xs
xsm
sm
md
lg

เจรจาเดินรถสีน้ำเงินไม่ลงตัว ชง ม.44 ขยายเวลาอีก 30 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” เตรียมเสนอ “นายกฯ” ขอขยายเวลาเจรจาเดินรถสายสีน้ำเงินอีก 30 วัน หลังคณะกรรมการร่วมฯ ถก BEM ไม่ยุติตามกรอบเวลาในคำสั่งมาตรา 44 เผยเอกชนยอมรับประเด็น ขยายอายุสัมปทานสายเฉลิมรัชมงคลจากปี 72 ไปสิ้นสุดพร้อมส่วนต่อขยายปี 92 โดยใช้โครงสร้างค่าโดยสารเดิมไม่เกิน 42 บาท แต่ขอรัฐช่วยอุดหนุนโดยลดส่วนแบ่งรายได้สายเฉลิมรัชมงคล เหตุไม่มีค่าแรกเข้าทำให้ไม่คุ้มทุน     

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้การเจรจาการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เฉลิมรัชมงคล) เดิมกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ตามคำสั่งมาตรา 44 ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งคณะกรรมการร่วมฯ ในการเจรจาอยู่ระหว่างทำเรื่องเสนอมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพื่อขอขยายเวลาในการเจรจาต่อไป

แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2556 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ได้กำหนดกรอบหลักเกณฑ์การเจรจาการเดินรถสายสีน้ำเงินเดิมและส่วนต่อขยายแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกันแล้ว และได้มีการเจรจากับ BEM ในกรอบเวลา 30 วัน (17 ก.ย.-16 ต.ค. 59) แต่การเจรจายังไม่ได้ข้อยุติในหลายประเด็น ทำให้ต้องเสนอขอขยายเวลาในการเจรจากับ BEM อีก 30 วัน ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอเรื่องไปยัง รมว.คมนาคม

โดยประเด็นที่เห็นตรงกันทั้งสองฝ่ายแล้ว คือ ขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ที่สัญญาจะสิ้นสุดในปี 2572 พร้อมกับสัญญาสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ไปสิ้นสุดในปี 2592, โครงสร้างอัตราค่าโดยสารของสายสีน้ำเงินตลอดสาย (สายน้ำเงินเดิม ตั้งแต่บางซื่อ-หัวลำโพง และส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) จะไม่เพิ่มไปจากอัตราเดิมที่เก็บในปัจจุบันของสายเฉลิมรัชมงคล โดยอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 42 บาท ซึ่งเท่ากับในส่วนต่อขยายจะไม่มีค่าแรกเข้า เพราะจะรวม 2 ส่วนเป็นโครงข่ายเดียวกัน

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์อัตราค่าโดยสารดังกล่าวส่งผลให้โครงการสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายมีผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ซึ่งทางเอกชนได้เสนอขอให้รัฐอุดหนุน แต่ในหลักการเจรจารัฐจะไม่มีการอุดหนุนใดๆ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอขอให้แบ่งผลตอบแทนในส่วนของสายเฉลิมรัชมงคลที่ รฟม.จะได้รับตลอดอายุสัญญาถึงปี 2572 ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท มาช่วยอุดหนุนรายได้ในส่วนต่อขยาย ซึ่งทางคณะกรรมการร่วมฯ ไม่เห็นด้วย ทำให้การเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ
กำลังโหลดความคิดเห็น