xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ชี้ กทม.ต้องจ่ายหนี้สีเขียวตามข้อตกลง เชื่อใน 5 ปีสีม่วงไม่ขาดทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ( รฟม.)
ประธานบอร์ด รฟม.สวนกลับ กทม.ไม่มีเงินจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสีเขียวใต้ ไม่ได้เพราะตกลงกันแล้วต้องทำตามมติคณะกรรมการฯ ขณะที่เร่งเปิดเดินรถ 1 สถานีเต็มที่ มั่นใจเจรจายุติในปีนี้ ขณะที่แบกขาดทุนสีม่วงเหตุขนส่งมวลชนไม่หวังกำไร ชี้อีก 5 ปีผู้โดยสารทะลุเป้ามีกำไรแน่ หลังเชื่อม 1 สถานีเปิดส่วนต่อสีน้ำเงิน และสีม่วงใต้

พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ( รฟม.) เปิดเผยว่า กรณีการโอนงานเดินรถสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้นจะเป็นไปตามแผน โดยในเดือนธันวาคมนี้ กทม.จะทดลองเดินรถ ช่วง 1 สถานี (แบริ่ง-สำโรง) ก่อนประมาณ 2-3 เดือน และจะเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มีนาคม 2560 ขณะที่การโอนหนี้สินของโครงการนั้น คณะอนุกรรมการที่กระทรวงคมนาคมแต่งตั้งได้มีการประชุมร่วมกันหลายครั้ง และได้ข้อสรุปแล้ว ไม่น่ามีปัญหา ทาง กทม.จะบอกไม่มีเงินจ่ายคงไม่ได้เพราะตกลงกันแล้ว เพียงแต่จะจ่ายหรือผ่อนจ่ายกันอย่างไร เท่าไร แต่ยืนยันต้องยึดตามข้อตกลงในคณะกรรมการฯ

โดยวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมาคณะกรรมการประเมินมูลค่าหนี้สินและทรัพย์สิน และพิจารณากำหนดขั้นตอนการโอนหนี้สินและทรัพย์สินระหว่างกัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ได้ประชุมครั้งที่ 3/2559 มีนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้สรุปตัวเลขหนี้สินที่ กทม.จะต้องจ่ายให้ รฟม. โดยเป็นกรอบวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่ รฟม.ได้เบิกจ่ายจริง ค่าจ้างสำรวจอสังหาริมทรัพย์ ค่าจ้างที่ปรึกษาตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมงานฯ และค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบและคัดเลือก ค่าก่อสร้างงานโยธา ค่าจ้างที่ปรึกษางานโยธา ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรตามที่ รฟม.จ่ายจริง และค่าภาษีบำรุงท้องที่ตามที่ รฟม.จ่ายจริง โดยหนี้สิน ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2559 จำนวน 21,403.561 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินเงินกู้ระยะยาว 17,538.82 ล้านบาท และหนี้ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่าจ้างที่ปรึกษา และค่าธรรมเนียมเงินกู้ จำนวน 3,557.053 ล้านบาท ซึ่ง รฟม.ได้จ่ายไปก่อนหน้านี้ กทม.จะต้องชำระเมื่อมีการโอน

ในการประชุมมีผู้แทนจาก กทม. รฟม. กฤษฎีกา สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สบน. ซึ่งที่ประชุมให้ กทม.นำข้อสรุปไปเสนอต่อสภา กทม.พิจารณาในการประชุมสมัยแรกเดือน ม.ค. 2560 เพื่อให้สามารถสรุปการชำระหนี้สินและกู้เงินได้ในวันที่ 1 เมษายน 2560 โดยข้อสรุปทั้งหมด รฟม.จะสรุปบัญชีทรัพย์สิน หนี้สินส่งมอบให้ กทม.ภายในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ และจะมีการเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาแนวทางภายในเดือน ธ.ค. 2559 และนำเสนอ ครม.ต่อไป

นอกจากนี้ พลเอก ยอดยุทธยังกล่าวว่า รฟม.จะพยายามเร่งรัดการเดินรถช่วง 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) โดยคาดว่าการเจรจา รวมถึงการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) จะได้ข้อยุติก่อนสิ้นปี 2559 ซึ่ง รฟม.เข้าใจว่าประชาชนเป็นห่วงกังวลประเด็นรอยต่อ 1 สถานี และถูกต่อว่าเรื่องรถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดทุนวันละ 3 ล้านบาท ซึ่งการก่อสร้างบริการขนส่งสาธารณะนั้นเป็นบริการที่ไม่หวังกำไร เป็นการสร้างเพื่อประชาชน ไม่มีประเทศไหนที่ทำแล้วมีกำไร เพียงแต่รัฐบาลต้องช่วยชดเชยเพราะไม่สามารถจะเก็บค่าโดยสารเพิ่มเพื่อให้เกิดความคุ้มทุนต่อโครงการได้

ทั้งนี้ นโยบายได้เร่งรัดให้บริหารด้านธุรกิจ ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและนำรายได้นั้นมาชดเชยรายได้จากค่าโดยสาร ดังนั้น รฟม.จะเร่งพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งบอร์ด รฟม.ได้เห็นชอบการพัฒนาพื้นที่สถานีสายสีม่วง ทั้งร้านค้า โฆษณาต่างๆ เต็มรูปแบบ ส่วนจำนวนผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 2.5 หมื่นคนต่อวันนั้น เชื่อว่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าภายใน 5 ปีนี้ผู้โดยสารจะเกินจากเป้าหมายแน่นอน หากสามารถต่อเชื่อมการเดินรถ 1 สถานีได้ สามารถเปิดเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายได้ รวมถึงสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ซึ่งคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้เร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น