xs
xsm
sm
md
lg

“กฟผ.” เตรียมเสนอ “กกพ.” ขอเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟในอนาคตเป็น 50%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรศิษฎ์” ผู้ว่าฯ “กฟผ.” คนใหม่เปิดนโยบายเตรียมเสนอ “กกพ.” ต.ค.นี้ขอเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ให้เป็น 50% ในอนาคตตามนโยบายกระทรวงพลังงาน โฟกัสโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นควบคู่โรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อเกลี่ยค่าไฟให้ไม่แพง พร้อมจี้รัฐเร่งสรุปกรณี “กัลฟ์” ภายใน ก.ค.เพื่อเดินหน้าสร้างระบบส่งรองรับได้ทันกำหนด




นายกรศิษฎ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แถลงนโยบายดำเนินงานในโอกาสรับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ว่า นโยบายที่ กฟผ.จะดำเนินการคือการสร้างความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้า โดยในเดือนตุลาคมนี้ กฟผ.เตรียมที่จะเสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อที่จะปรับแผนเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ให้เป็น 50% ตามนโยบายของ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ควบคู่ไปกับการสร้างโรงไฟฟ้าที่จะมุ่งเน้นพลังงานทดแทนควบคู่ไปกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อถ่วงดุลเชื้อเพลิงธรรมชาติและรักษาอัตราค่าไฟฟ้าที่ประชาชนยอมรับได้

“นโยบายกระทรวงพลังงานเองต้องการให้ กฟผ.เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเป็น 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 37% เพื่อความมั่นคง เพราะหากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นสัญญาซื้อขายไฟเอกชนไม่สามารถไปแก้ไขปรับเปลี่ยนได้มีแต่ของ กฟผ.ที่จะสั่งเดินเครื่องหรือหยุดเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องไปหารือ กกพ.ก่อนซึ่งคงจะต้องมารีวิวแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ PDP 2015 ว่าจะมีดีมานด์เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิต ซึ่งปลายแผนปี 2579 สัดส่วน กฟผ.จะอยู่ที่ 39% เป็นไปได้เร็วสุดหรือปลายแผนให้อยู่ 50% และในแผนพีดีพีดังกล่าวอีก 10 ปีข้างหน้าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านล้านบาท” ผู้ว่าฯ กฟผ.กล่าว

ทั้งนี้ การเพิ่มสัดส่วนการผลิตให้เป็น 50% กฟผ.คงจะมุ่งการรักษากำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าให้ได้ และมองไปที่พลังงานทดแทนโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวล ลม โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตที่ปัจจุบัน กฟผ.มีพลังงานทดแทน 3,000 เมกะวัตต์ (รวมน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่) จะเพิ่มอีกประมาณกว่า 1,000 เมกะวัตต์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นโยบายของรัฐได้มีการเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แต่เนื่องจากพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้าได้ไม่เสถียรและค่าไฟแพงจำเป็นจะต้องมีพลังงานมาถ่วงดุล ซึ่ง กฟผ.ยังคงมองไปที่เชื้อเพลิงถ่านหินซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีสะอาดและมีต้นทุนที่ต่ำที่จะมาถ่วงดุลราคาจากพลังงานทดแทนและลดความเสี่ยงจากก๊าซฯ ที่ใช้มากถึง 67%

นายกรศิษฎ์กล่าวว่า กฟผ.คาดหวังว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพาจะยังคงเดินหน้าได้ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้ากระบี่ที่ภายในไม่เกิน ก.ย.นี้คณะกรรมการไตรภาคีคงจะมีข้อสรุปได้ ขณะที่เทพา กฟผ.ก็ได้เตรียมร่างเงื่อนไข (TOR) เพื่อเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าคู่ขนานกันไปก่อนเพื่อที่จะให้ทุกอย่างเสร็จได้ทันกำหนดเอาไว้ ซึ่ง กฟผ.ยืนยันว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.คิดเป็นเพียงสัดส่วน 20% และเมื่อมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่งเข้ามาก็จะเพิ่มสัดส่วนเป็นเพียง 23% แต่ กฟผ.เองต้องการเห็นสัดส่วนเป็น 30-35% ซึ่งตามแผนพีดีพี กฟผ.จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินรวม 6 แห่ง

“มาเลเซียซึ่งมีก๊าซฯ มากกว่าไทยขณะนี้ยังมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอยู่ที่ 56% ก๊าซเหลือ 37% จะเห็นว่าไทยต้องนำเข้าก๊าซฯ มากขึ้นแต่สัดส่วนถ่านหินก็ยังคงน้อย อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซฯ ขณะนี้สะท้อนจากน้ำมันต่ำย้อนหลัง 6-12 เดือนมีแนวโน้มถูกตามราคาน้ำมันที่ผ่านมา ก็น่าจะส่งผลดีต่อค่าไฟฟ้าให้ไม่สูงขึ้นในช่วงนี้” ผู้ว่าฯ กฟผ.กล่าว

นอกจากนี้ กฟผ.ยังต้องการให้ภาครัฐเร่งสรุปกรณีที่บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์ยี ดีเวลลอปเมนท์ ชนะประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (IPP) รวม 5,000 เมกะวัตต์ว่าจะเดินหน้าหรือไม่อย่างไรภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อที่จะทำให้ กฟผ.สามารถตัดสินใจสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงรองรับโรงไฟฟ้าของกัลฟ์ได้ทัน ซึ่งจะต้องลงทุนรวม 2 เฟส วงเงิน 7,250 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ถือว่าล่าช้าแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น