xs
xsm
sm
md
lg

จี้หน่วยงานรัฐเร่งกำจัดผักตบชวาติดตอม่อหนาแน่นใต้ “สะพานประชาร่วมใจ” นครปฐม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครปฐม - ปัญหาผักตบชวาติดแน่นตอม่อ “สะพานประชาร่วมใจ” ข้ามผ่านแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำนครชัยศรี เริ่มมีปัญหามากขึ้น พบมีเจ้าหน้าที่จากกรมโยธาธิการ ขับเรือขุดลอกตลอดวันเพื่อเปิดทางน้ำให้ระบายสู่ทะเลเพียงแค่ 2 คน โดยมีชาวบ้านคอยช่วยเหลืออยู่ 3- 4 คน ชาวบ้านจี้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาด่วน

วันนี้ (3 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวติดตามกรณีที่มีผักตบชวา และวัชพืชที่ลอยเกาะแน่นติดกับตอม่อ สะพานประชาร่วมใจ ซึ่งเป็นสะพานที่ใช้สำหรับให้ยานพาหนะข้ามผ่านแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำนครชัยศรี หมู่ 1 ต.ห้วยพลู อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ติดกับโรงพยาบาลห้วยพลู และวัดบางพระ (หลวงพ่อเปิ่น) ทำให้การระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีนไม่สามารถไหลผ่านไปยังจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อระบายสู่ท้องทะเลไม่สะดวก ขณะที่น้ำทางต้นทางยังมีการจับตาสถานการณ์การเพิ่มขึ้นอย่างใกล้ชิด จนจังหวัดนครปฐม มีการประกาศแจ้งเตือนผู้ที่อยู่ริมน้ำในพื้นที่ตั้งแต่อำเภอบางเลน เพื่อให้เตรียมความพร้อมที่อาจจะเกิดน้ำท่วมได้ในช่วงนี้

จากการสำรวจพื้นที่พบว่า ที่สะพานประชาร่วมใจ มีเจ้าหน้าที่ของกรมโยธาธิการ กำลังขับเรือขุดลอกผักตบชวาอยู่เพียงแค่ 1 ลำ กำลังเร่งทำการลากผักตบชวา และเศษวัชพืชที่มาอัดแน่นอยู่ที่ตอม่อใต้สะพานจนเต็มผิวน้ำ จนทำให้ไม่สามารถลอดผ่านไปที่อีกฝั่งของสะพานได้ โดยมีพื้นที่กว้างราว 2 ไร่ และมีชาวบ้านราว 3-4 คน ที่มาช่วยเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ริมฝั่ง

นายกลม ชาวบ้าน หมู่ 1 ต.ห้วยพลู อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม บอกว่า ผักตบชวาที่ลอยมาติดตอม่อบริเวณดังกล่าวมีมาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยในช่วงกลางวัน ตนกับเพื่อนที่เห็นได้พยายามช่วยกันเเอาตะขอเหล็กเกี่ยวออก แต่ในช่วงกลางคืนก็มีมาอีกทั้งผักตบชวา และรากผักบุ้ง ลอยมาเกาะติดรวมกันจนเริ่มแน่นมากขึ้น ตนกับพวก 3-4 คน รวมถึงพระที่จำวัดอยู่ที่วัดบางพระ ก็ช่วยกันเอาเรือไปเขี่ยออกหลายวัน แต่ก็ไม่สามารถจะทานแรงของผักตบ และวัชพืชจำนวนมากที่ถาโถมมาได้จึงต้องได้แต่นั่งมอง

จนกระทั่งเมื่อประมาณ 20 วันที่ผ่านมา ได้มีเรือของกรมโยธา มาเร่งขุดเปิดทางน้ำออก แต่ทำได้ด้วยความยากลำบากเพราะมีเจ้าหน้าที่มาเพียง 2 คน โดยขับเรือทุกวันตั้งแต่เช้าถึงเย็นเพื่อเร่งเอาผักตบชวาออกไป แต่ก็ทำด้วยความยากลำบากเพราะมีความหนาแน่น และเกาะกันจนกลายเป็นผืนดิน

“เคยมีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยมาดูที่นี่ เชิญสื่อมา พอถ่ายทำข่าวเสร็จก็เก็บข้าวของแยกย้ายกันกลับไปหมดเหลือเพียงเรือ 1 ลำ เจ้าหน้าที่ 2 คน กับชาวบ้านอย่างพวกผม 3-4 คน ที่ต้องมานั่งเฝ้าตรงนี้เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ขับเรือ อุปกรณ์ตะขอเกี่ยวผักตบหักไปหลายอันแล้วที่พวกผมทำกันมา แต่ก็ไม่มีหน่วยงานไหนมาดูแลจริงจัง และเรื่องนี้น่าเบื่อเพราะมันเป็นทุกปี แต่ก็ไม่ได้รับการดูแลใดๆ เรามีแรงก็ทำไป ส่วนคนที่ไม่สนใจเขาก็ว่าไม่ใช่เรื่องของเขา ถ้าเป็นอย่างนี้ผมคิดว่าระยะยาวเกิดปัญหาแน่ๆ เพราะนี่น้ำก็เริ่มมาเยอะมากขึ้นแล้ว” นายกลม กล่าว

ด้าน นายชูชีพ ไม่ทราบนามสกุล อายุ 62 ปี อดีตข้าราชการกรมชลประทาน บอกว่า วันนี้แม่น้ำท่าจีน เหมือนถูกทอดทิ้ง เพราะเป็นแม่น้ำสายหลักที่ต้องทำหน้าที่รองรับการระบายน้ำจากกรุงเทพ แต่การดูแลแ ละจัดการระบบที่มีความพร้อมนั้นไม่มีเลย ปัญหาผักตบชวาที่มาติดนี่เป็นเรื่องหนึ่งในการบริหารจัดการ เพราะปัญหาที่มีการติดตอม่อ มันไม่ใช่แค่ผักตบชวา แต่มันมีรากผักบุ้งที่มาเป็นแพจากการเพาะเลี้ยงที่ริมน้ำเมื่อทำการตัดไปขายก็ไม่ได้มาการตัดราก ที่ติดกับกิ่งไผ่ นี่อีกตัวการที่ทำให้เกิดการติดขัดกันอย่างหนาแน่น เรื่องนี้ต้องคุยกันทั้งสายน้ำ เพราะตรงนี้จะเป็นปลายทางแล้ว และการเกิดปัญหาก็มีมาทุกปี ตนเองก็ไม่เห็นจะมีหน่วยงานใดจะเป็นแม่งานที่จะเข้ามาจัดการระบบอย่างจริงจัง

“ระยะยาววิกฤตแน่ เพราะแม่น้ำท่าจีน คือ แหล่งระบายน้ำที่ผันมารองรับปริมาณน้ำจากแม่น้ำสายอื่น แต่การจัดการจัดสรรอย่างเป็นระบบไม่มีเลย ตอนนี้จุดที่พบคือ การไหลผ่านของน้ำที่ไม่คล่องตัว ตอนนี้น้ำก็มาเยอะแล้ว จริงๆ ปัญหาทางระบายควรจะต้องสะดวกมากกว่านี้ แต่อย่างที่เห็นผักตบ และสวะก็ยังเกาะแน่น ตอนนี้กรมโยธาฯ ทำไปแล้วกว่า 20 วัน คาดว่าถ้าเร่งทำอย่างวันนี้น่าจะไม่เกินอีก 20 วัน ก็น่าจะเอาออกหมด แต่ไม่รู้ว่าต้นน้ำจะมีอะไรมาอีก ถ้าแบบนั้นก็ไม่รู้จะว่ายังไง ซึ่งจุดนี้จริงๆ หน่วยงานที่ดูแล หรือจังหวัดนครปฐม ต้องประสานเอาเรือมาคอยจอดรอตรงนี้เป็นประจำเพราะเป็นช่วงทางโค้งแคบ และมีตอม่อมากกว่าสะพานอื่นๆ เนื่องจากสร้างมาตั้งแต่ปี 30 เป็นสะพานแรกในย่านนี้ การออกแบบอาจจะลืมไปว่าตอม่อที่มีจำนวนมากจะมาเจอปัญหาเป็นการกีดขวางผักตบ และสวะบนผิวน้ำ”

