั้น ทางกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันเห็นด้วยเพราะเป็นไปตามทิศทางการส่งเสริมพลังงานทดแทนที่มีการใช้เอทานอลและไบโอดีเซลผสมในน้ำมันเบนซินและดีเซล ทำให้การใช้น้ำมันก็จะไม่ได้เพิ่มขึ้น และการส่งออกก็จะอยู่ในสัดส่วน 10-20% ซึ่งก็เป็นไปได้ที่การใช้น้ำมันภาพรวมใน 20 ปีข้างหน้าจะเป็นไปตามที่กระทรวงพลังงานคาดที่ 9 แสนบาร์เรล/วัน
ด้านนายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า การลดสำรองน้ำมันของผู้ค้ามาตรา 7 เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะหากประเมินภาวะน้ำมันของตลาดโลก น้ำมันที่ล้นความต้องการและราคาต่ำ หากเกิดปัญหาขาดแคลนประเทศไทยก็สามารถสั่งนำเข้าได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐก็พร้อมรับฟังข้อเสนอภาคเอกชนอื่นๆ