xs
xsm
sm
md
lg

กก.ร่วมฯ เดินรถสีน้ำเงินเร่งเคาะกรอบเจรจา BEM หาจุดลงตัวอายุสัมปทาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะ กก.ร่วมฯ เดินรถสายสีน้ำเงินถกนัดแรก เร่งทำข้อมูลเพิ่มเติม วิเคราะห์การเดินรถต่อเนื่อง โครงสร้างค่าโดยสาร ต้นทุนแท้จริงกรณีใช้เดปโป้ร่วม และอายุสัญญาที่เหมาะสม ตั้งเป้าสรุป 16 ก.ย. พร้อมเรียก BEM เจรจาจบใน 30 วันตามคำสั่ง ม.44

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เปิดเผยว่า คณะกรรมการมาตรา 43 และคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2556 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ได้ประชุมร่วมกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ส.ค. ซึ่งเป็นไปตามคำสั่ง ม.44 เรื่องการเดินรถสายสีน้ำเงินเดิมและส่วนต่อขยายแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) ซึ่งล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.เสนอแล้ว โดยให้นำความเห็นของ 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต มาพิจารณาประกอบด้วย ตามคำสั่ง ม.44

ทั้งนี้ ที่ประชุมร่วมคณะกรรมการ มาตรา 43 และมาตรา 35 ได้มีข้อสังเกตในส่วนของงานส่วนต่อขยายที่คณะกรรมการมาตรา 35 ได้เคยพิจารณาไว้เดิม โดยให้ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับการเดินรถต่อเนื่อง โดยให้ทำรายละเอียดวิเคราะห์แต่ละแนวทาง (scenario) ในกรณีต่างๆ เช่น การสิ้นสุดสัญญาที่สอดคล้องกันของสายเฉลิมรัชมงคลและสายสีน้ำเงินต่อขยาย ซึ่งจะต้องทำตัวเลขเปรียบเทียบระหว่าง 1. สิ้นสุดพร้อมกับสัญญาสายเฉลิมรัชมงคลในปี 2572 หรือ 2. สิ้นสุดที่ปี 2592 ซึ่งเป็นสัญญาของส่วนต่อขยาย (อายุสัญญา 30 ปี โดยคิดที่จุดเริ่มสัญญาปี 2562) หรือ 3. พบกันครึ่งทาง โดยพิจารณาแนวทางที่จะเป็นประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังมีประเด็นโครงสร้างอัตราค่าโดยสาร, ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น กรณีใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงร่วมกันที่ห้วยขวางจะประหยัดค่าใช้จ่ายลงอย่างไรอีกด้วย

คณะกรรมการร่วมฯ จะประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ โดยกำหนดกรอบการทำงานว่า จะสรุปหลักเกณฑ์ต่างๆ การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประโยชน์ในการเชื่อมต่อให้จบภายในวันที่ 16 ก.ย. จากนั้นจะต้องเชิญ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มาเจรจาให้ได้ข้อยุติภายในระยะเวลา 30 วัน ตามคำสั่ง ม.44 หรือภายในเดือนตุลาคม จากนั้นจะต้องเสนอขออนุมัติลงนามสัญญาตามขั้นตอนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น