บอร์ด รฟม.เคาะทำสัญญาพิเศษจ้างชั่วคราว BEM ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) เร่งชงคมนาคม-ครม.เห็นชอบ คาดเซ็นสัญญา ก.ย.นี้ เปิดเดินรถแก้รอยต่อ 1 สถานีได้ใน ก.พ.-มี.ค. 60 ขณะที่ชงกรอบเจรจา BEM เดินรถต่อขยาย โดยแก้สัญญาสายเฉลิมรัชมงคลยืดอายุสิ้นสุดปี 85-92 เพื่อรวมงานเดินรถสีน้ำเงินวงกลมตลอดสาย
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มี พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธาน วันที่ 2 ส.ค. มีมติอนุมัติให้ รฟม.จัดจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยใช้วิธีพิเศษตามที่ รฟม.เสนอ เพื่อเร่งงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้าต่างๆ ในช่วง 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) ก่อน โดยจะเสนอกระทรวงคมนาคม และเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาจ้างชั่วคราว BEM ได้ในเดือน ก.ย. 2559 ซึ่งทำให้ BEM สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและระบบไฟฟ้าต่างๆ ได้ทันที โดย รฟม.ได้เคยหารือกับ BEM ให้เร่งรัดการติดตั้งจากเดิม 12 เดือนเป็น 6 เดือน ซึ่งจะทำให้แล้วเสร็จในเดือน ก.พ.-มี.ค. 2560 และจะเร่งเปิดการเดินรถช่วง 1 สถานีทันที
โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 ได้เคยกำหนดกรอบการเจรจาจ้าง BEM เพื่อเดินรถ 1 สถานีแบบชั่วคราวระยะ 2 ปี ไว้แล้ว แต่ ครม.ไม่อนุมัติ โดยได้กำหนดกรอบค่าติดตั้งระบบต่างๆ ไว้ที่ 693 ล้านบาท ซึ่งจะนำตัวเลขมาประเมินเพื่อกำหนดราคากลางอีกครั้งเนื่องจากอาจจะมีบางงานที่ไม่จำเป็นต้องทำอาจทำให้ค่าระบบลดลง ขณะที่คาดว่าการเจรจางานเดินรถส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ตามคำสั่งมาตรา 44 จะแล้วเสร็จและลงนามสัญญาได้ในเดือน ธ.ค. 2559 ซึ่งจะสามารถนำงานเดินรถ 1 สถานีไปรวมกับสัญญาหลักได้ และจะมีการยกเลิกสัญญาชั่วคราวเรื่องการติดตั้งระบบ
“รฟม.พยายามเร่งงานเร็วที่สุด ไม่ใช่ว่ามีคำสั่งมาตรา 44 แล้วไม่เร่ง เพราะคำสั่งก็ชัดเจนว่าเจรจา BEM เดินรถส่วนต่อขยาย ดังนั้นก็เร่ง 1 สถานีก่อน เพียงแต่ต้องเดินตามระเบียบข้อกฎหมาย โดยหลังจากเจรจาสัญญาหลักของสีน้ำเงินจบก็นำการติดตั้งระบบ 1 สถานีไปรวม และยกเลิกสัญญาชั่วคราวนี้ โดยจะต้องมีเงื่อนไขไว้ว่า หากการเจรจาสัญญาหลักล้มเหลวจึงจะจ่ายค่าติดตั้งระบบให้ทาง BEM” นายพีระยุทธกล่าว
สรุปกรอบเจรจา BEM เดินรถต่อขยาย รวมสัญญากับสายเฉลิมรัชมงคล ยืดอายุสิ้นสุดปี 85-92
นอกจากนี้ บอร์ด รฟม.ยังเห็นชอบในหลักการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ตามคำสั่งมาตรา 44 ให้เจรจากับ BEM ซึ่งบอร์ดได้กำหนดเป็นกรอบกว้างๆ โดยให้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้โดยสารที่ใช้บริการในสายเฉลิมรัชมงคลเดิมด้วย ดังนั้น รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล และส่วนต่อขยายจะรวมเป็นสัญญาเดียวกันต้องใช้โครงสร้างอัตราค่าโดยสารเดียวกัน กำหนดค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวในการใช้บริการตลอดสาย ส่วนการกำหนดให้เอกชนแบ่งผลประโยชน์จากค่าโดยสารอย่างเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย และอยู่บนพื้นฐานที่เอกชนได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม โดยต้องแสดงรายละเอียดภาระการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงผลประโยชน์อื่นๆ ที่คาดว่าจะได้รับอย่างครบถ้วนและชัดเจน โดยให้คณะกรรมการมาตรา 43 ของสัญญาสายเฉลิมรัชมงคล และคณะกรรมการมาตรา 35 ของส่วนต่อขยายพิจารณาความเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา รฟม.มีรายงานศึกษา PPP บ้างแล้ว โดยกรณีอายุสัญญาของทั้ง 2 สายจะต้องสอดคล้องกันตามคำสั่งมาตรา 44 เช่น สัญญาสายสีน้ำเงินทั้งเดิมและส่วนต่อขยาย จะสิ้นสุดพร้อมกันที่ปี 2572 (ตามอายุสัมปทานสายเฉลิมรัชมงคล) หรือสิ้นสุดปี 2592 (คิดจากส่วนต่อขยายอายุ 30 ปีที่เริ่มเซ็นสัญญาปี 2562-2592) หรือระหว่างกลางประมาณปี 2582 โดยให้คณะกรรมการร่วม 2 ชุดพิจารณา ซึ่งค่าระบบต่างๆ จะคืนทุนประมาณ 25 ปี
“ตามคำสั่งมาตรา 44 นั้น คณะกรรมการร่วมฯ (กก.มาตรา 43 และ กก.มาตรา 35) จะมีเวลา 2 เดือน โดยเดือนแรกกำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียด กลยุทธ์ในการเจรจา ต้องทำข้อมูลไว้ก่อนเจรจา จากนั้นเดือนที่ 2 จะเจรจากับเอกชนซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกัน ต้องดูหลักการ พันธะข้อสัญญาสายเฉลิมรัชมงคล เงื่อนไขแบ่งปันผลประโยชน์ การเชื่อมต่อขบวนรถไฟฟ้าต่อขยายกับสายเฉลิมรัชมงคลต้องวิ่งร่วมกันได้ ต้องเดินรถต่อเนื่องได้ในกรณีฉุกเฉินต่างๆ รถทั้งหมดต้องวิ่งทดแทนกันได้ ระบบจ่ายไฟฟ้า อุปกรณ์ อาณัติสัญญาณ ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติต้องเชื่อมโยงเดินรถร่วมกันได้ แผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน แผนเดินรถสภาวะปกติ กรณีมีเหตุฉุกเฉิน การเดินรถในศูนย์ซ่อม แผนการซ่อมบำรุง การให้บริการที่สถานี การปฏิบัติการในห้องควบคุมการเดินรถ การจัดการกรณีที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ตารางการเดินรถ การฝึกอบรม การฝึกซ้อม การจัดการต่างๆ การใช้ทรัพย์สินร่วมกัน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งทุกอย่างจะสะท้อนต้นทุน” ผู้ว่าการ รฟม.กล่าว
สำหรับค่าโดยสาร และการแบ่งผลประโยชน์เป็นหัวใจสำคัญ เพราะ รฟม.ได้ลงทุนงานโยธาไปแล้ว คาดหวังผลประโยชน์ที่จะได้กลับมาชดเชย จุดสมดุลจะขึ้นกับประมาณการผู้โดยสารซึ่งมีหลายปัจจัย เช่น โครงข่ายสมบูรณ์จะพร้อมเมื่อใด อัตราค่าโดยสารเท่าไหร่ พร้อมกันนี้จะต้องเร่งรัดเดินรถ 1 สถานีช่วงเตาปูน-บางซื่อเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม หลักการในการกำหนดค่าโดยสารนั้นจะยึดตามกรอบของสายเฉลิมรัชมงคลซึ่งมี 18 สถานี กำหนดสูงสุดที่ 12 สถานี โดยมีค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 16-42 บาท ส่วนต่อขยายที่เป็นอีกครึ่งวงกลมี 14 สถานี (ไม่รวมส่วนหางจากท่าพระ-หลักสอง) โครงสร้างค่าโดยสารเมื่อรวมสายสีน้ำเงินด้วยกัน หลักการจะเหมือนกัน ค่าโดยสารสูงสุดต้องไม่เกินครึ่งหนึ่ง คือ 18+14 สถานี เท่ากับ 32 สถานี หาร 2 เท่ากับ 16 สถานี ดังนั้นจะกำหนดค่าโดยสารสูงสุดที่สถานีที่ 16 เป็นต้น