ถ้าจับตาดูบทบาทด้านความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR ของธุรกิจอุตสาหกรรมชั้นนำในประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นโครงการต่อเนื่องและ “มีการจัดการเชิงกลยุทธ์” โดยหวังผลลัพธ์ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ธุรกิจและมีผลดีต่อสังคมในแง่การพัฒนาสมรรถนะของเยาวชนให้กลายเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ
เรามาดูกรณีตัวอย่างที่เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจีได้บทโครงการ “โฮมโซลูชั่น แคเรียช้อยส์” มาตั้งแต่ปี 2553 และบัดนี้ได้บูรณาการงานสร้างบุคลากรสายอาชีพร่วมกับพันธมิตรสำคัญคือ บริษัทฤทธา บริษัทช.การช่าง บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ พร้อมบริษัทในเครืออย่างสยามมอร์ตาร์ CPAC และเอสซีจี บิลดิ้งเทค ได้เปิดตัวในโครงการ “ทวิภาคีดีวีอี แคเรียช้อยส์” (Dual Vocational Education Career Choices) และมอบทุนการศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 9,408,000 บาท ให้กับนักศึกษาชั้น ปวส.สาขาวิชาการก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี 48 คน สำหรับปีการศึกษา 2559 - 2560
ระบบการศึกษาแบบทวิภาคี คือเน้นการเรียนภาคทฤษฎีในสถานศึกษาควบคู่กับการเรียนรู้งานจริงผ่านการปฏิบัติในสถานประกอบการ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพสูงด้านการก่อสร้างมารองรับความต้องการของอุตสาหกรรม
ในเรื่องนี้ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ซึ่งรับรู้ถึงปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านวิชาชีพทั้งแง่ปริมาณและคุณภาพจึงยินดีให้ความสนับสนุนการผลิตแรงงานที่มีคุณภาพให้กับประเทศ และโครงการนี้ก็สอดคล้องกับบทบาทผู้นำภาคเอกชนในคณะทำงานด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพที่จัดตั้งโดยคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เพราะมีโครงการต่างๆ ของเอสซีจีตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เช่นโครงการต้นแบบการผลิตช่างเทคนิคเพื่ออุตสาหกรรม หรือ “เอสซีจีโมเดล สคูล” และโครงการเสริมสร้างสมรรถนะทางอาชีพ หรือ “โฮมโซลูชั่น แคเรียช้อยส์” ที่ได้รับการพัฒนาเป็นโครงการ “ทวิภาคี ดีวีอี แคเรียช้อยส์”
ด้าน นิธิ ภัทรโชค Vice President-Domestic Market บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวเสริมว่า โครงการ “ทวิภาคี ดีวีอี แคเรียช้อยส์” เป็นความร่วมมือจากภาครัฐผ่าน “คณะทำงานสานพลังประชารัฐ” ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาผ่านวิทยาลัยเทคนิคสระบุรีและภาคีภาคเอกชน ได้ร่วมกันออกแบบหลักสูตรวิชาเรียนเพื่อพัฒนากำลังพลในอนาคตตามความต้องการของธุรกิจแล้ว ยังเปิดโอกาสให้น้องๆ จากวิทยาลัยเทคนิคสระบุรีกลุ่มนี้ ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานจริงในบริษัทผู้ให้ทุนการศึกษา ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาก็มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์เพื่อเข้าทำงานกับบริษัทผู้ให้ทุนต่อไป
เมื่อถามถึงความรู้สึกของเหล่าต้นกล้าใหม่นักศึกษา ปวส. ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี ที่ได้เข้าร่วมโครงการ “ทวิภาคี ดีวีอี แคเรียช้อยส์” บัญชร สงวนภักดิ์ นักศึกษา บอกว่า ที่เข้ามาร่วมโครงการ เพราะ อาจารย์ที่วิทยาลัยแนะนำ โดยได้รับทุนของบริษัท ฤทธา จำกัด
