xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.รับต้นทุนค่าไฟขาขึ้นตามน้ำมัน เกาะติดถ่านหิน-ประมูลก๊าซฯ รับมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กกพ.” เผยแนวโน้มต้นทุนผลิตไฟเริ่มขยับจากราคาน้ำมันที่เริ่มเข้าสู่ขาขึ้น จับตาค่า Ft งวดใหม่ส่อติดลบต่ำกว่า 33.29 สต./หน่วย ปี 60 ค่าไฟขาขึ้น เกาะติดประมูลก๊าซฯ-โรงไฟฟ้าถ่านหิน หวั่นกระทบค่าไฟอนาคต

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่จะเรียกเก็บในบิลค่าไฟประชาชนทุก 4 เดือนคงจะต้องติดตามใกล้ชิดหลังจากที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 30-35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงนี้มาอยู่ระดับ 40-45 เหรียญต่อบาร์เรล และจากการคาดการณ์ปี 2560 ที่ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นจากปีนี้เฉลี่ย 45-55 เหรียญต่อบาร์เรล ภาพรวมจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟปรับเพิ่มขึ้น

“เราคาดไว้เดิม Ft เดือน ก.ย.-ธ.ค. 59 นี้จะคงติดลบระดับ 33.29 สตางค์ต่อหน่วย แต่จากหลายปัจจัยโดยเฉพาะค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงและราคาน้ำมันรวมถึงแอลเอ็นจีนำเข้าที่จะสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตไฟจะสูงขึ้นและอาจทำให้ Ft ติดลบน้อยลงกว่า 33.29 สตางค์ต่อหน่วย แต่ราคาก๊าซฯ อ่าวไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะผูกพันกับราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-12 เดือนซึ่งจะสะท้อนในปีหน้ามากกว่า” นายวีระพลกล่าว

สำหรับกรณีการประมูลเพื่อบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-66 อาจทำให้การผลิตก๊าซฯ ไม่ต่อเนื่องและปริมาณลดลงได้นั้น กกพ.เองก็คงจะต้องติดตามเพราะหากต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาผลิตไฟแทนจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟอย่างมาก เพราะราคา LNG นำเข้าจะมีราคาแพงกว่าก๊าซฯ ในอ่าวไทยเท่าตัว

นอกจากนี้ หากแผนโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และเทพา จ.สงขลาไม่เกิดขึ้นตามแผนหรือล่าช้าออกไปกว่าที่ควรจะเป็นจากเดิมที่จะเข้าระบบช่วงปี 2563-64 จะยิ่งซ้ำเติมค่าไฟมากขึ้นเพราะต้องพึ่งพิง LNG เช่นกัน และสิ่งที่ต้องจับตาคือหากไฟฟ้าภาคใต้ในช่วง 5 ปีจากนี้ไปยังคงมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% หากถ่านหินไม่เกิดในช่วงนั้นไฟฟ้าภาคใต้ก็อาจจะขาดได้เช่นกัน

ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ ล่าสุดบอร์ด กกพ.ได้อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วางสายส่ง 500 KV ไปยังภาคใต้ โดยเชื่อมจากบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเชื่อมไปยัง จ.สุราษฎร์ธานีจนถึงโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา ซึ่งจะแล้วเสร็จช่วงปี 2564-65 ก็จะทำให้ระบบส่งมีความมั่นคงมากขึ้น

นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า หากก๊าซธรรมชาติมีปริมาณลดลงในช่วงรอยต่อของการประมูลก๊าซฯ แหล่งบงกชและเอราวัณ หากโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้เกิดขึ้นได้ตามแผนจะมีส่วนสำคัญต่อการลดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่จะสูงขึ้นจากการต้องพึ่งการนำเข้า LNG มาทดแทนเนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟจากถ่านหินมีต้นทุนต่ำกว่ามาก

“การซื้อไฟจากต่างประเทศก็อาจจะมีบางส่วนที่จะเร่งเจรจาให้เร็วขึ้น เช่นที่มายตง ประเทศพม่า แต่ภาพรวมก็ต้องใช้เวลา” นายไกรสีห์กล่าว

สำหรับพลังงานทดแทนหากจะผลิตมากขึ้นเพื่อมาทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นต้องยอมรับว่าโรงไฟฟ้าเหล่านี้ไม่สามารถเป็นพลังงานหลักที่จะสั่งเดินเครื่องได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และลม ขณะที่ชีวมวลต่างๆ ก็มีข้อจำกัดในเรื่องปริมาณวัตถุดิบซึ่งขณะนี้รัฐก็ได้ส่งเสริมไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนค่อนข้างมากอยู่แล้ว และไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพลังงานเหล่านี้ยังมีต้นทุนค่าไฟที่แพง
กำลังโหลดความคิดเห็น