“อาคม” เตรียมชง คจร.ทบทวนมติขอฟื้นทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ เฉพาะช่วง N2 คาดลงทุน 1.5 หมื่นล้าน พร้อมพับแผนให้ สนข.ศึกษารถไฟฟ้าสีน้ำตาลทดแทนเนื่องจากทางด่วนยังจำเป็น ด้าน สนข.เผยวาระ คจร.กลางเดือน ธ.ค.นี้ จะรายงานคืบหน้าปัญหาอุปสรรค โอนเดินรถสายสีเขียวให้ กทม. การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ และแผนแม่บทพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธิน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งจะประชุมในเดือนธันวาคมนี้ ขอทบทวนมติเดิมในเรื่องการดำเนินโครงการระบบทางด่วน ขั้นที่ 3 สายเหนือ ซึ่งมติ คจร.ก่อนหน้านี้ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาระบบรถไฟฟ้าแทน โดยจะขอทบทวนใหม่ เป็นการนำโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 มาดำเนินการก่อสร้าง โดยเป็นไปตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความเห็นว่าควรให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินการ วงเงินประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากโครงการยังมีความจำเป็นช่วยแก้จราจรบนถนนเกษตร-นวมินทร์ และควรใช้ประโยชน์ตอม่อที่ได้มีการลงทุนก่อสร้างไปแล้ว นอกจากนี้ โครงการจะนำโครงการบรรจุในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ปี 2560 อีกด้วย
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข.ในฐานะเลขาฯ คจร. กล่าวว่า เตรียมเสนอ คจร. ซึ่งคาดว่าจะประชุมช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ เพื่อขอทบทวนมติ คจร.เดิมที่ให้ สนข.ศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-บึงกุ่มทดแทนทางด่วนขั้น 3 สายเหนือ (N1, N2, N3) เนื่องจากทาง กทพ.ได้เสนอขอดำเนินการโครงการทางด่วนในช่วง N2 ขณะที่ สนข.ได้จัดเตรียมงบประมาณปี 2560 สำหรับการศึกษารถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลไว้แล้ว ดังนั้นจะต้องขึ้นกับที่ประชุม คจร.ว่าจะมีความเห็นอย่างไร
นอกจากนี้ จะรายงานความคืบหน้าการโอนงานเดินรถสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่ามีปัญหาอุปสรรคอย่างไร และความคืบหน้าปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ เช่น สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค
รวมถึงแผนแม่บทการพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ 2,325 ไร่ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งแบ่งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ออกเป็น 4 แปลง โดยแปลง A มีพื้นที่ 35 ไร่, แปลง B พื้นที่ 78 ไร่, แปลง C พื้นที่ 105 ไร่, แปลง D พื้นที่ 87.5 ไร่ และ สนข.ได้ศึกษาออกแบบระบบขนส่งเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) ระยะทาง 15 กม. มี 16 สถานี นอกจากนี้จะรายงานความคืบหน้าในการแก้ปัญหาจราจรเร่งด่วนของคณะกรรมการแก้ปัญหาฯ ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อีกด้วย
ด้าน พลเอก วิวรรธน์ สุชาติ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.กล่าวว่า ขณะนี้การออกแบบโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 ช่วงเกษตร-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกใกล้เสร็จแล้ว โดยจะหารือร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) ก่อสร้างสะพานลอยข้ามแยกบนถนนเกษตร-นวมินทร์ไปพร้อมกัน