“ผมเคยคุยกับเจ้าหน้าที่ยุคก่อนรู้ว่า มีการคิดทำอุโมงค์น้ำเพื่อผ่านเส้นทาง อย่างน้อยย่านนี้ 3 จุดเพื่อให้ทางน้ำคล่องตัวแต่ก็เงียบไป มันอาจจะทำให้เกิดอะไรกับระบบนิเวศหรือเปล่าเราไม่รู้ แต่ก็ควรมีแนวทางให้ชัดเจนกว่านี้ ตอนนี้สำนึกไม่ต้องพูดถึงมันหมดไปนานแล้ว เพราะตอนนี้คนใช้รถกันหมด การใช้ชีวิตสัญจรบนผิวน้ำท่าจีนลดลง มีเพียงการใช้เรือสัญจรของชาวบ้านเล็กๆ น้อยๆ กับเรือท่องเที่ยวจากสามพราน ไปที่ตลาดน้ำลำพญา อ.บางเลน แต่ตอนนี้ก็ไปไม่ได้เพราะติดตรงสะพานนี้ จริงๆ นครปฐม มีงบประมาณเยอะแต่ไม่ทราบว่าทำไมถึงไม่สามารถทำงบประมาณเกี่ยวกับอุทกภัยมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้” นายชูชีพ กล่าว

นายสุทัศน์ อินทิราวรนนท์ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลห้วยพลู บอกว่า ก่อนหน้าเราเคยมีเจ้าภาพเป็นบริษัทเอกชนที่ทำน้ำตาลที่จะขนส่งทางน้ำจะมีการนำเรือมาขุดลอกให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ตอนนี้เลิกกิจการไป ก็ไม่มีใครที่จะมาสนับสนุนตรงนี้ ซึ่งคุยกันในเทศบาลฯ ก็ยังไม่ชัดว่าจะใช้งบประมาณส่วนไหนอย่างไรมาดำเนินการ และยังไม่มีการเปิดประเด็นกับทุกท้องที่ที่อยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ว่า จะมีแนวทางในการทำงานร่วมกันอย่างไร และตนเองลงมาทำงานกับชาวบ้านตลอดแต่ก็มีไม่กี่คน และกำลังเราก็ไม่พอ แต่ก็พยายามจะลงไปในน้ำเพื่อจะเก็บสวะที่มาติดให้มากที่สุด ถึงจะแก้ไม่ได้มากแต่ก็ยังดีที่ได้ทำ

“แม่น้ำท่าจีน เป็นแม่น้ำสายหลักมายาวนาน มีอาชีพมากมายที่อยู่กับริมน้ำนี้ แต่ปัญหาสวะ ผักตบชวาก็ทำให้เกิดปัญหาในน้ำสำหรับคนที่จะมาหาปลาในแม่น้ำ แต่นั่นก็ไม่เท่ากับปัญหาเรื่องการจัดการระบายน้ำ และการรักษาสมดุลในพื้นที่แบบครบวงจร ตอนนี้ก็ต้นน้ำ เช่น จังหวัดชัยนาท จังหวัดสุพรรณบุรี ก็ยังไม่เคยมีการพูดคุยร่วมกัน แม้เราจะเคยมีวิกฤตน้ำท่วมเมื่อปี 54 แต่ปีนี้น้ำมาเยอะ ยังไงก็ไม่เท่ากับครั้งนั้น แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ไม่เคยมีการจัดการที่ชัดเจน เราก็ทำได้แค่มือเราที่ทำเท่านั้น ถ้ามีการจัดการ และการดูแลที่ดีมันจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมากมาย แต่สุดท้ายเรื่องแม่น้ำท่าจีน ต้องมีแม่งานในการดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม” นายสุทัศน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น