รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทำหนังสือถึง “คตร.” ขอคำตอบภายในเดือนตุลาคมว่าจะชี้ขาดสัญญาไอพีพี “กัลฟ์” อย่างไรเหตุ “กฟผ.” ต้องรอความชัดเจนเพื่อก่อสร้างระบบส่ง
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ก่อนหน้านี้ได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ภาครัฐ (คตร.) เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธาน คตร.เพื่อขอความชัดเจนของมติ คตร.ว่าจะดำเนินการเช่นไรกรณีการตรวจสอบสัญญาโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) ของบริษัท Independent Power Development ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ กับบริษัท มิตซุยแอนด์คัมปะนี (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งได้ชนะประมูลไอพีพีรอบที่ 3 เพียงรายเดียวด้วยกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ (MW)
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ขอคำตอบภายในเดือนตุลาคมนี้ เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรอความชัดเจน โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ต้องก่อสร้างสายส่งรองรับหากให้คำตอบล่าช้าการก่อสร้างจะช้าและจะกระทบความมั่นคงไปด้วย
“แม้ คตร.สมัยผมจะหารือกันและพบความไม่ชัดเจน เบื้องต้นเห็นว่าควรยกเลิกครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อไม่ได้ทำหน้าที่ คตร.แล้วก็ต้องขอมติ คตร.ที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยแม้เรื่องนี้จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมทุนด้วย แต่หากเราชี้แจงปัญหาชัดเจนก็น่าจะเข้าใจได้ แต่ทั้งนี้ก็รอ คตร.” พล.อ.อนันตพรกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กฟผ.ระบุว่าต้องการคำตอบโดยเร็ว หากจะก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าตามสัญญา ซื้อขายไฟฟฟ้ากับกัลฟ์แล้วเพราะมีขั้นตอนต้องเสนอ ครม.ในปลายปีนี้ วงเงินลงทุนสายส่ง 7,250 ล้านบาท โดยการประมูลไอพีพีรอบที่ 3 เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดประมูลต้นปี 2556 มีผู้เสนอ 9 ราย ใช้วิธีคัดเลือกกลุ่มข้อเสนอราคาค่าไฟเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักภาพรวม (WALUP) 6 ปีจากข้อกำหนดจ่ายไฟฟ้าช่วงปี พ.ศ. 2564-2569 ซึ่งกัลฟ์ฯ เสนอราคาค่าไฟเฉลี่ยต่อหน่วยตลอดอายุโครงการ 25 ปี ถูกสุด คือ 4.2372 บาทต่อหน่วย ปริมาณไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นจำนวน 2 สัญญา หรือ 2 พื้นที่ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ชลบุรี โดย กกพ.ระบุว่าการเลือกกัลฟ์ฯ ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าตลอดสัญญาได้ 32,163 ล้านบาท แต่ภายหลังมีการร้องเรียนการคัดเลือกหลายประเด็น เช่น ข้อเสนอไม่ได้พิจารณาเรื่องต้นทุนต่ำสุดที่แท้จริง และต้นทุนที่ กฟผ.จะต้องสร้างสายส่งไปรองรับ