xs
xsm
sm
md
lg

ทล.เปิดโมเดล PPP ที่พักรถมอเตอร์เวย์ กว่า 2 พันล้าน เล็งประมูลปี 60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรมทางหลวง” จัดสัมมนาประเมินความสนใจภาคเอกชนร่วมลงทุน บริหารที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ “สายบางใหญ่-กาญจนบุรี” และ “สายบางปะอิน-โคราช” รวม 21 จุด วงเงินลงทุนกว่า 2 พันล้าน ก่อนเคาะรูปแบบ คาดเสนอ สคร.และ กก.PPP ใน ม.ค. 60 เล็งเปิดประมูลพร้อมเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์แบบครบวงจรใจปี 63

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) แนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการที่พักริมทาง โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายบางปะอิน-นครราชสีมา ว่ากรมทางหลวง (ทล.) จะรวบรวมความคิดเห็นพร้อมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ ของภาคเอกชน เพื่อกำหนดในเงื่อนไขการเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนและดำเนินงานในกิจการของรัฐ (PPP) ในการใช้ประโยชน์พื้นที่สองข้างทาง ตั้งแต่ลงทุนก่อสร้าง บริหารและแบ่งปันผลประโยชน โดยตามแผนงานจะนำเสนอนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในเดือน ธ.ค. 2559 จากนั้นจะเสนอต่อไปยังสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ได้ภายในเดือน ม.ค. 2560

โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการสถานีบริการทางหลวง (Service Area) และสถานที่พักริมทางหลวง (Rest Area) สายบางปะอิน-นครราชสีมา มีจำนวน 8 แห่ง (แห่งละ 2 ฝั่ง) มูลค่าลงทุนโครงการรวม 1,220 ล้านบาท ประกอบด้วย สถานที่พักริมทางหลวงวังน้อย สถานที่พักริมทางหลวงหนองแค สถานที่บริการทางหลวงสระบุรี สถานที่พักริมทางหลวงทับกวาง ศูนย์บริการทางหลวงปากช่อง สถานที่พักริมทางหลวงลำตะคอง (มีขาออกฝั่งเดียว) สถานที่บริการทางหลวงสีคิ้ว และสถานที่พักริมทางหลวงขามทะเลสอ

สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีจำนวน 3 แห่ง (แห่งละ 2 ฝั่ง) มูลค่าลงทุนโครงการรวม 860 ล้านบาท ประกอบด้วย สถานที่บริการทางหลวงนครชัยศรี สถานที่บริการทางหลวงนครปฐม และสถานที่พักริมทางหลวงท่ามะกา

นายชาติชายกล่าวว่า การให้เอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการที่พักริมทางในรูปแบบของการให้สัมปทาน PPP Net Cost โดยภาคเอกชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบการออกแบบโครงสร้างและสถาปัตยกรรม พร้อมทั้งลงทุนก่อสร้างอาคารและองค์ประกอบต่างๆ ในพื้นที่พักริมทาง และได้รับรายได้จากการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ โดยจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐในรูปแบบของค่าสัมปทาน และ/หรือส่วนแบ่งรายได้

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างงานโยธา คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2563 ซึ่งการประมูลลงทุนและบริหารจัดการที่พักริมทางจะดำเนินการในปี 2560 เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์ โดยประมาณการณ์จราจรในปีแรก (2563) ที่เปิดให้บริการ สายบางประอิน-นครราชสีมา เฉลี่ย 43,000 คัน/วัน สายบางใหญ่-กาญจนบุรี เฉลี่ย 37,000 คัน/วัน

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า รูปแบบที่เหมาะสม คือ เอกชนจ่ายผลตอบแทนแบบคงที่รายปี และเปอร์เซ็นต์จากปริมาณจราจรที่ใช้ทาง แต่จะเป็นเท่าไร จะต้องประเมินรายละเอียดและต้นทุนก่อน รวมถึงโมเดลการลงทุนนั้นมีความหลากหลาย ทั้งแบบเอกชนรายเดียวรับบริหารทุกแห่งทั้งสายทาง หรืออาจจัดกลุ่มที่พักริมทาง 3-4 จุดเป็น 1 กลุ่ม ต่อเอกชน 1ราย นอกจากนี้ จะต้องมีการสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนและท้องถิ่น ซึ่งจะต้องฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนร่วมด้วย

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบที่พักริมทางมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา จะมีรายได้เฉลี่ยที่ 460 ล้านบาทต่อปี จากค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ รายได้จากการขายน้ำมัน และค่าเช่าพื้นที่โฆษณา ปี 2563 มีปริมาณการจราจร 43,500 คันต่อวัน ปี 2568 จะเติบโต 2.5% เป็น 49,410 คันต่อปี ปี 2573 เติบโต 2.3% เป็น 54,870 คันต่อวัน ปี 2578 เติบโต 2% เป็น 60,490 คันต่อวัน และปี 2593 เติบโต 1.7% เป็น 79,730 คันต่อวัน โดยมีค่าดำเนินการและบำรุงรักษาเฉลี่ย 160 ล้านบาทต่อปี

ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี จะมีรายได้เฉลี่ยที่ 260 ล้านบาทต่อปี มีค่าดำเนินการและบำรุงรักษาเฉลี่ย 120 ล้านบาทต่อปี ปี 2563 มีปริมาณจราจร 37,100 คันต่อวัน ปี 2568 เติบโต 9.4% เป็น 58,150 คันต่อวัน ปี 2573 เติบโต 4.6% เป็น 72,770 คันต่อวัน ปี 2578 เติบโต 3.5% เป็น 86,330 คันปี 2593 เติบโต 2.5% เป็น 146,760 คันต่อวัน

อย่างไรก็ตาม มีผู้ร่วมสัมมนากว่า 150 คน ทั้งกลุ่มบริษัทผู้ค้าปลีก สถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจ ผู้รับเหมาก่อสร้าง กลุ่มบริษัทค้าปลีกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และประชาชนโดยเอกชน เช่น บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮาส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK, บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR, บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ MJD

ทั้งนี้ เบื้องต้น ได้กำหนดแนวทางการจัดสรรผลตอบแทนให้แก่รัฐ จำนวน 4 แนวทาง ดังนี้

1. รูปแบบ A เอกชนจ่ายผลตอบแทนรายปีให้รัฐตามเงื่อนไขที่กำหนดตลอดอายุสัมปทาน โดยรัฐเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการปรับขึ้นของผลตอบแทน และเอกชนประมูลแข่งขันด้วยจำนวนผลตอบแทนรายปีที่จะให้แก่รัฐตามรูปแบบและเงื่อนไขที่รัฐกำหนด

2. รูปแบบ B เอกชนจ่ายผลตอบแทนจากส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐตลอดอายุสัมปทาน ตามสัดส่วนที่กำหนด โดยรัฐเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขของส่วนแบ่งรายได้ปี และเอกชนประมูลแข่งขันด้วยสัดส่วนของรายได้รายปีที่จะให้แก่รัฐตามรูปแบบและเงื่อนไขที่รัฐกำหนด

3. รูปแบบ C เอกชนจ่ายผลตอบแทนรายปีและส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ กำหนดให้เอกชนจ่ายผลตอบแทนให้แก่รัฐทั้ง 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นผลตอบแทนรายปี และส่วนแบ่งรายได้ของโครงการฯ ตลอดอายุสัมปทาน โดยรัฐเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการปรับขึ้นของผลตอบแทนให้แก่รัฐทั้ง 2 ส่วน และเอกชนประมูลแข่งขันทั้งในส่วนของจำนวนผลตอบแทนรายปีและสัดส่วนของรายได้รายปีที่จะให้แก่รัฐ ตามรูปแบบและเงื่อนไขที่รัฐกำหนด

4. รูปแบบ D เอกชนจ่ายผลตอบแทนรายปีหรือส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐตามจำนวนที่สูงกว่า ระหว่างส่วนที่เป็นผลตอบแทนรายปี หรือส่วนแบ่งรายได้ของโครงการฯ ตลอดอายุสัมปทาน โดยรัฐเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการปรับขึ้นของผลตอบแทนให้แก่รัฐทั้ง 2 ส่วน และเอกชนประมูลแข่งขันทั้งในส่วนของจำนวนผลตอบแทนรายปีและสัดส่วนของรายได้รายปีที่จะให้แก่รัฐ ตามรูปแบบและเงื่อนไขที่รัฐกำหนด

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา มีจุดเริ่มต้นโครงการ ต่อเชื่อมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก) กับทางหลวงหมายเลข 1 บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา แนวเส้นทางมุ่งสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่าน อ.วังน้อย อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา อ.หนองแค อ.เมืองสระบุรี อ.แก่งคอย อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ และ อ.เมืองนครราชสีมา สิ้นสุดที่ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา รวมระยะทาง 196 กิโลเมตร

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีจุดเริ่มต้นที่จุดตัดทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 9 (ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก) กับถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณทางแยกต่างระดับบางใหญ่ จ.นนทบุรี แนวเส้นทางมุ่งตรงไปทางทิศตะวันตก ผ่าน อ.พุทธมณฑล อ.นครชัยศรี อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จากนั้นแนวสายทางจะเบี่ยงขึ้นทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่าน อ.ท่ามะกา และ อ.ท่าม่วง บรรจบทางหลวงหมายเลข 324 (ถนนกาญจนบุรี-อ.พนมทวน) จ.กาญจนบุรี รวมระยะทาง 96 กิโลเมตร
กำลังโหลดความคิดเห็น