xs
xsm
sm
md
lg

เร่งร่าง กม.ตั๋วร่วมรองรับ “บัตรแมงมุม” BTS-BEM ขอ 8 เดือนปรับปรุงระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” เร่งร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ บังคับใช้ให้ทันแผนนำร่อง “บัตรแมงมุม” มิ.ย. 60 ใช้ได้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส-สีน้ำเงิน-สีม่วง-แอร์พอร์ตลิงก์ พร้อมชง ครม. พ.ย.นี้อนุมัติแผนรวมตั๋วร่วม เพื่อเริ่มต้นเจรจาเอกชนปรับปรุงระบบให้ทันใน 8 เดือน ยอมรับลดค่าแรกเข้าคุยอีกยาวเหตุกระทบสัญญาสัมปทาน จ่อเปิดช่องใน พ.ร.บ.ให้รัฐสามารถอุดหนุนได้เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน
 
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ... ว่า พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ จะกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ กำหนดอัตราค่าโดยสาร โดยจะมี รมว.คมนาคมเป็นประธาน ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นรองประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เช่น สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางบก และผู้ประกอบการ ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะว่าด้วยเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำหนดอัตราค่าโดยสารตั๋วร่วมในการเดินทางข้ามระบบ รายละเอียดในการกำหนดอัตราโครงสร้างตั๋วร่วม และบทบาทของผู้ประกอบการ สุดท้ายจะเป็นบทลงโทษ ซึ่งจะต้องกลั่นกรองไม่ให้ขัดกับค่าโดยสารของ พ.ร.บ.อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยตามแผนจะใช้เวลาในการร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ 2-4 เดือน คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในเดือน มี.ค. 2560 จากนั้นจะเสนอไปยังกฤษฎีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระยะเวลาบังคับใช้สอดคล้องกับเป้าหมายการเริ่มใช้ระบบตั๋วร่วมในเดือน มิ.ย. 2560 นอกจากนี้จะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (CTC) ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) คู่ขนานด้วย 

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ขณะนี้ สนข.ได้จัดทำแผนงานและโครงสร้างในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมเสนอกระทรวงคมนาคมแล้ว โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงถ้อยคำให้มีความกระชับมากขึ้น คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งในระยะเริ่มต้น สนข. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และธนาคารกรุงไทย (KTB) จะทำหน้าที่บริหาร Clearing House โดยเจรจากับผู้ให้บริการรถไฟฟ้า 4 ระบบหลัก ที่จะเริ่มนำร่องในการใช้ระบบตั๋วร่วม “บัตรแมงมุม” คือ รถไฟฟ้าบีทีเอส (บริษัท BTS) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง (บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์  ซึ่งจะใช้เวลาปรับปรุงระบบ 2 เดือน ทดสอบ 6 เดือน

ในขณะเดียวกัน จะเสนอเรื่องการร่วมทุนจัดตั้ง CTC ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการ PPP ขออนุมัติโครงการ โดยทุนเริ่มต้นในการพัฒนาระบบของภาครัฐ ประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนเอกชนผู้ประกอบการจะต้องปรับปรุงระบบหัวอ่านบัตร และซอฟต์แวร์ของตัวเอง และตีมูลค่าลงทุนเป็นสัดส่วนหุ้นในบริษัท CTC ซึ่งรัฐจะถือหุ้นไม่เกิน 49% เพื่อไม่ให้เป็นหน่วยงานรัฐ และสามารถเพิ่มผู้ถือหุ้นในอนาคตได้ หากมีผู้ประกอบการเข้าร่วมมากรายขึ้น เช่น เรือโดยสาร รถเมล์ ทางด่วน โดยมูลค่าการลงทุนรวมของบริษัทจะไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เพื่อให้เข้าเงื่อนไข พ.ร.บ.ร่วมทุน 56 ที่จะใช้วิธีการเจรจาแทนประมูลได้

“กรณีถือตั๋วร่วมเดินทางต่อเนื่องข้ามระบบ ในระยะแรกอาจจะยังไม่สามารถลดค่าแรกเข้าได้ เนื่องจากต้องพูดคุยรายละเอียดกับผู้ประกอบการแต่ละรายซึ่งมีสัญญาสัมปทานกำหนดอัตราค่าโดยสารไว้ ดังนั้นต้องมีการกำหนดสูตรที่เป็นธรรมและไม่กระทบต่อสัญญา โดยหลักการระบบตั๋วร่วมต้องลดค่าแรกเข้ากรณีใช้งานข้ามระบบ ดังนั้นในร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมอาจจะต้องเขียนในกรณีที่รัฐต้องสนับสนุนด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบขนส่งสาธารณะและให้ประชาชนได้รับประโยชน์และใช้ระบบขนส่งในการเดินทางมากที่สุด ทั้งนี้ ในช่วงแรกแม้จะยังไม่สามารถลดค่าแรกเข้าได้แต่อาจจะต้องหารือเพื่อจัดทำโปรโมชันลดราคาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง” นายชัยวัฒน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น