จับตา กบง.ที่มี “บิ๊กโย่ง” เป็นประธานนัดแรกประชุม 7 ก.ย.นี้เพื่อพิจารณาราคาแอลพีจีขายปลีกตามกลไกตลาดโลกประจำเดือนกันยายน คาดเคาะลง 70 สต./กก. ด้าน สปช.เสนอผลงาน 18 ข้อส่งรัฐบาลให้ดำเนินการภายในสิ้นปีนี้ และระยะยาวโดยเฉพาะเสนอยกเลิกอ้างอิงราคาสิงคโปร์
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งจะมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานประชุมครั้งแรกวันที่ 7 กันยายนนี้ จะมีวาระที่น่าสนใจว่าด้วยเรื่องการกำหนดราคาแอลพีจีขายปลีกประจำเดือนกันยายน 2558 ให้สะท้อนกลไกตลาดโลก โดยมีแนวโน้มว่าจะปรับลดลงเฉลี่ย 0.70 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากราคาขายปลีกเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 22.96 บาท/กก.
“เดือนสิงหาคมราคาแอลพีจีได้ปรับลดลง 1 บาทต่อ กก.จาก ก.ค. ซึ่งขณะนั้นราคาแอลพีจีตะวันออกกลาง (ซีพี) ที่ประมาณ 360 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขณะนี้ราคาแอลพีจีมีการสวิงตัวขึ้นลงตามทิศทางน้ำมันซึ่งขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 308 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ซึ่งหากราคาเฉลี่ยอยู่ประมาณ 300 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ก็คาดว่าราคาแอลพีจีขายปลีกจะลดประมาณ 70 ส.ต./กก. เพราะเดือนที่แล้วใช้ราคาคำนวณที่ประมาณ 379 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ กบง.จะมีมติอย่างไร หรือจะปรับลดเท่าใด” แหล่งข่าวกล่าว
ด้านคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงผลงานแนวทางและขั้นตอนการปฏิรูปพลังงาน 18 ประเด็น โดยนำเสนอต่อ ครม.ไปแล้ว แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกดำเนินการได้ทันที และระยะต่อเนื่องทำภายใน 1-3 ปี ซึ่งอยู่ภายใต้หลักการมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยเสนอให้ดำเนินการแก้ไขปีนี้ 4 เรื่อง 1. การปฏิรูปราคาพลังงานให้เป็นธรรมต่อผู้ใช้ทุกกลุ่มเนื่องจากเห็นว่าดีเซลลดลงแต่ค่าครองชีพกลับไม่ลด แต่การอุดหนุนราคาดีเซลของรัฐบาลตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ถึง 3.5 แสนล้านบาท
2. รัฐควรยกเลิกการกำหนดสูตรราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นโดยอ้างอิงจากราคาสิงคโปร์ และให้โรงกลั่นตั้งราคาเองตามการแข่งขันของตลาด เพราะหากยังอ้างอิงราคานำเข้า ก็จะทำให้โรงกลั่นที่มีกำลังการกลั่นเหลือจำเป็นต้องลดราคาขายลงมาเพื่อให้แข่งขันได้ เนื่องจากปัจจุบันไทยมีกำลังการกลั่นรวมอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่มีความต้องการใช้เพียง 8 แสนบาร์เรลต่อวัน 3. สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการนำเข้าน้ำมันมากขึ้น เพื่อนำมาแข่งขันกับโรงกลั่นในประเทศ เป็นการกดดันให้โรงกลั่นต้องตั้งราคาที่สามารถแข่งขันได้ และ 4. ส่งเสริมให้มีผู้ค้าน้ำมันรายใหม่เกิดขึ้นในตลาด พร้อมลดสิทธิประโยชน์ของผู้ค้ารายใหญ่เพื่อลดการผูกขาดทางธุรกิจ