“สนพ.” คาดการณ์แนวโน้มค่าไฟฟ้าและก๊าซฯ ทั้งแอลพีจี เอ็นจีวี ยังไม่ขยับไปจนถึงกลางปี 2560 เหตุต้นทุนหลักจากก๊าซในอ่าวไทยยังเฉลี่ยมีราคาต่ำอยู่ แต่ผวาระยะยาวหลังโรงไฟฟ้าถ่านหินชะลอ กระบี่และประมูล 2 แหล่งก๊าซฯ ล่าช้าจะทำให้ค่าไฟในอนาคตสูงขึ้นจากการพึ่งพิงแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าแนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่จะสะท้อนตามต้นทุนเชื้อเพลิง รวมถึงราคาแอลพีจีและก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) จะทรงตัวในระดับปัจจุบันไปจนถึงช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากต้นทุนหลักมาจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีสูตรผันแปรราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือนซึ่งราคาก๊าซฯ ในประเทศ ราคาปากหลุม 5-6 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ราคาก๊าซพม่าอยู่ที่ 7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และราคานำเข้าแอลเอ็นจีบวกกับราคาแปลงสภาพอยู่ที่ประมาณ 8 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู อย่างไรก็ตาม แนวโน้มระยะยาว เมื่อมีการใช้แอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นก็จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าของภาคประชาชนให้สูงขึ้นด้วย
ส่วนการชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ตามที่นายกรัฐมนตรีระบุ และการประมูลแหล่งสัมปทานหมดอายุคือแหล่งเอราวัณและบงกชที่ล่าช้านั้น ทางกระทรวงพลังงานจึงได้ปรับแผนบริหารจัดการก๊าซฯ หรือ GAS PLAN แล้ว 2 รอบ โดยเตรียมแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีมาทดแทน ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี รมว.พลังงานเป็นประธาน ได้เห็นชอบปรับแผนใหม่ ล่าสุดขยับว่าในปี 2579 หรือปลายแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (พีดีพี 2015 (2558-2579) ประเทศไทยต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นเป็น 34 ล้านตัน/ปี จากเดิมประมาณ 23 ล้านตันต่อปี โดยคาดว่าในปี 2565 ความต้องการนำเข้าแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ 17.4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่แผนประหยัดพลังงานคาดว่าปลายแผนแล้วจะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ 70% จากแผนเท่านั้น
ดังนั้น กบง.จึงเห็นชอบแผนการจัดหาแอลเอ็นจีเพิ่มเติมเบื้องต้น โดยจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 8 ธ.ค. ประกอบไปด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ จ.ระยอง [T-2] ที่ กพช.ได้เคยมีมติมอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นผู้ดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 (ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559) ให้สามารถดำเนินการขยายให้สามารถรองรับการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น จากเดิม 5 ล้านตันต่อปี เป็น 7.5 ล้านตันต่อปี
2) โครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในประเทศพม่า ขนาด 3 ล้านตันต่อปี โดยมอบหมายให้ ปตท.ไปดำเนินการศึกษาในรายละเอียดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ซึ่งจะสร้างที่เมือง KANBAUK ของพม่า และส่งก๊าซมาใช้ในท่อก๊าซด้านตะวันตกของไทย ผลการศึกษานี้จะครอบคลุมถึงเม็ดเงิน การร่วมทุน และการจัดสรรก๊าซฯ ว่าจะใช้ใน 2 ประเทศอย่างไร โดยเรื่องนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการร่วมสองประเทศด้านพลังงานแล้ว โดย กบง.ขอให้เร่งการลงทุนขึ้นอีก 4 ปี จากเดิมเสร็จสิ้นในปี 2569 ก็ขอให้เสร็จภายในปี 2565
3) โครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ขนาด 5 ล้านตันต่อปีของ กฟผ. ซึ่งตามแผนจะสร้างเสร็จในปี 2567 โดย กฟผ.จะต้องไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม