xs
xsm
sm
md
lg

มาตามนัด “BTS-BEM” ยื่นซองชิงสัมปทาน “โมโนเรล ชมพู-เหลือง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


2 กลุ่มเอกชนระดับบิ๊กยื่นชิงสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง “บีทีเอส” ผนึก “ราชบุรีโฮลดิ้ง” และซิโน-ไทย ส่วน BEM มาเดี่ยว โดย “สมบัติ” ระบุ จับมือ ช.การช่างก่อสร้าง พร้อมรีดต้นทุนยื่นราคา หวังปิดดีลชิงโมโนเรล ด้าน กก.มาตรา 35 ตามมาตรา 35 กำหนดเปิดซองข้อเสนอฯ 17 พ.ย. คาดพิจารณาเสร็จใน 3 เดือน ตั้งเป้าเซ็นสัญญา เม.ย. 60

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า จากที่ รฟม.ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5  กิโลเมตร วงเงิน 53,519.50 ล้านบาท มีผู้ซื้อเอกสารร่วมลงทุนฯ จำนวน 16 ราย และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร  เงินลงทุน 51,931.15 ล้านบาท มีผู้สนใจซื้อเอกสารร่วมลงทุนฯ จำนวน 17 ราย โดยกำหนดให้ยื่นเอกสารร่วมลงทุนฯ ในวันที่ 7 พ.ย. 2559 นั้น ปรากฏว่าทั้ง 2 โครงการมีผู้ยื่นเอกสารโครงการละ 2 กลุ่มเหมือนกัน

ได้แก่ 1. กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS Group) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ 2. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM)

สำหรับขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 จะพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอและเปิดซองข้อเสนอฯ ในวันที่ 17 พ.ย. 2559 โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในการดำเนินการประเมินผลข้อเสนอฯ และเจรจาต่อรองกับเอกชนผู้ชนะการคัดเลือกก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ประมาณเดือน เม.ย. 2560

โดยหลักในการพิจารณาคัดเลือกและเจรจาต่อรองกับเอกชน ซึ่งจะพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติและเทคนิคก่อน หากผ่านเกณฑ์จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซึ่งจะมีข้อเสนอผลตอบแทนให้ รฟม. และหรือจำนวนเงินสนับสนุนที่จะขอรับจาก รฟม. โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องมีผลประโยชน์สุทธิสูงที่สุด โดยนำเงินตอบแทนที่เสนอให้แก่ รฟม. หักด้วยจำนวนเงินสนับสนุนที่จะขอรับจาก รฟม.

โดยสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองนั้น รฟม.ลงทุนด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และผู้รับสัมปทานลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา ระบบเครื่องกลและไฟฟ้า (รถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง) และให้บริการการจัดการเดินรถและบำรุงรักษา รวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าบริการ (รูปแบบ PPP Net Cost) ซึ่งมีระยะเวลาสัมปทาน 33 ปี 3 เดือน โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 : งานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมระบบเครื่องกลและไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน และระยะที่ 2 : งานให้บริการด้านบริหารจัดการการเดินรถและบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่า BEM และ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จะร่วมมือในการประมูล โดย ช.การช่างจะรับผิดชอบการก่อสร้างงานโยธา ซึ่งถือเป็นคู่ค้าที่มีความแข็งแกร่งทางการเงิน ถือเป็นจุดแข็ง โดยการแข่งขันครั้งนี้มีหลายหัวข้อ งานโยธา ระบบรถ งานซ่อมบำรุง (O&M) งานบริหารการเดินรถ และการเงินสนับสนุนโครงการ ผู้ชนะคือคนที่บริหารค่าใช้จ่ายมีต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งจะต้องหารายได้จากส่วนอื่นมาช่วยสนับสนุนรายได้จากการเดินรถ เช่น การพัฒนาเชิงพาณิชย์ในสถานี โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเป็นการชดเชยให้ แต่ต้องขอรับการชดเชยน้อยที่สุดจึงจะเป็นผู้ชนะ

***ฟุ้ง ปี 59 BEM กำไร เหตุได้ค่าจ้างสีม่วงเพิ่มรายได้

สำหรับปี 2559 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะเติบโตจากปี 2558 ประมาณ 5% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปิดเดินรถสายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน) โดยมีผู้โดยสารจากสายสีม่วงประมาณ 50% หรือ 15,000 คน เข้ามาใช้บริการสายสีน้ำเงิน โดยเชื่อมต่อที่สถานีบางซื่อ และคาดว่าในปี 2560 ผู้โดยสารอาจจะเติบโตมากขึ้น หากมีการต่อเชื่อมช่วง 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ)

โดยธุรกิจระบบรางของ BEM ในปี 2558 มีผลขาดทุนประมาณ 300 ล้านบาท แต่ในปี 2559 จะมีกำไรแน่นอน จากจำนวนผู้โดยสารสายสีน้ำเงินที่เพิ่มขึ้นและรายได้จากค่าจ้างเดินรถสายสีม่วงประมาณ 1,800 ล้านบาทต่อปี โดยปี 2559 จะได้รับประมาณ 6 เดือน (เนื่องจากเปิดเดินรถสายสีม่วงตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559) ส่วนปี 2560 จะมีกำไรต่อเนื่องแน่นอน เพราะจะได้รับค่าจ้างเดินรถสีม่วงเต็มปี บวกกับคาดการณ์สายสีน้ำเงินว่าจำนวนผู้โดยสารจะเติบโตประมาณ 4-5% ส่งผลให้รายได้เติบโตจาก 2,500 ล้านบาทเป็น 2,700 ล้านบาท ทำให้รายได้รวมของธุรกิจระบบรางอยู่ที่ 3,300-3,500 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น