“สมคิด” เร่ง รฟม.ตัดสินผลประมูลรถไฟฟ้าสีชมพู-เหลือง วงเงินกว่าแสนล้าน ก่อนกลาง ธ.ค.นี้ พร้อมเชิญบิ๊กบอส “BTS-BEM” ร่วมหารือ หลังยื่นร่วมทุน PPP กับรัฐบาลช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมทำคลอดรถไฟฟ้า 5 สายใน Q1/60 เดินหน้าลงทุนปี 60 เต็มสูบ “ผู้ว่าฯ รฟม.” ยอมรับเอกชนห่วงปัญหาเวนคืน ส่งมอบพื้นที่ช้า กระทบต้นทุนดอกเบี้ยบาน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและติดตามการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่า ในปี 2560 รฟม.จะลงทุนรถไฟฟ้าหลายสายโดยจะเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในไตรมาส 1/60 ซึ่ง รฟม.เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีการเบิกจ่ายสูงสุดในปีที่ผ่านมา ดังนั้นต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาส 1 และไตรมาส 2/60 ให้มากที่สุด และหากรวมโครงการรถไฟฟ้าในเมืองของ รฟม.กับรถไฟทางคู่ระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่จะมีการลงทุนในปี 2560 แล้วจะทำให้โครงข่ายรถไฟในเมืองและระหว่างมีความสมบูรณ์ จะถือเป็นการลงทุนครั้งประวัติศาสตร์ที่จะส่งผลต่อการจัดเรตติ้งความสามารถของประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ ได้เชิญบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS Group) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในนามกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นเอกชน 2 กลุ่มที่ได้ยื่นข้อเสนอเอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงิน 53,519.50 ล้านบาท และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร เงินลงทุน 51,931.15 ล้านบาท เพื่อขอบคุณที่สนใจร่วมลงทุนกับรัฐบาล เพราะเป็น PPP โครงการแรกของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 โดยหากสามารถร่วมไปได้ดีจะถือเป็นตัวอย่างทำให้เกิดความมั่นใจในโครงการต่อๆ ไป
“มีเอกชนยื่นประมูลสายละ 2 ราย ไม่มากนัก จึงได้เร่งรัดให้เร่งพิจารณาคัดเลือกให้ได้ตัวผู้ชนะทั้ง 2 สายก่อนในกลางเดือนธันวาคมนี้ เพราะทั้ง 2 กลุ่มพร้อมลงทุน พร้อมกันนี้ได้ให้ รฟม.ไปลงทุนโครงการรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่ในภูมิภาคด้วยซึ่งตั้งแต่ปี 2559 มีโครงการใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และในปี 2560 เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น ส่งออกเริ่มดีจะยิ่งเสริม ซึ่งนายกฯ เน้นกระจายงบไปยังจังหวัดภูมิภาค เพื่อช่วยขับเคลื่อนGDP ไม่ใช่เน้นแต่การลงทุนที่ส่วนกลางเท่านั้น” นายสมคิดกล่าว
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ปี 2560 รฟม.มีงบลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 1.6 หมื่นล้านบาท มีการเบิกจ่ายได้ 100% ขณะที่โมโนเรลสีชมพู และเหลือง มีเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ถือว่าช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากเพราะมีเม็ดเงินลงทุนต่อเนื่อง
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า ในปี 60 มีโครงการรถไฟฟ้ารวม 5 โครงการ ได้แก่ สายสีเขียวใต้ ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 9.2 กม. วงเงิน 9,529.54 ล้านบาท, สายสีเขียวเหนือ ช่วงคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 6.5 กม. วงเงิน 9,236.07 ล้านบาท, สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กม. วงเงิน 21,120 ล้านบาท, สายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 16.4 กม. วงเงิน 85,288.54 ล้านบาท และสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 131,004.3 ล้านบาท ซึ่งจะปรับแผนเพื่อเร่งดำเนินโครงการได้เร็วขึ้นตามนโยบาย ในขั้นตอนการคัดเลือกประกวดราคา
