คมนาคมขยับใช้ระบบตั๋วร่วม “บัตรแมงมุม” เป็นกลางปี 60 ถือใบเดียวใช้รถไฟฟ้าได้ 4 สาย ดึง “BTS-BEM-แอร์พอร์ตลิงก์” ถือหุ้น ในบริษัทบริหารกลาง (CTC) “อาคม” เร่งชง กก.PPP ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ยอมรับช่วงแรกยังไม่มีผลต่อการลดค่าแรกเข้าเหตุต้องรอร่างกฎหมายตั๋วร่วมเสร็จก่อน ระบุใช้บัตรเดียวทุกระบบ ถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการใช้ระบบตั๋วร่วม หรือ “บัตรแมงมุม” กับระบบขนส่งมวลชนว่า อยู่ระหว่างจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing Company : CTC) ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน ( PPP) โดยต้องดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งเตรียมส่งเรื่องเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการ PPP เพื่อขออนุมัติโครงการ โดยระยะเริ่มต้นสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และธนาคารกรุงไทย (KTB) จะร่วมบริหาร Clearing House เพื่อความรวดเร็วหากการดำเนินการจัดตั้งบริษัท กลางบริหารตั๋วร่วมไม่แล้วเสร็จ
โดย “บัตรแมงมุม” จะเริ่มใช้รูปแบบ Common Ticket กับรถไฟฟ้า 4 สาย คือ รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ได้ภายในกลางปี 2560 ขณะที่ตั๋วร่วม รูปแบบ Common Fair ซึ่งจะมีค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวจะต้องมีกฎหมายกลางดูแลในเรื่องการจัดเก็บค่าโดยสารและอัตราค่าแรกเข้าในแต่ละสาย ซึ่งอยู่ระหว่างยกร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ... ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ดังนั้นในกลางปี 2560 จะเป็นการเชื่อมตั๋วให้เป็นใบเดียวกันก่อน
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าจะต้องปรับปรุงระบบของตัวเอง นอกจากนี้ ในส่วนของรถไฟฟ้า BTS ที่ขณะนี้มีลูกค้าที่ถือบัตรแรบบิตแล้วจำนวนมาก หากจะปรับเปลี่ยนมาเป็นบัตรแมงมุมจะกระทบกับที่บริษัทได้ลงทุนตั๋วแรบบิตไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ได้หารือกับทาง BTS แล้ว
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้มอบให้ รฟม.ทำหน้าที่บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วมในระยะเริ่มต้น คาดว่าจะสามารถเปิดใช้ ได้ในเดือน ม.ค. 2560 แต่มีการปรับแผนเป็นกลางปี 2560 ซึ่งกรณี BTS มีบัตรแรบบิตเป็น 10 ล้านใบ ซึ่งจะทยอยปรับเปลี่ยนเป็นบัตรแมงมุมโดยฝังชิปเข้าไป ส่วนผู้ที่ไม่เปลี่ยน ยังคงสามารถใช้บัตรแรบบิตเดิมได้แต่จะเป็นการเดินทางเฉพาะโครงข่าย BTS เท่านั้น ไม่สามารถเชื่อมต่อกับ MRT หรือแอร์พอร์ตลิงก์ได้ และในอนาคตหากมีการขยายตั๋วร่วมไปยังขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถ ขสมก.จำนวน 2,600 คันที่จะมีการติดตั้ง ระบบ E-Ticket, เรือโดยสาร, ทางด่วนช่องจ่ายเงินสด และรถไฟฟ้าสายใหม่ จะสามารถใช้ได้เพิ่มเติมด้วย รวมถึงบริการนอกภาคขนส่ง (Non Transit) เช่น ร้านสะดวกซื้อ จะมีการติดตั้งตัวอ่านบัตรแมงมุม
สำหรับการจัดตั้งบริษัท CTC ภาครัฐ อาจจะเป็นกระทรวงการคลัง จะถือหุ้นไม่เกิน 50% เพื่อให้เป็นเอกชน ส่วนภาคเอกชน ผู้ประกอบการจะลงทุนตามวงเงินที่ได้ปรับปรุงระบบ โดยคณะกรรมการ PPP จะเป็นผู้พิจารณาสัดส่วน และได้เสนอขอปรับปรุงสัดส่วนผู้ถือหุ้น ทุกๆ 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับผู้ประกอบการรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง เป็นต้น ซึ่งได้จัดทำร่างสัญญาเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศ