เชื่อม 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) รออีกยาว เจรจาเดินรถสีน้ำเงินติดหล่ม เอกชนขอชดเชยส่วนแบ่งรายได้ รัฐยันไม่อุดหนุนเพิ่ม “อาคม” เร่งชง “นายกฯ” ขยายเวลาเจรจา หรือตั้งกรรมการชุดใหญ่เจรจาแทนตามคำสั่ง ม.44 ด้าน “ผู้ว่าฯ รฟม.” หารือ BEM ขอเร่งติดระบบใน 6 เดือน เผยผู้โดยสารสายสีม่วงยอด 2.3 หมื่นคน/วัน เตรียมจับมือพันธมิตรร่วมทำโปรค่าตั๋วจูงใจ เล็งยกเลิกรถไฟเชื่อม(บางซ่อน-บางซื่อ) วันเสาร์ เหตุคนใช้น้อย คงวิ่งแค่จันทร์-ศุกร์
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการร่วมฯ การเจรจาเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ได้สรุปรายงานการเจรจา ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ พร้อมทั้งเสนอขอขยายเวลาการเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBEM ตามคำสั่งมาตรา 44 ออกไปอีก 30 วัน ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) แล้ว ทั้งนี้ขึ้นกับพลเอก ประยุทธ์จะพิจารณาขยายเวลาตามที่เสนอหรือไม่ เนื่องจากตามคำสั่งมาตรา 44 กรณี ไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดให้กระทรวงคมนาคมรายงานผลการดำเนินการรวมทั้งสาเหตุของการดำเนินการไม่แล้วเสร็จไปยังนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีอาจพิจารณาขยายระยะเวลาออกไปได้อีกตามที่เห็นสมควรก็ได้
หรือกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อนุมัติให้มีการขยายระยะเวลาออกไป ให้คณะกรรมการร่วมยุติการดำเนินการและให้กระทรวงคมนาคมรายงานผลการดำเนินการไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินโครงการต่อไป โดยในขั้นนี้จะมีคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีปลัดกระทรวงการคลัง, เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, อัยการสูงสุด และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นกรรมการ และผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่แทน โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ผลการเจรจาคณะกรรมการร่วมฯ คือคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2556 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ กับ BEM นั้น การรวมสัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เฉลิมรัชมงคล) เดิมกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเข้าด้วยกัน เพื่อให้การเดินรถต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) ได้ข้อสรุปในหลักการ และเทคนิคต่างๆ แล้ว โดยสัญญาทั้งหมดจะสิ้นสุดที่ปี 2592 โครงสร้างอัตราค่าโดยสารจะไม่เพิ่มไปจากอัตราเดิมที่เก็บในปัจจุบันของสายเฉลิมรัชมงคล โดยสูงสุดที่ 42 บาท ซึ่งเท่ากับในส่วนต่อขยายจะไม่มีค่าแรกเข้า
โดยเหลือประเด็นที่ยังเจรจาไม่ได้ข้อยุติคือเรื่องส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งเอกชนขอให้แบ่งผลตอบแทนในส่วนของสายเฉลิมรัชมงคลที่ รฟม.จะได้รับตลอดอายุสัญญาถึงปี 2572 ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท มาช่วยอุดหนุนรายได้ในส่วนต่อขยาย ซึ่งขัดกับหลักการเจรจาที่รัฐจะไม่มีการอุดหนุนเพิ่มเติม
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า การเดินรถช่วง 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) ขึ้นกับการเจรจาเดินรถสายสีน้ำเงินจะได้ข้อยุติเมื่อใด จากนั้นจะเร่งการติดตั้งระบบและทดสอบ ภายใน 6-8 เดือนจะเปิดเดินรถได้ แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าการเจรจาจะยุติเมื่อใด ดังนั้นที่ผ่านมา รฟม.ได้หารือกับ BEM เพื่อให้เตรียมการในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ไปพลาง ซึ่งจะทำให้ร่นเวลาเหลือประมาณ 6 เดือน ซึ่งหากเจรจาสีน้ำเงินยุติประมาณเดือน ธ.ค. 59 นี้จะมีขั้นตอนเสนอ สคร.และ ครม.ประมาณต้นปี 60 จะเริ่มงานติดตั้ง 1 สถานีได้ คาดว่าจะเปิดเดินรถได้อย่างเร็วที่สุดหลังจากนั้น 6 เดือน
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน หลังจาก รฟม.ได้ปรับลดอัตราค่าโดยสาร จากเดิม 14-42 บาท เหลือ 14-29 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 59 นั้น ล่าสุดมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยที่ 23,000 คน/วัน เพิ่มขึ้นจากก่อนลดราคาประมาณ 3,000 คน ซึ่งผู้โดยสารค่อยๆ ปรับขึ้นแต่ยังไม่มากนัก ทั้งนี้ รฟม.อยู่ระหว่างพิจารณาทำโปรโมชันทางการตลาด โดยร่วมมือกับพันธมิตรผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ตามแนวเส้นทาง จะเริ่มใช้ประมาณต้นปี 60 เพื่อจูงใจประชาชน
นอกจากนี้ รฟม.ยังอยู่ระหว่างประเมินผู้ใช้บริการเชื่อมต่อช่วง 1 สถานี ในส่วนของรถไฟชานเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระหว่างสถานีบางซ่อน-สถานีบางซื่อ ซึ่งในวันจันทร์-วันศุกร์จะมีผู้ใช้บริการประมาณ 2,000 คัน ส่วนวันเสาร์มีใช้บริการน้อยไม่ถึง 300 คน อาจจะยกเลิกวันเสาร์เหลือเฉพาะจันทร์-ศุกร์ ส่วนรถโดยสารปรับอากาศขององค์การขนส่งมวลชน กรุงเทพ (ขสมก.) จากสถานีเตาปูน-บางซื่อนั้นมีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 12,000 คน/วัน โดยได้มีการสำรวจการใช้บริการแล้ว พบว่าผู้ที่ใช้รถไฟจะเป็นผู้ที่ไม่เร่งรีบมากนัก มีเวลาในการเดินทางมากกว่าผู้ที่เลือกใช้รถ ขสมก. จากสถานีเตาปูน-บางซื่อ ดังนั้นหากมีการยกเลิกบริการรถไฟในวันเสาร์จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยกเลิกในเร็วๆ นี้ ขอประเมินจนมั่นใจก่อนจึงจะดำเนินการ โดย รฟม.มีค่าใช้จ่ายบริการรถเชื่อมต่อ 1 ในส่วนของรถเมล์ และรถไฟ บริการละประมาณ 2 แสนบาท/เดือน