xs
xsm
sm
md
lg

เปิด PPP มอเตอร์เวย์ “นครปฐม-ชะอำ” ปี 60 วางโมเดลอุดหนุนเอกชนร่วมลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรมทางหลวง” เปิด Market sounding ฟังเสียงเอกชนกำหนดรูปแบบลงทุน มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ มูลค่ากว่า 6.39 หมื่นล้าน เผยให้เอกชนลงทุนเบ็ดเสร็จตั้งแต่ก่อสร้างทาง ระบบ บริหาร ซ่อมบำรุงและที่พักริมทางแบบ PPP-Net Cost ชี้รัฐต้องอุดหนุนบางส่วนเพื่อจูงใจ เหตุ FIRR ยังต่ำ เช่น สร้างทางบางส่วน/อุดหนุนรายปี “คมนาคม” คาดเสนอ กก.PPP ต้นปี 60 เปิดประมูลปลายปี สร้าง 3 ปี เปิดใช้ปี 65 ต่อเชื่อมลงภาคใต้สะดวก

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market sounding) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 8 สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทางประมาณ 109 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 63,998 ล้านบาท ว่าเส้นทางสายนี้จะเป็นสายแรกที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ตั้งแต่การก่อสร้างงานโยธา งานระบบด่านเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร งานที่พักริมทาง (Service Area) จนถึงการบริหารโครงการซ่อมบำรุง โดยรัฐจะรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะผลักดันให้เริ่มดำเนินโครงการหาเอกชนร่วมลงทุนภายในปี 2560 จึงได้บรรจุโครงการไว้ในแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง หรือ Action Plan ปี 2560 โดยจะเสนอคณะกรรมการ PPP ภายในปี 2560 เปิดประมูลช่วงปลายปี 2560 ลงนามสัญญาในปี 2561 ก่อสร้างปี 2562-2564 เปิดให้บริการในปี2565

ทั้งนี้ ในการทำ Market sounding เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาโครงการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 เพื่อรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีและมีตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธนาคาร กลุ่มนักลงทุน สมาคมการค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมงาน เพื่อนำไปประกอบการกำหนดแผนเพื่อให้เกิดความจูงใจและมีความเป็นไปได้ในการลงทุน โดยขณะนี้โครงการมีความพร้อม เนื่องจากออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว ซึ่งกรมทางหลวงจะรวมรวมเป็นรายงานผลการศึกษาให้เสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมและเสนอต่อ สคร.และคณะกรรมการ PPP ขออนุมัติ

“ที่ผ่านมาการให้เอกชนร่วมลงทุนมอเตอร์เวย์จะเป็นเรื่องระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและซ่อมบำรุง (O&M) ซึ่ง นครปฐม-ชะอำเป็นสายแรกที่เอกชนจะลงทุนทั้งหมดยกเว้นเรื่องเวนคืนที่ดิน ดังนั้นจึงต้องให้ที่พักริมทางด้วยเพื่อมีรายได้อื่นเป็นส่วนเพิ่มจูงใจ ซึ่งแนวเส้นทางจะแยกจากมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรีที่ นครชัยศรี และถือเป็นโครงการระยะแรกของมอเตอร์เวย์ที่เชื่อมต่อลงสู่ภาคใต้ถึงปาดังเบซาร์ สามารถ เชื่อมต่อท่าเรือสงขลา และท่าเรือระนอง และรองรับเศรษฐกิจ 3 ประเทศ คือ ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย ได้” นายชาติชายกล่าว

สำหรับมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ มีระยะทางประมาณ 109 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ  63,998 ล้านบาท แบ่งเป็น เวนคืนที่ดิน มูลค่ากว่า 9,488 ล้านบาท กรมทางหลวงจะเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนเอกชนลงทุนค่าก่อสร้าง ประมาณ 54,510 ล้านบาท ประกอบด้วย งานดิน งานโยธา งานโครงสร้าง และงานระบบ ดำเนินงาน งานซ่อมบำรุงรักษาเส้นทาง และบริหารจัดการที่พักริมทาง คาดการณ์ปริมาณรถยนต์ในปีแรกที่เปิดให้บริการ (2565) เฉลี่ยประมาณ 43,673 คัน และเพิ่มขึ้นเป็น 49,739 คันในปี 2570 และเพิ่มเป็น 70,402 คันในปี 2575 และเพิ่มเป็น 122,108 คัน/วันในปี  2594 โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.5% ต่อปี

