“กฟผ.” เผยแนวทางลดสำรองไฟฟ้าตามแผน PDP2015 ที่สูงกว่า 30% จากที่ควรอยู่ 30% ไม่สามารถเลื่อนโรงไฟฟ้าใหม่ได้โดยเฉพาะกระบี่ และเทพา เพื่อดูแลต้นทุนค่าไฟหากจำเป็นเลื่อนได้พระนครใต้ และบางปะกงของ กฟผ. แนะ “บิ๊กโย่ง” ให้เลือกระหว่างเลื่อนไอพีพี “กัลฟ์” จะดีต่อต้นทุนค่าไฟแต่หากกลัวเรื่องสัญญาก็ต้องเลื่อนโรงไฟฟ้า กฟผ.
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ.ได้รายงานต่อ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงผลการศึกษาแนวทางจัดการปริมาณไฟฟ้าสำรองเฉลี่ยของประเทศตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ 20 ปี ระหว่างปี 2559-2579 (พีดีพี 2015) ที่มีค่อนข้างสูงมากกว่า 30% จากค่ามาตรฐานระดับ 15% โดย กฟผ.ยืนยันว่าไม่สามารถเลื่อนโรงไฟฟ้าใหม่ได้โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา กำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากตามแผนจะเป็นการลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติลงเพื่อความมั่นคงแล้วถ่านหินยังมีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำเพื่อรักษาระดับค่าไฟตลอดแผนไม่ให้สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม กฟผ.เองได้เสนอแนวทางที่ต้องการให้เลื่อนโรงไฟฟ้าถ่านหินของภาคเอกชน โดยเฉพาะจากโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี อาทิ ไอพีพีของกลุ่มร่วมทุนบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ที่ชนะประมูลไอพีพี 5,000 เมกวัตต์ แต่ก็เข้าใจว่าได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้วซึ่งการเจรจาอาจลำบาก หรือจะเลื่อนโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ซึ่งพอจะเลื่อนได้มี 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าทดแทนโรงเก่า คือ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 1,300 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าบางปะกง 1,400 เมกะวัตต์
“กฟผ.อยากให้เลื่อนโรงไฟฟ้าของเอกชนมากกว่า อาทิ โรงไฟฟ้ากัลฟ์ แต่ก็เข้าใจถึงผลกระทบเรื่องสัญญาผลิตไฟฟ้าของเอกชน ดังนั้นต้องขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่าจะตัดสินใจอย่างไร จะเลือกระหว่างเลื่อนโรงไฟฟ้าเอกชน เพื่อดูแลต้นทุนไฟฟ้าให้มีราคาถูก หรือจะเลื่อนโรงไฟฟ้ากฟผ.เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านสัญญาเอกชน” นายกรศิษฏ์กล่าว