xs
xsm
sm
md
lg

“ทล.” เทกระจาดประมูลรวด 2,888 โครงการ วงเงิน 5.2 หมื่นล้าน เร่งฉีดงบปี 60 เข้าระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)
กรมทางหลวงเทกระจาดประมูลงานก่อสร้างในงบปี 60 ทั้งงานเล็ก งานใหญ่ รวม 2,888 โครงการ วงเงิน 5.2 หมื่นล้าน “อธิบดี ทล.” เร่งเซ็นสัญญาผู้รับเหมาทยอยเริ่มก่อสร้างแล้ว มั่นใจ ธ.ค. เซ็นได้ครบ ส่วนมอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช และ บางใหญ่-กาญจนบุรี” ที่เหลือรวม 31 ตอน เร่งเคาะราคาใน 27 ต.ค.นี้

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวงได้เร่งรัดการประกวดราคาโครงการก่อสร้างที่ได้รับงบประมาณดำเนินงานในปี 2560 โดยโครงการที่มีมูลค่า 10-20 ล้านบาทดำเนินการก่อสร้างภายใน 1 ปี จำนวน 2,845 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 21,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้ดำเนินการประกวดราคา ได้ตัวผู้รับจ้างและทยอยเริ่มการก่อสร้างแล้วเกือบทั้งหมด เหลือประมาณ 28 โครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคาจะแล้วเสร็จในปลายปี 2559

สำหรับงานก่อสร้างโครงการใหญ่มีจำนวน 43 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 31,000 ล้านบาท เปิดประกวดราคาแล้วและจะได้ตัวผู้รับจ้างครบในเดือน ต.ค. ไม่เกินเดือน พ.ย. 2559 แน่นอน ทั้งนี้ ในแผนงานปี 2560 กรมทางหลวงได้รับงบประมาณกว่า 9.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้วางแผนการทำงานเพื่อเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ภายหลังลงนามสัญญากับผู้รับจ้างก้อนแรก 

โดยในงบประมาณปี 2560 จะมีงบค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและก่อสร้าง โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 2 สายรวมอยู่ด้วย โดยมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-โคราช ระยะทาง 196 กม. วงเงินรวมวงเงิน 84,600 ล้านบาท แบ่งเป็น 40 ตอน ประมูลไปแล้ว 25 ตอน เหลืออีก 15 ตอน ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 59,120 ล้านบาท แบ่งงานออกเป็น 25 ตอน ประมูลแล้ว 9 ตอน เหลือ 16 ตอน โดยจะเคาะราคาแล้วเสร็จในวันที่ 27 ต.ค.นี้ และทยอยลงนามสัญญากับผู้รับจ้างครบในเดือน ธ.ค. 2559

นายธานินทร์กล่าวว่า ในส่วนของการลงทุนโครงการมอเตอร์เวย์ในอนาคตที่จะใช้การระดมทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) จะต้องหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในรายละเอียดต่างๆ อีก นอกจากนี้ยังมีประเด็นการนำรายได้มอเตอร์เวย์สาย 7 (สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง) และทางหลวงหมายเลข 9 (สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ) เข้าระดมเงินจาก “ไทยแลนด์อินฟราฟันด์” ที่ยังติดข้อกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กรมทางหลวงเคยหารือกฤษฎีกากรณีการนำรายได้ในเงินค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพานในอนาคตของทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ให้แก่กองทุนฯ ไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่ตรงกับกรอบการใช้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพานฯ พ.ศ. 2497 กล่าวคือ นำไปใช้ได้เฉพาะกับทางหลวงและสะพานที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม สำหรับการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบำรุงรักษาทางหลวงและสะพาน การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ทางหลวงและสะพาน
กำลังโหลดความคิดเห็น