ทั้งนี้ เนื่องจากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงินเบื้องต้น พบว่ามีความจำเป็นที่รัฐต้อง สนับสนุนมากกว่าการเวนคืนที่ดิน ซึ่งได้มีการพิจารณาแนวทางการสนับสนุนผู้ลงทุนเพิ่มเติม เช่น 1. รัฐรับผิดชอบงานโยธาบางส่วน เพื่อลดต้นทุนเอกชน เช่น ก่อสร้าง ช่วงที่เป็นทางต่างระดับ หรือทางเชื่อมเข้าสู่ถนนโดยรอบ 2. ประกันรายได้ขั้นต่ำ 3. อุดหนุนในระยะแรก 4. อุดหนุนเป็นรายปีตามระยะเวลาที่ตกลงกัน 5. อุดหนุนเพิ่มเติมจากค่าผ่านทางที่เรียกเก็บ นอกจากนี้ ในส่วนของปัจจัยในการคัดเลือกเอกชน มีแนวทางคือ 1. เลือกรายที่ต้องการเงินอุดหนุนต่ำสุด 2. เลือกรายที่เรียกเก็บค่าผ่านทางต่ำสุด โดยไม่ว่าจะอุดหนุนรูแบบใด จะต้องไม่ให้กระทบต่องบประมาณของกรมทางหลวงในแต่ละปี

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงกล่าวว่า ผลตอบแทนการลงทุน (FIRR) ที่เอกชนสามารถลงทุนได้จะอยู่ที่ ประมาณ 12-15% ดังนั้น ต้องกำหนดรูปแบบการลงทุนและการอุดหนุนของรัฐ เพื่อให้ FIRR อยู่ในระดับที่เอกชนรับได้ โดยจะรับฟังความเห็นจากเอกชนก่อน ว่าสนใจในรูปแบบใด เพื่อนำไปกำหนดในรายงานผลการศึกษาเสนอคณะกรรมการ PPP จากนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 เพื่อกำหนดร่างทีโออาร์ จากนั้นจะนำทีโออาร์ดังกล่าวมาทำ Market sounding อีกรอบเพื่อความมั่นใจก่อนเปิดประมูล โดยเบื้องต้นแนวทางการลงทุน PPP Net Cost หรือสัมปทานระยะเวลา 33 ปี โดยจะมีเวลาก่อสร้างให้ 3 ปี บริหารสัมปทาน 30 ปี
 
สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-ชะอำ เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 นครชัยศรี-นราธิวาส (สุไหงโก-ลก) มีจุดเริ่มต้นเชื่อมกับโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ผ่านไปยัง จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม และสิ้นสุดที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ระยะทางรวมทั้งสิ้น 109 กิโลเมตร ออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร มีการควบคุมทางเข้าออกอย่างสมบูรณ์และมีทางบริการในพื้นที่จำเป็น เพื่อลดผลกระทบของชุมชน มีด่านเก็บค่าผ่านทางด้วยระบบปิดทั้งหมด 9 ด่าน และมีการติดตั้งระบบชั่งน้ำหนักบริเวณด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง ตลอดแนวเส้นทางกำหนดให้มีที่พักริมทางทั้งหมด 5 แห่ง แบ่งเป็นศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) 1 แห่ง สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) 2 แห่ง และสถานที่พักริมทางหลวง (Rest Area) 2 แห่ง

ทั้งนี้ เมื่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-ชะอำ เปิดให้บริการจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณถนนเพชรเกษมซึ่งปัจจุบันเป็นเส้นทางหลักสายเดียวที่เชื่อมการเดินทางสู่ภาคใต้ และยังมีส่วนช่วยเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญทั้งภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศ ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านทั้งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และมาเลเซีย เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจชาติให้ยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น