ส่วนการพิจารณาข้อเสนอของสายสีชมพู และสีเหลือง คณะกรรมการตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 จะพิจารณาซองคุณสมบัติและข้อเสนอทางเทคนิค ใช้เวลา 15 วัน จากนั้นจะเปิดซองข้อเสนอทางการเงินและผลตอบแทน โดยจะมีการเจรจากับผู้เสนอที่ดีที่สุด
โมโนเรลสีชมพู และเหลืองนั้น เอกชนมีความกังวลในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ เนื่องจากลงทุน 100% ดังนั้นเมื่อเริ่มงานจะมีดอกเบี้ยทันทีทุกวัน หากโครงการไม่สามารถเสร็จตามกำหนดและไม่สามารถสร้างรายได้ตามแผนจะเกิดภาวะขาดทุนทันที ที่ผ่านมาความล่าช้าของโครงการใหญ่ คือ การเวนคืน และส่งมอบพื้นที่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ รฟม.ที่จะต้องเร่งรัด โดยขณะนี้ได้เริ่มทำงานล่วงหน้าแล้วมีการออก พ.ร.ฎ.เวนคืนแล้ว จะทำงานร่วมกับผู้รับจ้างใกล้ชิด หากจุดใดเกิดความล่าช้าจะมีการปรับแผนงานโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบ เพราะเป็นความเสี่ยงของการลงทุน นอกจากนี้จะประสานกับหน่วยงานเรื่องการรื้อย้ายสาธารณูปโภคให้เร็วด้วย
สำหรับสายสีชมพู มีค่าเวนคืน 6,847 ล้านบาท แนวเส้นทางจะต่อจากสายม่วงไปทางติวานนท์ เลี้ยวเข้าถนนแจ้งวัฒนะที่แยกปากเกร็ด ใช้แนวถนนเป็นหลัก เวนคืนหลักๆ ช่วงวงเลี้ยวแยกปากเกร็ด หลักสี่ ช่วงตลาดมีนบุรีเลี้ยวไปรามคำแหง สุวินทวงศ์ เพื่อเข้าศูนย์ซ่อมฯ
ส่วนสายสีเหลือง มีค่าเวนคืน 6,013 ล้านบาท แนวเส้นทางส่วนใหญ่อยู่บนถนนลาดพร้าว จะมีข้อจำกัดพื้นที่เขตทางบริเวณบางกะปิ หน้าเดอะมอลล์ อาจจะรื้อย้ายสะพานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยจุดเวนคืนสำคัญ คือ ศูนย์ซ่อมที่วัดศรีเอี่ยม พื้นที่ประมาณ 100 กว่าไร่ ปัญหาที่คาดว่าจะเกิด คือ ผู้ถูกเวนคืนไม่ยอมรับราคาซึ่งจะใช้แนวทางค่าชดเชยของสายสีน้ำเงิน หรือเจรจาเพื่อใช้พื้นที่ร่วมกัน แล้วแต่กรณี
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบีทีเอส กรุ๊ป กล่าวว่า บีทีเอสลงทุนรถไฟฟ้ามาตั้งแต่ 20 ปีก่อน เพราะเชื่อว่าประเทศไทยจะก้าวหน้า ต้องลงทุนระบบรางเพื่อแก้ปัญหาจราจร และมั่นใจว่าภายใต้รัฐบาลชุดนี้จะมีโครงการใหม่ๆ ที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนอีกมาก สำหรับ BTS มั่นใจในการลงทุนเศรษฐกิจประเทศ พร้อมที่จะร่วมลงทุนในรถไฟฟ้าทุกสายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งการยื่นประมูลสายสีชมพู และสีเหลือง ทีโออาร์นั้นค่อนข้างที่จะลงทุนไม่ง่ายรอพิจารณาลึกๆ เห็นว่าหากสามารถจัดสรรในเรื่องระบบ การเดินรถในอนาคต โคางการคงจะสามารถทำกำไรได้ ซึ่งพิจารณาจาก 2 โครงการ อนาคตมีที่ดิน อีกมากที่จะสามารถพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้เกิดความมั่นใจ อีกทั้งมีผู้ร่วมทุนทั้ง บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง ที่ช่วยสร้างมั่นใจ
นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ราชบุรี โฮลดิ้ง กล่าวว่า บริษัทฯ มองหาโอกาสในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งบริษัทมีพันธมิตรที่เชี่ยวชาญด้านรถไฟฟ้า ยืนยันว่าจะร่วมลงทุนโครงการในอนาคตด้วย
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ร่วมงานรับจ้างก่อสร้างเกือบทุกเส้นทางอยู่แล้ว จากการประมูลสายสีชมพู และสีเหลือง ผู้ยื่นทั้งสองกลุ่มไม่ว่าจะใครจะชนะ โครงการสำเร็จตามกำหนด พร้อมคุณภาพที่ดีส่งมอบให้ รฟม.แน่นอน
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานบริษัท BEM และ ช.การช่าง กล่าวว่า ได้ยื่นทั้ง 2 สาย มั่นใจมากเนื่องจากได้ศึกษามาอย่างดีและเตรียมความพร้อมทุกอย่าง น่าจะมีโอกาส และหากได้งานก็พร้อมที่จะลงทุนทันทีเพราะเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ส่วนโครงการใหม่ๆ มั่นใจว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศส่วนรวม บริษัทฯ พร้อมเข้าลงทุนในทุกโครงการ