xs
xsm
sm
md
lg

กบง.เคาะเปิดเสรีนำเข้าแอลพีจี 1 ม.ค. 60 รองรับก๊าซฯ อ่าวไทยลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กบง.” เคาะเปิดเสรีนำเข้าแอลพีจีมีผล 1 ม.ค. 2560 โดยไม่ต้องประมูล แค่แจ้งปริมาณนำเข้ากับ ธพ. แต่หากนำเข้าไม่ได้ต้องถูกลงโทษด้วย พร้อมเปิดทางให้ใช้คลังที่ไหนก็ได้ไม่จำกัดว่าต้องเป็นคลัง ปตท.เท่านั้น กบง.ครั้งต่อไปจ่อปรับราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่นให้สะท้อนต้นทุนตลาดโลกหนุนผลิตเพิ่ม

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อเร็วๆ นี้ได้เห็นชอบแนวทางการเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลพีจี) โดยไม่ต้องประมูล (บิดดิ้ง) เพียงแค่แจ้งการนำเข้าต่อกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับปริมาณแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงในอนาคต

“การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 8 ธ.ค.จะรายงานแนวทางการเปิดเสรีการนำเข้าแอลพีจี ซึ่งขั้นตอนการนำเข้าไม่ต้องประมูล เพียงแค่แจ้งการนำเข้าและที่สำคัญจะต้องนำเข้าได้จริงหากมีการแจ้งแล้วไม่สามารถนำเข้าจะต้องถูกปรับตามกฎหมาย” รมว.พลังงานกล่าว

สำหรับการนำเข้านั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้คลังแอลพีจีของ บมจ.ปตท.เท่านั้น สามารถใช้คลังของรายใดก็ได้หากเอกชนนั้นๆ พร้อม อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเอื้อให้มีการผลิตแอลพีจีในประเทศมากขึ้นด้วยการประชุม กบง.ในครั้งต่อไปจะมีการพิจารณาปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่น จากเดิมเป็นราคา CP ลบ 20 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็นราคา CP หรือราคาตลาดโลกแทน

รมว.พลังงานยังกล่าวถึงราคาแอลพีจีเดือน ธ.ค.ว่า กบง.ได้เห็นชอบตรึงราคาแอลพีจีอยู่ที่ 20.29 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ไว้คงเดิม เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาระประชาชน เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของแอลพีจียังอยู่ในระดับ 7,000 กว่าล้านบาท

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือกับผู้ผลิตเอทานอล ผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เกี่ยวกับปริมาณเอทานอลในช่วงที่ผ่านมาพบว่าเกิดปัญหาตึงตัวโดยมีปริมาณผลิตใกล้เคียงกับการบริโภคเนื่องจากโรงงานเอทานอลกลุ่มมิตรผล ที่ จ.ชัยภูมิ มีปัญหาต้องหยุดผลิต แต่ล่าสุดได้แจ้งกลับมาผลิตแล้วได้เต็มที่ ประกอบกับจะมีการเปิดหีบอ้อยโดยทยอยหีบตั้งแต่ 6 ธ.ค. ดังนั้นช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้จะมีโมลาส (กากน้ำตาล) ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลออกมาได้ ปัญหาก็จะคลี่คลาย
กำลังโหลดความคิดเห็น