“การเรียนการสอนในโครงการนี้จะเข้มข้นกว่าหลักสูตรปกติ เพราะมีวิชาเสริมเพิ่มเข้ามา ทำให้ความรู้แน่นขึ้น แล้วยังได้ไปฝึกงานกับบริษัทชั้นนำด้วย ผมว่าถ้าโครงการนี้เปิดกว้างก็จะเป็นเรื่องดี เพราะสามารถเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กอาชีวะหันมาสนใจใฝ่รู้มากขึ้น และนอกจากได้รับทุนการศึกษาแล้ว ยังเป็นการรับรองอนาคตว่าจะมีงานทำที่มั่นคง เพื่อตัวเองและเลี้ยงดูพ่อแม่ต่อไปได้” บัญชรกล่าว
ด้าน อนาวิล บุญธรรม บอกว่า รู้จักโครงการนี้ จากการที่เอสซีจีได้ไปโรดโชว์ที่วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ เมื่อทราบว่ามีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ค่าแรงตอนฝึกงาน และเมื่อจบการศึกษายังมีโอกาสทำงานกับบริษัทชั้นนำ จึงสนใจเข้าร่วมโครงการ
ขณะที่ วัชรินทร์ ธนันต์ชัยวลี กล่าวว่า ตนเองเป็นต้นกล้าเก่าจากโครงการ “โฮมโซลูชั่น แคเรียช้อยส์” ได้รับทุนจากเอสซีจีในการศึกษา ปวช.ชั้นปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 เมื่อใกล้สำเร็จการศึกษาและได้เห็นโครงการต่อยอดนี้ จึงได้สมัครสอบและได้รับเลือกให้รับทุนการศึกษาจากบริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน)
“ ผมเป็น 1 ใน 4 คนจากวิทยาลัยเทคนิคสระบุรีที่ได้ทุนต่อยอดในระดับชั้น ปวส. ผมมองว่าโครงการนี้มีแต่ข้อดี ตั้งแต่หลักสูตรการเรียนการสอนที่มีภาคเอกชนมาช่วยออกแบบการต่อยอดในการฝึกงาน และท้ายที่สุดคือโอกาสในการทำงานกับบริษัทชั้นนำ ซึ่งผมตั้งใจเรียนมาตั้งแต่ชั้น ปวช. แล้ว การได้รับทุนอีกครั้งในระดับ ปวส. ยิ่งเติมเต็มอนาคตของผม เมื่อเข้าสู่เส้นทางการทำงานจะทำให้ดีที่สุด เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวต่อไป ” วัชรินทร์กล่าวทิ้งท้าย
ข้อคิด…
การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมแบบมีกลยุทธ์ที่เริ่มตั้งแต่วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการยกระดับคุณภาพอาชีวะศึกษาทั้งความคิดและวิถีพฤติกรรมที่ภาคเอกชนผนึกกำลังทั้งการเงิน สมอง และการปฏิบัติ มีโอกาสนำไปสู่ความยั่งยืนได้
โครงการ “โฮมโซลูชั่น แคเรียช้อยส์ ” ทำมาแล้ว 5 รุ่น ขณะนี้รุ่นที่ 6 กำลังเรียนชั้น ปวส. ปี 2 ในฐานะผู้ที่เฝ้ามองความสำเร็จ ศุภชัย จันทรเกตุ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสระบุรี ชื่นชมโครงการนี้ว่าที่ประสบผลสัมฤทธิ์ด้วยดี นับจากเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งถือเป็นรุ่นที่ 2 และได้รับโอกาสต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
“ ตั้งแต่รุ่นที่ 1 ถึงรุ่นที่ 5 มีนักเรียนที่สำเร็จจากโครงการนี้ 182 คน ทั้งหมดได้ผ่านการคัดเลือกเข้าทำงานกับบริษัทในเครือเอสซีจีทุกคน และปีนี้เอสซีจียังได้ต่อยอดเป็นโครงการ “ ทวิภาคี ดีวีอี แคเรียช้อยส์ ” ซึ่งหลายปีที่ผ่านมานักเรียนของวิทยาลัยเทคนิคสระบุรีตื่นตัวมาก เพราะได้เห็นเด็กอาชีวะรุ่นพี่ที่จบออกไปมีงานทำ นำความสุขสู่สังคมเป็นคนดีของครอบครัว ”
“โครงการนี้ทำให้ชาวอาชีวะมองภาพอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากคำว่าช่างก่อสร้าง ที่พ่อแม่หรือแม้แต่นักเรียนเองก็ไม่นิยมเข้าเรียนด้วยเกรงว่าจะไม่มีงานทำ หรือต้องทำงานหนักเป็นกรรมกร แต่เอสซีจีจัดทำโครงการนี้ขึ้นมาก็ได้ช่วยปรับภาพลักษณ์ของอาชีวะ ตลอดจนแนวคิดของคนทั่วไปว่าการเรียนช่างก่อสร้างไม่ใช่กรรมกรอีกต่อไป เพราะนักศึกษามีโอกาสและทางเลือกมากมายรองรับอยู่ ”
นี่เป็นภารกิจระดับชาติที่ทั้งภาครัฐ สถานศึกษาและผู้ประกอบการมาวางแผนร่วมกัน ทำให้สิ่งที่ขาดตกบกพร่องได้รับการเติมเต็ม ให้สอดคล้องกับที่สถานประกอบการต้องการ ทำให้สถานศึกษารู้ว่าต้องสร้างคนไปในทิศทางใดและควรสอนอย่างไรเพื่อให้มีคุณภาพ เป็นการช่วยผลักดันการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพเพื่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
suwatmgr@gmail.com